สปสช.ให้สิทธิคัดกรอง ภาวะปัญญาอ่อน เด็กแรกเกิด
นับตั้งแต่ลูกน้อยลืมตาดูโลก พ่อแม่ย่อมเป็นคนที่ดีใจที่สุด โดยเฉพาะเมื่อทารกน้อยร่างกายสมบูรณ์ครบ 32 ประการ
แต่บางครอบครัวอาจไม่โชคดีเช่นนี้ เพราะทารกน้อยอยู่ใน ภาวะปัญญาอ่อน และสมองพิการ หากไม่ได้ตรวจพบในระยะแรกของชีวิต ผลที่ตามมาย่อมรุนแรงต่อตัวเด็ก และนับเป็นภาระหนักหนาต่อครอบครัว
การตรวจคัดกรอง ภาวะปัญญาอ่อน ในเด็กแรกเกิด
กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงกำหนดให้มีบริการตรวจคัดกรองภาวะปัญญาอ่อน โดยการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิดและโรคพีเคยูสำหรับเด็กไทยแรกเกิดทุกคน เพราะภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด (Congenital Hypothyroidism) และภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน ที่เรียกว่า โรคพีเคยู หรือฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) ในเด็กแรกเกิด เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความพิการทางสมองและภาวะปัญญาอ่อนตามมาได้
1. ภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่อง
พบอุบัติการณ์ของโรค 1 : 4,000 (ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข 1 : 2,900) เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การสร้างต่อมไทรอยด์ไม่สมบูรณ์หรือขาดสารไอโอดีน แต่ปัญหาที่สำคัญคือ ภาวะปัญญาอ่อนและการเจริญเติบโตล้มเหลว
อาการ ทารกจะมีน้ำหนักน้อย ตัวเตี้ย ลิ้นอาจใหญ่จุกปาก ตัวอ่อนปวกเปียก ท้องผูก ตัวเหลืองนานหลังคลอด มีพัฒนาการล่าช้า เช่น ไม่อ้อแอ้ นั่งช้า เดินช้า พูดช้าหรือไม่พูดเลย หากเป็นมากหรือเป็นมานานเกินกว่าแพทย์จะตรวจพบโอกาสที่จะปัญญาอ่อนเป็นไปได้สูง
การรักษา จะได้ผลดีต่อเมื่อทารกได้รับการตรวจพบความผิดปกติก่อนอายุครบ 2 เดือน
สำหรับการป้องกัน ทำได้โดยการตรวจกรองเมื่อแรกเกิด (ภายในอายุ 24 – 48 ชั่วโมง) โดยเจาะเลือดที่ส้นเท้าแล้วหยดลงกระดาษซับกรองเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ทราบผลภายใน 1 – 2 สัปดาห์
2. โรคเฟ็นนิลคีโตนยูเรีย (PKU)
เป็นโรคพันธุกรรมที่มีความผิดปกติทางเมตะบอลิสม์ ไม่ว่าจะอาหารหรือนมที่รับประทานจะไม่สามารถถูกย่อยได้ตามปกติ เพราะความบกพร่องของเอ็นไซม์ในเซลล์ ทำให้มีระดับกรดอะมิโนเรียกเฟ็นนิลอะลานีลสูงในเลือด แล้วไปทำอันตรายต่อเซลล์สมองทำให้เกิดภาวะปัญญาอ่อน พบอุบัติการณ์ของโรค 1 : 15,000 คน (ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข 1 : 10,000)
อาการ ผู้ป่วยจะมีอาการชักภายหลังรับประทานนมได้เพียง 1 – 2 วัน ผิวสีจางกว่าปกติ อาจมีปัญหาเรื่องการดูดนม (ไม่ยอมดูดนม หรือดูดได้น้อย) อาเจียนบ่อย มีพัฒนาการล่าช้า บางรายที่ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีก็จะมีภาวะปัญญาอ่อน
การรักษา ทารกต้องได้รับการวินิจฉัยภายใน 1 – 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด และต้องทานนมที่เตรียมพิเศษภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น
การป้องกันความผิดปกติทั้งสองกลุ่มอาการที่กล่าวมา ปัจจุบันสามารถทำโดยวิธีตรวจกรองโรค เพราะจะทราบถึงความผิดปกติของทารกตั้งแต่แรกเกิด หรืออย่างช้าที่สุดเพียง 1 – 2 สัปดาห์เท่านั้น ทำให้แพทย์เริ่มรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น ทารกจึงลดอัตราเสี่ยงเข้าสู่ภาวะสมองพิการ หรือปัญญาอ่อนได้
หลักเกณฑ์การคัดกรองเด็กแรกเกิด
สำหรับหลักเกณฑ์การให้บริการ คือ
- เด็กแรกเกิดที่คลอดครบกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 2,500 กรัม ทุกสิทธิ จะได้รับการตรวจคัดกรอง 1 ครั้ง
- ส่วนเด็กแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนด มีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ หรือเด็กคลอดครบกำหนดที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือทารกแฝด หรือทารกป่วยทุกสิทธิ จะได้รับการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด 2 ครั้ง เป็นการตรวจเมื่อแรกเกิด 1 ครั้ง และจะตรวจซ้ำอีก 1 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2-3 สัปดาห์
วิธีตรวจคัดกรอง
หน่วยบริการจะทำการเจาะเลือดเด็กแรกเกิดที่มีอายุตั้งแต่ 48 ชั่วโมงหรือ 2 วัน ที่บริเวณส้นเท้าหรือหลังมือใส่กระดาษซับและจัดส่งให้หน่วยบริการที่ตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อทำการตรวจ หากผลตรวจคัดกรองผิดปกติหน่วยบริการที่ตรวจจะแจ้งรายชื่อเด็กโดยด่วนไปยังหน่วยบริการที่เจาะเลือดเพื่อการดูแลต่อไป
- เด็กที่มีผลการคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิดผิดปกติ จะได้รับการติดตามและตรวจยืนยันภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ พร้อมได้รับยาไทร็อกซิน (Thyroxine) ภายในอายุไม่เกิน 14 วัน
- กรณีเด็กที่มีผลการคัดกรองโรคพีเคยูผิดปกติ จะได้รับการติดตามและส่งต่อให้เข้าสู่ระบบบริการดูแลกลุ่มโรคหายากภายในอายุไม่เกิน 14 วัน
ค่าบริการคัดกรอง ภาวะปัญญาอ่อน ราคาถูก
อัตราค่าบริการตรวจคัดกรอง เพื่อให้เด็กแรกเกิดเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้นดังนี้
- ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด และโรคพีเคยู 135 บาท/ครั้ง
- ค่าบริการตรวจและการติดตามเพื่อยืนยันในรายภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ที่ผิดปกติ 350 บาท/ราย
สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
อาการของปัญญาอ่อน
สำหรับเด็กที่มีภาวะปัญญาอ่อน อาจไม่ปรากฏอาการแสดงที่ชัดเจนจนกว่าเด็กจะเข้าสู่วัยเรียน อย่างไรก็ตาม การติดตามพัฒนาการของเด็กอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอจะช่วยคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนได้ ตัวอย่างพัฒนาการและอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะปัญญาอ่อน ได้แก่
- พลิกตัว ลุกขึ้นนั่ง คลาน หรือเดินได้ช้ากว่าคนปกติ
- พูดช้า หรือมีปัญหาติดขัดเกี่ยวกับการพูดคุยสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ
- พูดคุยสื่อสารด้วยภาษาง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แต่ขาดทักษะในการใช้คำ หรือไวยากรณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับคนในวัยเดียวกัน
- ใช้สีหน้า ท่าทาง หรือสัญลักษณ์ในการสื่อสารมากกว่าการใช้คำพูดอธิบายสิ่งต่าง ๆ
- มีพัฒนาการช้าในการทำกิจวัตรประจำวันในวัยเด็ก และอาจทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ช้ากว่าคนปกติ เช่น การขับถ่าย การแต่งตัวสวมเสื้อผ้า การรับประทานอาหาร
- เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ช้ากว่าปกติ จึงมีปัญหาพัฒนาการด้านการเรียนตามวัย เช่น ด้านการเขียน การอ่าน การคิดคำนวณตัวเลข
- มีปัญหาด้านการจำ ความจำสั้น มีความยากลำบากในการจดจำสิ่งต่าง ๆ
- ขาดทักษะในการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา
- ขาดทักษะในการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน
- ขาดทักษะในการคิดและทำความเข้าใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล
- ไม่สามารถทำความเข้าใจหรือคิดเชื่อมโยงการกระทำกับผลที่จะเกิดขึ้นตามมาได้
- มีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น มีอารมณ์เกรี้ยวกราดและไม่สามารถควบคุมได้
- ขาดทักษะในการเข้าสังคม การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น หรือการยอมรับปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในสังคม
- คิดเป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม มีความยากลำบากในการคิดอย่างเป็นนามธรรม
- ไม่สามารถตระหนักถึงความสำคัญของเงินหรือเวลาได้ ขาดทักษะในการบริหารใช้จ่ายเงินและเวลา
- มีความยากลำบากในการตัดสินใจ การคิดแก้ไขปัญหา หรือหาทางออกอย่างเหมาะสม
ดังนั้นการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่พร้อมรับมือสำหรับการดูแลลูกน้อยที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
pobpad, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, กรุงเทพธุรกิจ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก