คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น จะเห็นว่าลูกติดเพื่อนมากขึ้น ไปไหนมาไหนกับเพื่อนมากขึ้น แต่จะมีสักกี่ครอบครัวที่มีเวลาตามดูแลลูกทุกวินาที และสังคมทุกวันนี้เริ่มอยู่ยาก มีภัยรอบด้าน และคนดีก็หายากขึ้นทุกวัน ส่วนตัวผมเชื่อว่าครอบครัวที่อบอุ่นเท่านั้น ที่จะสามารถผลิตคนดีออกสู่สังคมได้
ผมมีตัวอย่างคดีที่น่าจะสอนใจคุณพ่อคุณแม่ได้ดี เป็นคดีที่ เด็กดีคนหนึ่งไปกับเพื่อน เพียงเพราะเป็นห่วงรถมอเตอร์ไซค์ของตัวเอง แต่สุดท้ายกลับต้องตกเป็นจำเลยในฐานะตัวการร่วมวางแผนฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คดีนี้ทีมทนายความ ทำงานเครียดเลยครับ เพราะพยานฝ่ายโจทก์เป็นคนใกล้ชิดกับจำเลย โดยทางกฎหมายพยานประเภทนี้จะมีน้ำหนักมาก เนื่องจากเป็นเพื่อนกันย่อมไม่เบิกความให้ร้ายเพื่อน และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน
คดีนี้มีจำเลย 2 คนครับ คือ นาย ก. อายุ 20 ปีต้นๆ เป็นผู้ลงมือยิง นาย ก. เป็นเด็กที่ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำมาโดยตลอดกระทั่งบรรลุนิติภาวะ ไม่มีพ่อแม่หรือญาติ คอยสนใจดูแล เมื่อพ้นโทษก็ไม่มีอาชีพ จึงหารายได้ด้วยการค้าสิ่งผิดกฎหมาย ส่วนนาย ข. อายุ 20 ปีต้นๆ เป็นคนขับรถมอเตอร์ไซค์ให้แก่นาย ก. นาย ข. เป็นคนดีแต่เป็นคนหัวอ่อน เชื่อคนง่าย เป็นที่รักใคร่ของทุกคนในครอบครัว มีพ่อแม่ ปู่ย่า คอยดูแลเอาใจใส่ไม่มีประวัติเคยกระทำความผิดทางอาญามาก่อนไม่เคยเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมายมีงานทำเป็นหลักแหล่ง ขณะถูกจับกุมมีลูก 1 คน อายุ 3 ขวบ นาย ก. และนาย ข. รู้จักกันไม่ถึง 1 เดือน โดยการแนะนำจากเพื่อนอีกคนหนึ่ง
วันเกิดเหตุนาย ก. ขอยืมรถมอเตอร์ไซค์ของนาย ข. อ้างว่าจะไปซื้อของ นาย ข. เป็นห่วงรถมอเตอร์ไซค์ ของตัวเอง จึงขอไปด้วย โดยที่ไม่ทราบว่า นาย ก. กำลังไปซื้อสิ่งของผิดกฎหมาย เมื่อนาย ก. ขับรถไปถึงที่เกิดเหตุ นาย ก. ทะเลาะกับ นาย ค. จึงใช้อาวุธปืนยิงนาย ค. จนถึงแก่ความตาย โดยนาย ข. เป็นผู้ขับรถมอเตอร์ไซค์พา นาย ก. หนีออกจากที่เกิดเหตุ หลังเกิดเหตุ นาย ก. และนาย ข. หนีไปต่างจังหวัดด้วยกัน ต่อมาทั้งสองคนได้ติดต่อขอมอบตัว โดยนาย ก. รับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือยิงผู้ตายจริง แต่สู้ว่ามิได้วางแผนไว้ก่อน ส่วน นาย ข. ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
จุดมุ่งหมายของคดีนี้ คือ การช่วยเหลือนาย ข. ซึ่งไม่รู้เห็นด้วยกับการกระทำความผิดดังกล่าว แต่ก็มี พฤติการณ์หลายอย่างที่ทำให้น่าสงสัยว่า นาย ข. จะมีส่วนรู้เห็นหรือร่วมวางแผนด้วย เช่น การขับรถพานาย ก. หนี การหนีไปกบดานด้วยกัน และมีพยานบางปากให้การว่าเห็น นาย ข. เป็นผู้ถอดแผ่นป้ายทะเบียน
จากการสอบข้อเท็จจริงและวิเคราะห์พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ทำให้ทีมทนายความฝ่ายจำเลย หนักใจครับ เพราะคดีนี้ ถ้าพลาด นาย ข. จะต้องโทษสูงสุด คือ ประหารชีวิต ส่วน นาย ก. แม้จะเป็นผู้ลงมือยิงเอง ก็ตาม แต่ต้องโทษสูงสุด คือ จำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น เนื่องจากคำรับสารภาพ ของนาย ก. เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของศาลครับ ศาลจะลดโทษให้กึ่งหนึ่ง
คดีนี้ ทีมทนายความลงพื้นที่หาพยานหลักฐาน ประสานงานกับญาติๆ ของจำเลยทั้งสอง เพื่อให้ได้ความจริงและเพื่อให้การต่อสู้คดี เป็นประโยชน์ต่อตัวลูกความมากที่สุด แม้จะหนักใจเป็นอย่างมาก เพราะมีชีวิตคนหนึ่งคนฝากไว้กับทีมงาน แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรค ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “ความยุติธรรม” ยังมีอยู่จริง
เรื่อง นิติธร แก้วโต ทนายความที่ปรีกษาทางกฎหมาย และคุณพ่อลูกสอง