พ่อตุ๊ต๊ะ: เคยมีคนพูดว่า “สุขภาพดีกับกระเป๋าตุง” คือเรื่องเดียวกัน ได้อย่างไรกันครับ ผมเป็นคนสนใจเรื่องสุขภาพ พอมีครอบครัว สมาชิกเพิ่มขึ้น เลยสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ
อ.วรากรณ์ : การมีสุขภาพดีหมายถึงการไม่เจ็บออดๆ แอดๆ มีโรคนั่นมีโรคนี่โผล่ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ การมีสุขภาพดีบางส่วนมาจากพันธุกรรม แต่ส่วนใหญ่น่าจะมาจากพฤติกรรม ลองจินตนาการดูว่า ถ้ากินหวานสุดๆ มาแต่ยังเด็กๆ แถมชอบอาหารประเภทแป้งและไขมัน เช่น ไอศกรีม ขนมเค้ก จั๊งค์ฟู้ด ข้าวขาหมู (ตรงมีมันมากเป็นพิเศษ) ฯลฯ แต่ไม่ชอบการออกกำลังกายทั้งปวง รวมไปถึงขาดความรู้เรื่องโภชนาการที่ดีอีกด้วย โตขึ้นจะเป็นภาระทางการเงินต่อครอบครัวอย่างไร
การมีสุขภาพดีทำให้ไม่เสียเงินทองเพื่อรักษาความเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือหาแพทย์บ่อยกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อความจริงมีอยู่ว่าเงินที่ไม่ต้องจ่ายออกไปหนึ่งบาทก็คือเงินที่ออมได้หนึ่งบาท ดังนั้นการไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อความป่วยไข้จึงเป็นเงินที่เหลือในมือ
พ่อตุ๊ต๊ะ: ถ้าเช่นนั้นคนมีสุขภาพดี ไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ประหยัดเงินได้ แล้วมันทำให้กระเป๋าตุงได้อย่างไร
อ.วรากรณ์: เมื่อมีสุขภาพดี…
อย่างแรก ก็ไม่เสียเงินรักษาพยาบาลดังกล่าวแล้ว
สอง ทำให้มีช่วงเวลาของการทำงานทำมาหากินยาวขึ้น ไม่ป่วยจนทำงานไม่ได้หรือเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร การมีช่วงเวลาที่ยาวเช่นนี้ก็ช่วยทำให้ “กระเป๋าตุง” มากขึ้น
สาม ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามวันดีสี่วันไข้ จนทำมาหากินไม่สะดวกและทำงานหนักก็ไม่ได้จนเสียโอกาสในการหารายได้
และสี่ การดูแลสุขภาพดีของพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่สำคัญแก่ลูก
อันลูกนั้นโดยทั่วไปมักเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่โดยไม่รู้ตัว การซึมซับรับตัวอย่างที่ดีในการดูแลสุขภาพจะทำให้ลูกมีคุณภาพร่างกายและคุณภาพชีวิตที่ดีและถือเป็นรากฐานที่ดีของลูกหลานในชั่วคนต่อๆ ไปด้วย
การสอนให้ลูกเรียนรู้มีค่านิยมรักษาสุขภาพจึงเท่ากับว่าพ่อแม่ได้มอบสมบัติที่มีค่าให้ลูกติดตัวตลอดไป สถานการณ์ทั้งหมดนี้จะช่วยทำให้ครอบครัวมีสุขภาพดี “กระเป๋าตุง” เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีตรงกันข้าม
พ่อตุ๊ต๊ะ: ในฐานะหัวหน้าครอบครัว ผมควรทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ลูกไม่เป็นภาระทางการเงินแก่คุณพ่อคุณแม่และช่วยให้ครอบครัว “กระเป๋าตุง” จากการมีสุขภาพดี โดยไม่แนะนำให้ผมซื้อประกันสุขภาพครับ
อ.วรากรณ์: ต้องยอมรับว่าเด็กจะมีสุขภาพดีนั้นไม่ใช่เพราะความบังเอิญ หากเพราะ…
(1) พ่อแม่นำพาให้ลูกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้มากเป็นพิเศษ พร้อมกับอาหารครบหมู่ ไม่ชี้นำให้ลูกกินอาหารหวานอุดมด้วยโปรตีนและไขมันมากเกินไป
(2) พ่อแม่สร้างวินัยในการบริโภคให้แก่ลูกโดยไม่ปล่อยให้กินตามใจปาก อย่าวางใจปล่อยให้ครูเป็นผู้สอนแต่เพียงฝ่ายเดียว
(3) พ่อแม่ควรอธิบายให้เห็นความเชื่อมต่อของการกินอาหารผิดโภชนาการและผลที่เกิดตามมา (“you are what you eat”)
ทั้งสามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคปัจจุบัน แต่ถ้ามันเป็นเรื่องง่ายๆ ฟ้าดินเขาก็คงจะไม่ปล่อยให้ท่านสองคนเป็นผู้ร่วมนำเขาเข้ามาในโลกหรอก
Life Quote!
“สุขภาพดีทำให้มีช่วงชีวิตที่ยาวขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการทำมาหากิน ตลอดจนไม่เสียเงินเกินควรกับการรักษาพยาบาล ดังนั้น ‘สุขภาพดี’ และ ‘กระเป๋าตุง’ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน”
Money Tip!
“ความจริงมีอยู่ว่าเงินที่ไม่ต้องจ่ายออกไปหนึ่งบาทก็คือเงินที่ออมได้หนึ่งบาท ดังนั้นการไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อความป่วยไข้จึงเป็นเงินที่เหลือในมือ”
บทความโดย: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้เท่าทันเงินทองและคุณปู่ของหลานสาวคนเดียว
ภาพ: shutterstock