เอกสารแจ้งเกิด สำหรับลูกตัวน้อย เรื่องใกล้ตัวคุณแม่ แต่หากไม่เตรียมตัวให้ดีอาจฉุกละหุกจนเกิดปัญหาได้ มาดูเอกสารสำคัญใช้อะไรบ้างและกรณีพิเศษต้องทำอย่างไร
เอกสารแจ้งเกิด แจ้งช้า คลอดที่บ้าน ลูกครึ่งต้องใช้อะไรบ้าง??
แม้ว่าในปัจจุบันจะเป็นยุคดิจิตอล อะไรต่อมิอะไรก็อยู่บนโลกออนไลน์กันเสียหมดแล้ว แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ในบ้าน ทราบหรือไม่ว่า การแจ้งเกิดลูกน้อย นั้นต้องใช้เป็นเอกสารในการแจ้งเกิด เพื่อไม่ให้คุณพ่อคุณแม่ต้องพกแฟ้มใส่เอกสารกันเสียใหญ่โต มาดูกันว่า การแจ้งเกิดนั้นต้องใช้ เอกสารแจ้งเกิด อะไรบ้าง มีเงื่อนไข ขั้นตอนการแจ้งอย่างไร และสำหรับกรณีเงื่อนไขพิเศษ ที่ลูกไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาล จะมีขั้นตอนยุ่งยากกว่าเดิมไหม ตามมาเดี๋ยว ทีมแม่ ABK จะเล่าให้ฟัง
สูติบัตร ไม่ใช่ สูจิบัตร!!
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้พบหน้ากับสมาชิกใหม่ของครอบครัว ที่ได้เฝ้ารอคอยกันมา 9 เดือนแล้ว สิ่งต่อไปที่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้แก่ทารกแรกเกิด คือ การแจ้งเกิด
เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ ผู้ที่มีหน้าที่ต้องแจ้งเกิดให้ถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้นเจ้าหน้าที่จะออกใบสูติบัตรให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ในการพิสูจน์ทราบตัวบุคคล และใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเรื่องสิทธิต่าง ๆ หากผู้ที่มีหน้าที่ไม่แจ้งการเกิด ต้องมีคตวามผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ดังนั้นเอกสารสำคัญที่เราจะได้รับจากการแจ้งเกิดให้กับลูกนั้น เรียกว่า สูติบัตร ซึ่งใครหลาย ๆ คนอาจเกิดความสับสนกับคำว่า สูจิบัตร แม้ว่าจะมีคำคล้ายกัน แต่มีความแตกต่างกันตามความหมาย ดังนี้
สูจิบัตร (สู-จิ-บัด) สูจิ ที่แปลว่า รายการ สารบัญ เป็นเอกสารที่มีลักษณะเฉพาะ เป็นเอกสารแจ้งรายการแสดงมหรสพ ว่าในการแสดงนั้นมีลำดับการแสดงอย่างไร มีผู้แสดง หรือสิ่งที่จะแสดงอะไรบ้าง อาจมีเรื่องราวประกอบให้เข้าใจการแสดงนั้น ๆ เช่น สูจิบัตรการแสดงมหกรรมการดนตรี เป็นต้น
สูติบัตร (สู-ติ-บัตร) สูติ ที่แปลว่า การเกิด การกำเนิด การคลอดบุตร เป็นเอกสารที่รับรองการเกิดของบุคคล แสดงสัญชาติ วันเดือนปี เวลาที่เกิด สถานที่เกิด เพศ และชื่อบิดามารดาของบุคคลนั้น
จากเว็บไซต์ราชบัณฑิตยสถาน (งานสารบรรณ/admin 1.3)
ผู้แจ้งเกิด และ ผู้รับแจ้งเกิด
อาจเข้าใจกันไปว่าผู้แจ้งเกิด ก็ต้องเป็นบิดามารดาของเด็กเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว ผู้แจ้งเกิดไม่จำเป็นต้องเป็นบิดามารดาเท่านั้น สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นแจ้งเกิดให้ได้ด้วยเช่นกัน เช่น เจ้าบ้าน หรือบุคคลที่ใกล้ชิด เป็นต้น โดยผู้ที่จะทำหน้าที่แจ้งเกิดจะมีหน้าที่ต่อการแจ้งเกิดกับผู้รับแจ้งเกิดตามแต่ละท้องที่เกิด ดังนี้
เกิดในบ้าน
เมื่อมีคนเกิดในบ้านให้เจ้าบ้าน หรือบิดา หรือมารดา หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งท้องที่ที่เกิดภายใน 15 วัน
เกิดนอกบ้าน
การเกิดนอกบ้าน เช่น โรงพยาบาล บนรถ เป็นต้น ผู้ที่แจ้งเกิด คือ บิดา หรือมารดา หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผุ้แจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่เกิด หรือท้องที่ที่พึ่งแจ้งได้ใน 15 วันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด เช่น ในเขตทุรกันดาร ให้แจ้งภายหลังได้ แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน
ผู้มีหน้าที่รับแจ้งการเกิด และสถานที่รับแจ้งเกิด
- กรณีเด็กเกิดในกรุงเทพมหานคร ให้ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนท้องถิ่น ณ สำนักงานเขตในพื้นที่ที่เด็กเกิด
- กรณีเด็กเกิดในต่างจังหวัด ให้ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนท้องถิ่น ณ สำนักงานเทศบาล อำเภอในพื้นที่ที่เด็กเกิด
- กรณีเด็กเกิดนอกเขตเทศบาล ณ ท้องที่ใดให้ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดแจ้งต่อนายทะเบียน ผู้รับแจ้งคือ กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้น
หรือ ปลัดอำเภอ หรือผู้ช่วยนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือ กิ่งอำเภอนั้น - กรณีเด็กเกิดต่างประเทศ ให้แจ้งกับทางสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุล
จัดกระเป๋าเตรียมคลอด อย่าลืม เอกสารแจ้งเกิด นะ!!
ในปัจจุบันผู้คนส่วนมากมักทำการคลอดที่โรงพยาบาล เพราะนอกจากการคลอดแล้ว คุณแม่ยังจำเป็นต้องได้รับการฝากครรภ์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการตั้งครรภ์ ดังนั้น โรงพยาบาลจึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการคลอดแล้ว เมื่อคุณแม่ทราบกำหนดคลอด กระเป๋าเตรียมคลอดเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมจัดไว้ เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพราะแม้ว่าเราจะได้รับกำหนดคลอดแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดว่าจะเกิดอาการคลอดเมื่อไหร่ การเตรียมจัดกระเป๋าไว้ล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งที่ดี เตรียมพร้อมไว้ดีกว่า
กระเป๋าเตรียมคลอด นอกจากจะมีข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการใช้ที่โรงพยาบาล ทั้งของคุณแม่และลูกน้อยแล้ว สิ่งที่ควรมีในกระเป๋าเตรียมคลอดที่สำคัญไม่แพ้กันเลย คือ เอกสารแจ้งเกิด เพราะทางโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะทำการแจ้งเกิดให้เพื่ออำนวยความสะดวก
4 เอกสารแจ้งเกิด
บิดา มารดา หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย แจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่เด็กเกิด โดยมีเอกสาร 4 ฉบับที่ต้องใช้ในการแจ้งเกิด ดังต่อไปนี้
- บัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดา
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งเกิด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย (ในข้อนี้ทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้จัดการ)
- หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. 1/1 ) ออกโดยสถานพยาบาล (ในข้อนี้ทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้จัดการ)
- เอกสารแจ้งเกิดเข้าทะเบียนบ้าน ใช้สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าของบ้าน) ที่ต้องการย้ายชื่อเด็กเข้า
กรณีที่เด็กเกิดที่โรงพยาบาล
คุณพ่อคุณแม่ควรสอบถามกับทางโรงพยาบาลที่ไปทำคลอดว่า มีการอำนวยความสะดวกให้ในเรื่องนี้หรือไม่ หากมีต้องเตรียมเอกสารเพียงแค่ในข้อที่ 1 และ 4
กรณีแจ้งเกิดเกินกำหนด
หากคุณพ่อคุณแม่ทำการแจ้งเกิดเอง อาจจะทำด้วยตัวเองหรือมอบหมายบุคคลอื่นให้แจ้งเกิด แต่ระยะเวลาในการแจ้งนั้นเกินที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ต้องใช้เอกสาร ดังต่อไปนี้
- เอกสารตามข้อ 1-4 ตามข้อมูลข้างต้น
- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของพยานที่ให้การรับรอง พยานต้องมีภูมิลำเนาตามที่อยู่ที่ติดต่อได้ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นข้าราชการสัญญาบัตร 2 คน
- ภาพถ่ายเด็ก 1 รูป หากเด็กมีอายุเกิน 7 ปี
ข้อควรรู้ก่อนการแจ้งเกิดเกินกำหนด : หากแจ้งเกิดเกินกำหนดภายหลัง 15 วันหลังจากเด็กเกิด จะมีโทษปรับ 1,000 บาท และต้องใช้เอกสารรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล รวมถึงต้องนำพยานบุคคลมาให้ถ้อยคำประกอบ ซึ่งก็คือผู้ทำคลอด หรือผู้ที่เห็นการเกิด ที่มีฐานะมั่นคง มีภูมิลำเนาในท้องที่ที่ติดต่อไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นข้าราชการสัญญาบัตรอย่างน้อย 2 คน มายื่นต่อนายทะเบียนในท้องที่ที่เด็กเกิด
กรณีเด็กเป็นลูกครึ่ง
หากคุณพ่อคุณแม่คนใดคนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ คงเกิดข้อสงสัยว่า การแจ้งเกิดให้แก่ลูกนั้น จะใช้ เอกสารแจ้งเกิด แบบเดียวกันหรือไม่ ซึ่งหากเป็นในกรณีนี้สามารถแยกออกเป็นสองกรณี คือ
กรณีที่ 1 เด็กเกิดในราชอาณาจักรไทย
ใช้เอกสารข้อ 1 ถึงข้อ 4 ตามข้อมูลข้างต้น เด็กจะได้สัญชาติไทย ก็ต่อเมื่อ
- พ่อหรือแม่มีสัญชาติไทย และได้จดทะเบียนสมรสกัน
- แม่มีสัญชาติไทย จดหรือไม่ได้จดทะเบียนสมรส
- พ่อมีสัญชาติไทย แม่ถือสัญชาติอื่น และจดทะเบียนสมรส
กรณี 2 แจ้งเกิดเด็กลูกครึ่ง เกิดนอกราชอาณาจักรเข้าทะเบียนบ้านไทย
หากเด็กเกิดนอกราชอาณาจักรไทย และแจ้งเกิดรับสูติบัตรจากสถานกงสุลมาเรียบร้อยแล้ว หากต้องการเพิ่มชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้านไทย ใช้เอกสารข้อ 1-4 ตามข้อมูลข้างต้น โดยเพิ่มเอกสารสูติบัตรที่ออกโดยนายทะเบียนสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงศุล หากเด็กเกิดที่ต่างประเทศ ต้องมีหนังสือเดินทางไทยที่ใช้เดินทางเข้าประเทศไทยด้วย
ขั้นตอนการแจ้งเกิด
- ยื่นเอกสารต่อนายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิด
- นายทะเบียนตรวจสอบเอกสารและหลักฐาน
- นายทะเบียนลงรายการในสูติบัตร เพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
- มอบสูติบัตรตอนที่ 1 และสำเนาทะเบียนบ้านคืนแก่ผู้แจ้ง
รู้แบบนี้กันแล้ว คุณพ่อคุณแม่คงสบายใจกันมากขึ้นแล้วใช่ไหม กับการแจ้งเกิดลูกน้อย ที่ถึงแม้ว่าจะมีขั้นตอน เอกสารมากมาย แต่หากรู้ก่อนความยุ่งยากต่าง ๆ นานาก็น้อยลงไปไม่ใช่น้อย เราจะได้มีเวลามาทุ่มเทกับเจ้าตัวน้อยของเรากัน เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุข และที่สำคัญไม่เสียสิทธิที่ควรได้รับ จากการได้เป็นพลเมืองไทยอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.dopa.go.th/consular.mfa.go.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แจ้งเกิดลูก ไม่มีพ่อ ไม่ระบุชื่อพ่อได้ไหม? อนาคตจะมีปัญหาหรือไม่?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่