แม่เฮ! รับ 1,400 ทุกเดือน เงินอุดหนุน-เงินสงเคราะห์บุตร - Amarin Baby & Kids
เงินสงเคราะห์บุตร

แม่เฮ! รับ 1,400 ทุกเดือน เงินอุดหนุน-เงินสงเคราะห์บุตร

Alternative Textaccount_circle
event
เงินสงเคราะห์บุตร
เงินสงเคราะห์บุตร

รู้หรือไม่? ว่ามีลูก 1 คน สามารถลงทะเบียนเพื่อรับเงินได้ 2 เด้ง ทั้ง เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท + เงินสงเคราะห์บุตร 800 บาท รวม 1,400 บาท ทุกเดือน!!

แม่เฮ! รับ 1,400 ทุกเดือน เงินอุดหนุน – เงินสงเคราะห์บุตร

ตามมาตรการการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างทั่วถึงของทางภาครัฐ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตั้งท้อง ก็สามารถนำเงินค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรไปลดหย่อนภาษี (อ่านต่อ แม่ต้องรู้! ลดหย่อนภาษี ฝากครรภ์-คลอดบุตร ได้เท่าไหร่?) และยังสามารถรับเงินค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมได้อีกแล้ว (อ่านต่อ สิทธิประกันสังคม กรณีคลอดบุตร ทั้งหมดที่แม่ท้องควรรู้!) เมื่อลูกคลอดออกมา คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถรับ เงินอุดหนุนบุตร และ เงินสงเคราะห์บุตร เพื่อนำไปช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรได้อีกด้วย โดยหากลงทะเบียนผ่านเกณฑ์การรับ เงินอุดหนุนบุตร คุณแม่จะได้รับเงินอุดหนุนบุตรทุกเดือน เดือนละ 600 บาท และหากคุณแม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 คุณแม่จะได้รับ เงินสงเคราะห์บุตรทุกเดือน เดือนละ 800 บาท รวมแล้ว จะได้รับเงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรถึงเดือนละ 1,400 บาทกันเลยทีเดียว เช่นนี้แล้ว มาดูกันดีกว่าค่ะว่าเงื่อนไขและวิธีการลงทะเบียนเพื่อรับเงินอุดหนุน – เงินสงเคราะห์บุตร มีอะไรบ้าง?

เงินอุดหนุนบุตร เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนบุตร

เด็กแรกเกิดที่มีสิทธิ

  • มีสัญชาติไทย (พ่อแม่มีสัญชาติไทย หรือพ่อหรือแม่มีสัญชาติไทย)
  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
  • อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
  • ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน

ผู้ปกครองที่มีสิทธิลงทะเบียน

  • มีสัญชาติไทย
  • เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในความอุปการะ
  • เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
  • อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ สมาชิกครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี

* หมายเหตุ มารดาที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ยังไม่ต้องมายื่นคําร้องขอลงทะเบียนขอรับสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

สถานที่รับลงทะเบียน

สามารถลงทะเบียนได้ในพื้นที่ที่เด็กแรกเกิด และผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง ดังนี้

  • กรุงเทพมหานคร : ลงทะเบียนที่สํานักงานเขต
  • เมืองพัทยา : ลงทะเบียนที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
  • ส่วนภูมิภาค : ลงทะเบียนที่องค์การบริหารส่วนตําบล หรือเทศบาล

เอกสารประกอบการลงทะเบียน ประกอบด้วย

  • แบบคําร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
  • แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
  • บัตรประจําตัวประชาชนของผู้ปกครอง
  • สูติบัตรเด็กแรกเกิด
  • สมุดบัญชีเงินฝากของผู้ปกครอง (บัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกธนาคารออมสิน หรือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น)
  • สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เฉพาะหน้าที่ 1 ที่มีชื่อของหญิงตั้งครรภ์
    (ในกรณีที่สมุดสูญหายให้ใช้เฉพาะสําเนาหน้าที่ 1 พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบันทึกข้อมูลและรับรองสําเนา)
  • กรณีที่ผู้ยื่นคําร้องขอลงทะเบียนและสมาชิกในครัวเรือนของผู้ยื่นคําร้องขอลงทะเบียน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท ต้องมีเอกสาร ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของทุกคนที่มีรายได้ประจํา (สลิปเงินเดือน หรือเอกสารหลักฐานที่นายจ้างลงนาม)
  • สําเนาเอกสาร หรือบัตรข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตําแหน่ง หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงตนของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2

ขั้นตอนการลงทะเบียน

เงินสงเคราะห์บุตร
เงินอุดหนุนบุตร
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการลงทะเบียน ได้ที่นี่
  1.  แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
  2. แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
  3.  แบบคำร้องขอรับสิทธิอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กรณีไม่มีผู้รับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.03)
  4.  ประกาศองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรื่องรายชื่อผู้ขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (สำหรับเจ้าหน้าที่) (แบบดร.04)
  5.  บัญชีแนบท้ายประกาศองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สำหรับเจ้าหน้าที่)
  6.  แบบคำร้องขอคัดค้าน (แบบดร.05)
  7.  แบบคำร้องขอเปลี่ยนแปลงสิทธิผู้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (แบบดร.06)
  8.  หนังสือขอส่งข้อมูลเด็กแรกเกิดตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (สำหรับเจ้าหน้าที่) (แบบดร.07)
  9.  แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02 ส่วนที่ 1) สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ต้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม 
  10. แบบหนังสือสละสิทธิการรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

เงินอุดหนุนบุตรได้เมื่อไหร่?

เมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว ธนาคารจะโอนเงินเข้าบัญชี ผู้มีสิทธิในทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน โดยจะได้รับเงินอุดหนุนบุตรย้อนหลังจนถึงเดือนที่ยื่นขอรับสิทธิ โดยคุณแม่สามารถดูปฏิทินการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ดังนี้

เงินอุดหนุนบุตรได้เมื่อไหร่
เงินอุดหนุนบุตรได้เมื่อไหร่

เงินสงเคราะห์บุตร สำหรับผู้ประกันตน

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 เมื่อใกล้คลอด ก็จะมีสิทธิ์ที่จะขอรับเงินค่าคลอดบุตร และเมื่อคลอดแล้ว คุณแม่ต้องอย่าลืมไปลงทะเบียนเพื่อขอรับ เงินสงเคราะห์บุตร โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้จ่ายเงินสงเคราะห์บุตรให้กับ ผู้ประกันตนที่มีบุตรอายุตั้งแต่แรกเกิด-6 ปี ครั้งละไม่เกิน 3 คน

โดยก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศกฎกระทรวง การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป เรื่องเห็นเป็นการสมควรเพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรในอัตราที่สูงขึ้น อันเป็นการบรรเทาภาระของผู้ประกันตนและให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน จึงได้ปรับเพิ่มจำนวนเงินสงเคราะห์บุตรจากเดือนละ 600 บาท เป็น เดือนละ 800 บาท มาดูรายละเอียดกันดีกว่าค่ะ ว่ามีเงื่อนไขและขั้นตอนการขอรับรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรอย่างไรบ้าง?

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้มีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์บุตร

  • ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน
  • ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
  • อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

การหมดสิทธิรับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร

  • เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
  • บุตรเสียชีวิต
  • ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
  • ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)
  • สำหรับผู้ประกันตนที่เคยยื่นใช้สิทธิแล้วและประสงค์จะใช้สิทธิสำหรับบุตรคนเดิม ให้ใช้หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน จำนวน 1 ฉบับ
  • กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ
    • สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) จำนวน 1 ชุด
  • กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ
    • สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่าพร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตนหรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 1 ชุด
    • สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วยจำนวน 1 ชุด)
  • ในกรณีเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลด้วย จำนวน 1 ชุด
  • กรณีผู้ประกันตนต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทนให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคมและสำเนาหนังสือเดือนทาง (passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ จำนวน 1ชุด
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ จำนวน 1 ฉบับ ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน ดังนี้
    • ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
    • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)
    • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
    • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)
    • ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)
    • ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
    • ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน)
  • เอกสารประกอบการยื่นคำขอฯ ที่เป็นสำเนาให้รับรองความถูกต้องของสำเนาทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ กรณีเอกสารหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน
เงินสงเคราะห์บุตร
เงินสงเคราะห์บุตร

ขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน

  1. ผู้ประกันตนต้องกรอกแบบ สปส.2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน (กรณีผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตร 3 คน ในคราวเดียวกันสามารถใช้แบบคำขอฯ ชุดเดียวกันได้)
  2. เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ
  3. สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
  4. พิจารณาสั่งจ่าย จ่ายเป็นรายเดือนโดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน

ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง จังหวัด,สาขา ที่ท่านสะดวก หรือโทร 1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

แจ้งเกิดลูก ไม่มีพ่อ ไม่ระบุชื่อพ่อได้ไหม? อนาคตจะมีปัญหาหรือไม่?

แก้ไขใบสูติบัตร ถอนชื่อพ่อออกจากใบเกิด ทำได้ไหม?

เงินอุดหนุนบุตร 2564 ลงทะเบียนยังไง ใช้เอกสารอะไร ไปที่ไหน เงินเข้าเมื่อไหร่ เช็กเลย!

เตรียมให้พร้อม! จดทะเบียนสมรสใช้เอกสารอะไรบ้าง 2564

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม, โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up