ไทยมี ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เหมือนที่ชัชชาติพาลูกรักษา
คู่พ่อลูกสุดน่ารักตอนนี้ไม่มีใครเกินคู่ของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติและน้องแสนดี- แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ที่เมื่อคุณพ่อผู้ว่าฯ ลางานไปงานรับปริญญาแล้วไลฟ์กลับมา คนก็ติดตามดูถล่มทลายทุกคลิป โดยในคลิปหนึ่งคุณชัชชาติได้ จับภาพไปที่ประสาทหูเทียม ซึ่งน้องแสนดีได้ ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เพื่อช่วยในการฟังเมื่อตอนอายุประมาณ 2 – 3 ขวบ เทคโนโลยีนี้ ทำให้น้องแสนดีที่หูหนวกสนิท สามารถได้ยินเสียงและพูดได้ในที่สุด ซึ่งตอนนี้ในไทยก็มีผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมแล้วเช่นกัน และมีสิทธิประโยชน์บัตรทอง สามารถรับอุปกรณ์ประสาทหูเทียมได้ด้วยค่ะ
ชัชชาติในวันที่พบว่าลูกไม่ได้ยินจนไปถึงการรักษาและบำบัด
คุณชัชชาติได้เล่าวินาทีที่พบว่าลูกไม่ได้ยิน การรักษา และการฝึกพูด ไว้ในเพจ มนุษย์กรุงเทพ ดังนี้ค่ะ
“ลูกชายของผมเกิดเมื่อปี 2000 ร่างกายภายนอกของเขาปกติดี กระทั่งวันหนึ่งมีคนทักว่า ทำไมเรียกแล้วไม่หัน พออายุหนึ่งขวบกว่าๆ ผมตัดสินใจพาไปตรวจ พยาบาลบอกผลว่า ลูกชายของผมหูหนวก เคยเห็นเด็กหูหนวกส่งภาษามือ แต่ไม่คิดว่าจะเจอกับตัวเอง เป็นวินาทีเปลี่ยนชีวิตเลย ตอนนั้นผมตกใจ นั่งร้องไห้ สงสารลูกว่าอนาคตจะเป็นยังไง เราเหมือนปฏิเสธตัวเอง คิดว่าหมออาจตรวจผิด เลยไปตรวจที่อื่น แต่ทุกที่ก็บอกเหมือนเดิม ผมถึงขนาดไปไหว้พระ บนบานศาลกล่าว ขอให้เขาหาย ตอนลูกหลับก็เอาหูฟังเสียงดังๆ เปิดใส่ เผื่อจะกระตุ้นให้เขาได้ยิน เป็นความหวังลมๆ แล้งๆ เวลาผ่านไปเริ่มตกตะกอนว่าเป็นไปไม่ได้
“ผมเริ่มซื้อหนังสือเกี่ยวกับคนหูหนวกมาอ่าน ศึกษาบทความต่างๆ ทางเลือกมีทั้งการฝึกใช้ภาษามือ แต่คนอื่นสื่อสารด้วยยาก สังคมก็จะแคบ หรือใช้เครื่องช่วยฟัง ซึ่งเหมาะกับคนที่มีการได้ยินเหลืออยู่บ้าง หรือวิธีอ่านปาก ซึ่งก็ต้องใช้พร้อมเครื่องช่วยฟัง แต่ลูกของผมหูหนวกสนิทเลย อีกทางคือ การผ่าตัดประสาทหูเทียม สิบกว่าปีที่แล้วเมืองไทยมีอยู่บ้าง แต่เด็กที่ผ่ามักไม่ประสบความสำเร็จ คือพูดไม่ได้ แต่ผมคิดว่าถ้าทำสำเร็จ เขาจะสื่อสารกับคนทั่วไปได้เลย ผมเลยเลือกทางนี้
“ประเทศที่ผ่าตัดได้เยอะคือ ออสเตรเลีย ผมติดต่อไปหาหมอคนหนึ่ง เขาผ่ามานับพันคน บินไปคุยอยู่สองครั้ง แล้วถึงพาลูกไปตรวจ พอรู้ผลว่าผ่าได้ ตอนนั้นผมเป็นอาจารย์ เลยสอบเอาทุนจากรัฐบาลออสเตรเลียไปทำวิจัย แล้วพาลูกไปผ่าเมื่อเดือนธันวาคม 2002 ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือเราต้องฝึกให้เขาเข้าใจเครื่องนี้ ปกติประสาทหูชั้นในมีลักษณะเป็นก้นหอย มีขนๆ อยู่ พอได้ยินเสียง ขนก็สั่น แล้วเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นสมอง แต่ลูกของผมไม่มี เลยใส่ขดลวดไฟฟ้าไปแทน เวลาพูดจะเหมือนที่เราพูดกัน แต่เขาจะได้ยินอีกแบบ สมมุติคำว่า พ่อ เขาก็จะได้ยินเป็น ตื๊ด ตื๊ด ตื๊ด
“หลังจากผ่าตัด ช่วงแรกเขาไม่พูดเลย เราก็เครียด ไม่รู้ว่ามาถูกทางหรือเปล่า ถ้าผิดก็ไม่รู้จะกลับไปยังไง การผ่าก็ไปทำลายของเดิมทั้งหมด ตอนนั้นพ่อแม่ต้องฝึกอาทิตย์ละ 3 ชั่วโมง เพื่อกลับมาฝึกลูก 24 ชั่วโมงที่บ้าน หลังหกเดือนเขาก็เริ่มพูดได้ เครื่องมีความละเอียดไม่เท่าหูคน ผมเลยเลือกฝึกภาษาอังกฤษเพราะวรรณยุกต์ไม่เยอะ อีกอย่างความรู้บนโลกนี้ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเขาพูดได้ อนาคตคงเรียนภาษาไทยได้ หลังจากนั้นเขากลับมาอยู่โรงเรียนอินเตอร์ พูดอังกฤษได้ พูดไทยได้นิดหน่อย เป็นเด็กหูหนวกหนึ่งในไม่กี่คนที่เรียนโรงเรียนคนปกติได้
หูหนวก
หูหนวก คือภาวะที่ความสามารถในการได้ยินลดลงหรือสูญเสียการได้ยินทั้งหมด เกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นในภายหลัง โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่ เช่น ประสาทหูเสื่อมเพราะอายุมากขึ้น กรรมพันธุ์ การได้รับบาดเจ็บ หรือการได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน
การรักษาหูหนวก
การสูญเสียการได้ยินที่มีสาเหตุมาจากความเสียหายของหูชั้นใน หรือโสตประสาทจะเป็นการสูญเสียอย่างถาวร โดยวิธีที่ช่วยให้ได้ยินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ดังนี้
- เครื่องช่วยฟัง (Hearing Aids) เป็นเครื่องที่ช่วยขยายเสียงให้ได้ยินชัดขึ้นและช่วยให้ได้ยินง่ายขึ้น โดยผู้ป่วยต้องปรึกษากับนักตรวจการได้ยินถึงประโยชน์ในการใช้เครื่องช่วยฟัง หรือวิธีการใช้และความเหมาะสมในการใช้กับผู้ป่วยแต่ละราย
- ประสาทหูเทียม (Cochlear Implant) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำงานทดแทนหูชั้นในส่วนที่ได้รับความเสียหายหรือไม่ทำงาน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะแปลงสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่จะช่วยกระตุ้นเซลล์ขนภายในอวัยวะรับเสียงให้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น มักจะใช้กับผู้ป่วยที่ประสาทหูเสื่อมอย่างรุนแรง เช่น หูหนวกหรือหูเกือบหนวก
ประสาทหูเทียม
เป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ฟังเพื่อทดแทนการทำงานของหูชั้นใน โดยทำหน้าที่แทนเซลล์ขน (hair cells) ของหูชั้นในที่หยุดทำงาน โดยเครื่องแปลงสัญญาณเสียงจะทำหน้าที่เปลี่ยนคลื่นเสียงที่รับผ่านไมโครโฟนแล้วไปแปลงคลื่นเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า เพื่อส่งต่อไปยังเครื่องรับสัญญาณเสียงที่ผ่าตัดฝังไว้ สัญญาณไฟฟ้าจะผ่าน cochlea และ cochlear nerve แล้วส่งต่อไปยังสมองส่วนที่รับการได้ยิน ทำให้เกิดการได้ยิน
ประสาทหูเทียม มีส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน ได้แก่
- ส่วนที่ฝังอยู่ภายในร่างกาย หรือเรียกว่าเครื่องรับสัญญาณเสียง
- ส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกาย หรือเรียกว่าเครื่องแปลงสัญญาณเสียง
สถานที่ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม
ในปัจจุบันหลายโรงพยาบาลมีเทคโนโลยีที่จะผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมได้ เช่นเดียวกับที่น้องแสนดีเคยไปผ่าตัดที่ออสเตรเลียมาแล้ว เช่น ที่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลพญาไท เป็นต้น
หลักเกณฑ์ว่าลูก ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ได้
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม คือ
- อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
- สูญเสียการได้ยินทั้งสองข้างระดับรุนแรง ระดับการได้ยินมากกว่า 80 เดซิเบล และใช้เครื่องช่วยฟังแล้วไม่ได้ผล ไม่มีโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด
- มีสุขภาพจิต และสติปัญญาดีพอที่จะสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพได้
- ต้องสามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินหลังการผ่าตัด และติดตามผลเป็นระยะ ๆ ได้
- มีศักยภาพที่จะดูแล บำรุงรักษาอุปกรณ์ประสาทหูเทียมได้
วิธีประเมินก่อน ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม
- ตรวจร่างกาย
- ประเมินระดับการได้ยิน และการใช้เครื่องช่วยฟัง
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์และตรวจเลือด
- ประเมินภาวะทางจิต และสติปัญญา หรือพัฒนาการในเด็ก
- ประเมินความพร้อมของครอบครัวที่จะดูแลและติดตามการรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพภายหลังการผ่าตัด
สิทธิรับอุปกรณ์ประสาทหูเทียม
เด็กที่มีสิทธิสามารถรับอุปกรณ์ประสาทหูเทียม ในการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม มีเกณฑ์ดังนี้
- เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่มีระดับการได้ยิน 90 เดซิเบลขึ้นไป
- ไม่เคยฝึกภาษามือ
- มีข้อบ่งชี้จากแพทย์เพื่อผ่าตัดรักษา
อุปกรณ์ประสาทหูเทียมที่จะได้รับ
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ คือ อุปกรณ์ชุดประสาทหูเทียม 1 ชุด/คน ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่อยู่ในร่างกาย และส่วนที่อยู่นอกร่างกาย ดังนี้
1) ส่วนที่อยู่ในร่างกาย ประกอบด้วยอุปกรณ์สำคัญ คือ ตัวรับสัญญาณ (receiver) และ ขั้วไฟฟ้า (eleclrode array) ชนิดหลายขั้ว ตั้งแต่ 12 electrodes ขึ้นไป
2) ส่วนที่อยู่นอกร่างกาย ประกอบด้วย
2.1 เครื่องแปลงสัญญาณเสียงพูด (speech processor)
2.2 ขดลวดส่งต่อสัญญาณและแม่เหล็ก
2.3 สายไฟเชื่อมต่อเครื่องแปลงสัญญาณเสียงพูดเข้ากับขดลวดส่งต่อสัญญาณ (coilcable)
2.4 แบตเตอรี่ชนิดประจุไฟฟ้าใหม่ได้ (rechargeable battery) อย่างน้อย 2 ชุดพร้อมแท่นชาร์ต
2.5 มีระบบ Data Logging เพื่อให้สามารถรู้ว่าผู้ป่วยใช้งานหรือไม่
2.6 มีระบบการป้องกันน้ำที่มาตรฐานไม่ต่ำกว่า International Protection 57 ขึ้นไป
2.7 มีไมโครโฟน (omni direction) อย่างน้อย 2 ตัว
2.8 มีกล่องอบกันความชื้น
วิธีการใช้สิทธิ
ติดต่อที่หน่วยบริการตามสิทธิ โดยแสดงสูติบัตรในการเข้ารับบริการ หากหน่วยบริการตามสิทธิไม่มีแพทย์เฉพาะทางจะส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มี อุปกรณ์ชุดประสาทหูเทียม แต่หากมีเอกสารประกอบยืนยันประเภทคนพิการ สามารถเข้ารับบริการหน่วยบริการของรัฐได้ทุกแห่ง
การได้ยินในที่ได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม จะไม่เหมือนการได้ยินปกติ ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และฝึกฝนจึงจะสามารถฟัง แปลผล และสื่อสารได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากครอบครัว และบุคลากรหลายด้าน ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ นักแก้ไขการพูด ครูการศึกษาพิเศษ หรือ ครูที่โรงเรียน เพื่อน ที่ต้องเอาใจใส่ พูดคุยกระตุ้นเพื่อให้ได้ฝึกฟังและพูดตลอดเวลา
สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ,คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, pobpad
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ชาวเน็ตซึ้ง! แห่แชร์เรื่องเล่า”ชัชชาติ” พ่อผู้แข็งแกร่งดูแลลูกชายหูหนวก