คุณแม่แก้มแดง : อยากได้วิธีหรือคำแนะนำ ชวนลูกเก็บเงินแบบระยะสั้น ระยะยาว แบบที่เด็กๆ จะพอนึกภาพออกค่ะ
อ.วรากรณ์ : คุณพ่อคุณแม่อยากชวนลูกเก็บเงิน ซึ่งควรเริ่มเมื่อลูกอายุประมาณ 5-6 ขวบนั้น ควรให้ลูกเข้าใจบางเรื่องเกี่ยวกับเงินทองสัก 3 ประการครับ
(1) พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเกิดความรู้สึกมั่นคงในชีวิตแม้ว่าจะมีน้อยก็ตาม
ในวัยนี้เด็กจะเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างฐานะของครอบครัว บางครอบครัวมีสิ่งที่ครอบครัวตนไม่มี พ่อแม่ควรมีวิธีบอกลูก เช่น ”ลูกไม่ต้องห่วงกังวล เรามีเพียงพอสำหรับครอบครัวของเรา การที่คนอื่นมีมากกว่าเรานั้น มันเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นสำหรับการครองชีวิตปกติ”
พ่อแม่ต้องไม่พูดในลักษณะที่บั่นทอนอย่างไม่ตั้งใจจนทำให้ลูกเกิดความกังวลใจ ขาดความมั่นคง และขาดความมั่นใจในชีวิต ควรพูดอย่างสร้างสรรค์ เช่น “วันนี้ครอบครัวเราอาจไม่มีมาก ๆ อย่างนั้น แต่ถ้าเรารักกัน พยายามเข้าใจกัน เชื่อฟังพ่อแม่ ขยันเรียนหนังสือแล้ว วันหนึ่งก็จะมีมากอย่างนั้น และอาจมีมากกว่านั้นด้วย” อย่าลืมว่าอารมณ์ขันและการพูดแบบสนุกสนานจะทำให้ลูกมีกำลังใจ
พ่อแม่ที่ปรับทุกข์ บอกถึงความขัดสน ความคับแค้นของครอบครัว ทุกวันทุกคืนเปรียบเสมือนเอายาพิษใส่ลงไปในบ่อน้ำให้ลูกกินทุกวัน
(2) เงินที่นำมาจับจ่ายใช้สอยซื้อของที่ครอบครัวเราต้องการนั้นมาจากการทำงานเสมอ
มันไม่ได้มาจากโชคลาภ ถูกหวย คนให้ สวรรค์ส่งลงมาหรือเงินงอกบนต้นไม้
การย้ำเรื่องเงินมาจากการทำงานสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์และคุณค่า เช่น พ่อไปทำงานช่วยผลิตของให้คนใช้ และพ่อได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว จะเพาะหว่านศรัทธาในความจริงของชีวิตว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เงินหาได้จากการทำงาน จะได้เงินมากก็มาจากงานที่ดี และงานที่ดีมาจากความขยันหมั่นเพียรและการศึกษา
แต่ทั้งนี้การทำงานมีหลายลักษณะ ถ้าพ่อแม่ทำงานอิสระเวลาไม่ประจำตายตัว จึงแตกต่างจากคนอื่น อันนี้ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วย ซึ่งการทำธุรกิจหรือการทำงานอิสระก็เป็นการทำงานอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน
การเล่นหุ้น แท้จริงแล้วไม่ใช่การ ‘เล่น’ แต่เป็นการทำงานอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือ เอาเงินออมที่ครอบครัวมีนไปลงทุนเพื่อให้ผลประโยชน์ตอบแทน
การลงทุนอย่างนี้ คือการเข้าไปร่วมลงทุนประกอบธุรกิจกับคนอื่นด้วยการซื้อหุ้น ซึ่งถ้าเป็นไปด้วยดีแล้วก็ได้กำไรเป็นผลตอบแทน งานของพ่อแม่คือ ตัดสินใจร่วมลงทุนหรือถอนการลงทุน (หากขาดทุนแล้วดูไม่มีอนาคต) ในบริษัทเหล่านี้
พ่อแม่ต้องสนใจติดตามข่าวสารใกล้ชิด เพื่อตัดสินใจได้ถูกว่าควรจะลงทุนเพิ่มหรือลดการลงทุน หรือถอนการลงทุนทั้งหมด แล้วย้ายไปลงทุนในบริษัทอื่น การกระทำของพ่อแม่ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการทำงานประจำซึ่งได้ค่าจ้างทุกเดือน ส่วนพ่อแม่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุน
ประเด็นสำคัญที่ควรเน้นให้ลูกเข้าใจคือ การทำงานนั้นมีหลายลักษณะแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่เหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจคือ การทำงานหนักโดยเน้นความซื่อสัตย์สุจริตในการทำงานเป็นที่ตั้งเสมอ
(3) การได้เงินมาจากการทำงานนั้นสำคัญ แต่การใช้จ่ายก็สำคัญเช่นเดียวกัน
ครอบครัวที่หาเงินได้มากและใช้จ่ายมากก็จะไม่มีเงินเหลือสำหรับใช้จ่ายในวันข้างหน้าหรือเอาไปลงทุน
เรื่องการปลูกข้าวเป็นตัวอย่างที่ดี การปลูกข้าวคือการทำงาน เมื่อได้ผลผลิตมาถ้ากินหมดไปมากก็เหลือสำหรับเอาไว้ทำพันธุ์น้อย ผลผลิตในปีต่อๆ ไปก็มีน้อย ถ้ากินน้อยเหลือมากก็เหลือไปทำพันธุ์ได้มากและมีผลผลิตยิ่งมากขึ้น
ถ้าลูกคุณเข้าใจ 3 ข้อที่ว่ามา เรื่องการให้ลูกเก็บเงินระยะสั้น ระยะยาว ก็ตามมาไม่ยากแล้วครับ
บทความโดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ