คุณแม่สุขสันต์ : ทำไมบางบ้านเขาอยู่กันอย่างมีความสุข แต่บางบ้านมีแต่ปัญหาคะ
อ.วรากรณ์ : มีหนังสือคลาสสิคอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อ Anna Karenina (1873) เขียนโดย Leo Tolstoy บรรทัด
แรกกล่าวว่าทุกครอบครัวที่มีความสุข มีอะไรคล้ายกัน ส่วนแต่ละครอบครัวที่ไม่มีความสุข ก็ไม่มีความสุขในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป พูดง่าย ๆ ก็คือครอบครัวที่มีความสุขมีปัจจัยบางอย่างร่วมกันในเรื่องนี้บ้านที่มีความสุขมีสามประเด็นที่ควรกล่าวถึง คือ
(1) เงินทอง มิได้มีบทบาทสำคัญมากในการทำให้ครอบครัวใดมีสุขหรือทุกข์ ครอบครัวที่มีเงินทองมากมิได้มีความสุขเสมอไป ในทางตรงกันข้ามครอบครัวที่มีเงินน้อยแต่มีความสุขก็เห็นถมไป
(2) การมุ่งมั่น ตั้งแต่เริ่มชีวิตคู่ของพ่อแม่ที่จะมีความสุขร่วมกันเป็นปัจจัยสำคัญ ครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่มีหลักคิดร่วมกันในการที่จะสร้างบ้านแห่งความสุขให้ สมาชิกก็จะเกิด “บ้านนี้อยู่แล้วสุข” ขึ้นได้
(3) ความขยันหมั่นเพียร ทำงานหนักของครอบครัว ช่วยให้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งแห่งการมี “บ้านนี้อยู่แล้วสุข” แต่เรื่องฐานะมิใช่ปัจจัยเดียวดังกล่าวแล้ว
คุณแม่สุขสันต์ : โชคลาภ ดวงชะตา มีบทบาทหรือไม่คะ ในการที่จะมี “บ้านที่เป็นสุข”
อ.วรากรณ์ : แล้วแต่จะคิดกันไปครับ หลายคนเชื่อว่าสองมือของสองคนรวมกันเป็นสี่มือคือหัวใจสำคัญที่สุด ตัวเองกำหนดโชคชะตามิใช่ฟ้าดิน หรือฮวงจุ้ย หรือการดูฤกษ์วันแต่งงาน หรือฤกษ์ย้ายเข้าบ้าน คนเหล่านี้เชื่อว่าหากจะมีเคราะห์ร้ายเกิดขึ้น เช่น อุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย ฯลฯ ก็เป็นเรื่องของสถิติที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วในคนจำนวนมากเป็นธรรมดา คนอีกจำนวนหนึ่งเชื่อตรงกันข้าม พยายามหาป้ายเสกมนต์และเขียนว่า “บ้านนี้อยู่แล้วรวย” “บ้านนี้อยู่แล้วสุข” มาติด มียันต์ลงประตูบ้านมีหมอมาดูฮวงจุ้ยหน้าต่างทิศทางลม เป็นไปตามหลักโหราศาสตร์ เราก็ไม่ว่ากันเพื่อความสบายใจของแต่ละครอบครัว สำหรับส่วนตัวแล้วคิดว่าต่อให้กระทำในย่อหน้าข้างบนครบถ้วน แต่ถ้าทั้งพ่อแม่ไม่อยู่ในศีลในธรรม ไม่ได้นึกถึงหน้าที่ในการสร้างครอบครัวที่เป็นสุขเพื่อให้ลูกมีพื้นฐานทางจิตใจที่มั่นคง และมีความทรงจำที่ดีแล้ว สิ่งเหล่านี้จะไม่มีความหมายเลย
คุณแม่สุขสันต์ : แล้วความสุขจริง ๆ ในบ้านคืออะไรคะ
อ.วรากรณ์ : ท่านติช นัท ฮันห์ (Thích Nhất Hạnh) ได้กล่าวว่าความเป็นปกติคือยอดแห่งความสุข เช่น เวลาที่ไม่มีใครเจ็บป่วยในบ้าน ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่มีปัญหาเรื่องเงินทอง ฯลฯ อยู่กันอย่างเป็นปกติ เรามักลืมไปว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่า แต่เมื่อปัญหาเหล่านี้ประดังเข้ามาในชีวิตแล้ว เราจึงรู้ว่า “ความเป็นปกติ” นั้นเป็น ความสุขสงบที่มีค่าอย่างยิ่งองค์ประกอบของความสุขในบ้านได้แก่
ประการแรก “ความเป็นปกติของบ้าน” เป็นความสุขแรกที่สำคัญอย่างยิ่ง
ประการที่สอง ความสุขสงบจิตใจ เมื่อเหยียบเข้าไปในบ้าน ไม่ได้ยินเสียงทะเลาะเบาะแว้งและเสียงบ่นก่นว่า ได้ยินแต่เสียงดนตรีในหู พบแต่เสียงหัวเราะสนุกสนาน และรู้สึกว่าไม่อยากออกจากบ้าน
ประการที่สาม ความรักความอ่อนโยน และความห่วงหาอาทรระหว่างกันของคนในบ้านรวมไปหมดแม้แต่ผู้ช่วยแม่บ้านด้วย ทำให้มีความสุขสงบ และแต่ละคนรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความหวัง
ทั้งสามประการนี้พ่อแม่เป็นผู้นำและทุกคนในบ้านต้องร่วมกันรับผิดชอบในการสร้างสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ สำหรับสิ่งที่ควบคุมไมได้เช่นความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ การสูญเสีย ฯลฯ ก็ต้องยอมรับ และปรับตนเองให้สอดคล้องกับสิ่งไม่เป็นปกติที่เกิดขึ้นนั้น
ตราบที่เราคิดว่าความไม่เป็นปกติที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ ประสบด้วยกันทั้งสิ้น จิตใจก็จะสงบยอมรับความจริง โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่มีมานับแสนปี
|
“บ้านนี้อยู่แล้วสุข” เกิดขึ้นได้โดยน้ำมือมนุษย์ มิได้เกิดขึ้นเพราะโชคชะตา หรือความโชคดี ทุกบ้านสามารถทำให้เกิดขึ้นได้เพราะมีปัจจัยหลักร่วมกันในทุกชาติ ทุกภาษา ตลอดมาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
เรื่อง : รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้เท่าทันเงินทองและคุณปู่ของหลานสองคน
ภาพ : ชาญศิลป์ กิตติโชติพาณิชย์