สปสช.ขยายสิทธิ คัดกรองการได้ยิน เด็กไทยแรกเกิดฟรี
บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบ ดูแลเด็กที่มีภาวะบกพร่องการได้ยิน เข้าสู่การรักษา ด้วยการขยายสิทธิ คัดกรองการได้ยิน ครอบคลุมดูแลเด็กไทยแรกเกิดทุกคน ฟรี!! ค่ะคุณพ่อคุณแม่
สปสช.ขยายสิทธิ คัดกรองการได้ยิน เด็กไทยแรกเกิดฟรี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การได้ยินเสียงเป็นหนึ่งใน 5 สัมผัสพื้นฐาน มีการทำงานร่วมกับระบบประสาท และสมอง เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดอันนำไปสู่การพัฒนาการที่ดีในทุกๆ ด้าน หากสูญเสียการได้ยินแล้วก็จะส่งผลต่อการพูดและภาษาได้ ทำให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสารที่มีผลในการเข้าสังคม การเรียน ภาวะจิตใจ ความจำ พฤติกรรม อารมณ์และสูญเสียโอกาสทางสังคม ดังนั้น การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิด จึงเป็นบริการทางการแพทย์ที่จำเป็น เพื่อค้นหาเด็กแรกเกิดที่มีความบกพร่องการได้ยินและนำเข้าสู่การรักษาโดยเร็ว
เพื่อครอบคลุมการดูแลเด็กแรกเกิดทุกคน ให้ได้รับบริการตรวจคัดกรองการได้ยินอย่างทั่วถึง สปสช. จึงเห็นชอบเพิ่มบริการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดทุกคนที่มีสัญชาติไทยเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง โดยให้เริ่มมีผลทันทีในปีงบประมาณ 2565
วิธีตรวจ คัดกรองการได้ยิน
- Otoacoustic Emissions(OAEs) การตรวจวัดเสียงสะท้อนจากเซลล์ขนในหูชั้นใน ตรวจการทำงานของปลายประสาทรับเสียงในหูชั้นใน ทำโดยใส่เสียงเข้าไปในหูขณะเด็กอยู่นิ่ง และวัดเสียงที่เกิดขึ้น จากการทำงานของหูชั้นใน เครื่องจะบันทึกการตอบสนองโดยอัตโนมัติ การตรวจทำง่าย ใช้เวลาน้อย ไม่เจ็บปวด สามารถทราบผลทันที และผลมีความเชื่อถือได้มากกว่า 95%
- Auditory Brainstem Response (ABR) การตรวจการได้ยินระดับการสมอง เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของการได้ยินในเด็กเล็ก ทำโดยการติดสื่อนำสัญญาณ (Electrode) เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในระบบประสาทหูชั้นในส่วนลึก เมื่อปล่อยเสียงเข้าไปตรวจในหู เด็กต้องหลับสนิท ใช้เวลาในการตรวจประมาณครึ่งชั่วโมง ผลมีความแม่นยำมากกว่า 98%
เด็กที่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองการได้ยิน
ผศ.นพ.สมพร โชตินฤมล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลว่า ทารกทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยิน โดยเฉพาะทารกที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังนี้
- เด็กที่มีประวัติคนในครอบครัวหูตึงตั้งแต่ยังเล็ก
- เด็กที่มีความผิดปกติของหน้าตา โครงหน้าที่ผิดปกติ รวมทั้งปากแหว่ง เพดานโหว่
- โรคทางพันธุกรรม
- มารดามีภาวะติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน เริม ติดเชื้อไซโตเมคตะโสไวรัส เป็นต้น
- เด็กที่คลอดออกมาแล้ว น้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม
- มีตัวเหลืองมากในระหว่างแรกคลอด จนต้องถ่ายเลือด
- มีภาวะขาดออกซิเจนรุนแรงตั้งแต่แรกเกิด
- มีภาวะติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด เพราะการติดเชื้อ จะไปทำลายประสาทหูชั้นใน รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะบางตัวที่เด็กได้รับซ้ำ อาจไปทำลายหูชั้นในเช่นกัน
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกไม่ได้ยิน
เนื่องจากความพิการทางการได้ยิน โดยส่วนใหญ่เป็นความพิการที่มองภายนอกไม่เห็น โดยทั่วไปจึงไม่พบความผิดปกติของร่างกาย ยกเว้นในบางราย ที่มีความผิดปกติของหู ใบหน้า และศีรษะ ตั้งแต่เกิดร่วมด้วย จึงต้องอาศัยการประเมินปัจจัยเสี่ยง อาการหูเสียและสังเกตการตอบสนองต่อเสียง เช่น
- เรียกไม่หัน
- ร้องไห้โวยวายเสียงดัง
- ดื้อมากกว่าปกติ หรือมีปัญหาพูดช้า หรือพูดไม่ชัด
- ไม่ทำตามคำสั่ง
- ดูโทรทัศน์ เล่มคอมพิวเตอร์ แล้วเปิดเสียงดังกว่าปกติ
นอกจากนี้ บางครั้งเด็กอาจมีปัญหาด้านการเรียน หรือไม่เข้าสังคม หากคุณพ่อคุณแม่ หรือญาติ สงสัยว่าเด็กอาจมีปัญหาการได้ยิน แนะนำให้พาไปพบแพทย์ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
การรักษาหูหนวก
การรักษาหูหนวกมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ซึ่งวิธีการรักษา ได้แก่
- หากการสูญเสียการได้ยิน มาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาได้ด้วยการให้ผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะ
- การผ่าตัดจะมีความจำเป็นหากเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือหากเกิดการติดเชื้อซ้ำที่ต้องสอดท่อเพื่อระบายน้ำออก รวมไปถึงการผ่าตัดเพื่อระบายของเหลว ซ่อมแซมแก้วหูที่ทะลุ หรือแก้ไขกระดูกที่เกิดปัญหา
การสูญเสียการได้ยิน ที่มีสาเหตุมาจากความเสียหายของหูชั้นใน หรือโสตประสาทจะเป็นการสูญเสียอย่างถาวร โดยวิธีที่ช่วยให้ได้ยิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ดังนี้
- เครื่องช่วยฟัง (Hearing Aids) เป็นเครื่องที่ช่วยขยายเสียง ให้ได้ยินชัดขึ้น และช่วยให้ได้ยินง่ายขึ้น โดยผู้ป่วยต้องปรึกษากับนักตรวจการได้ยิน ถึงประโยชน์ในการใช้เครื่องช่วยฟัง หรือวิธีการใช้ และความเหมาะสมในการใช้กับผู้ป่วยแต่ละราย
- ประสาทหูเทียม (Cochlear Implant) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำงานทดแทนหูชั้นใน ส่วนที่ได้รับความเสียหาย หรือไม่ทำงาน โดยอุปกรณ์ดังกล่าว จะแปลงสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่จะช่วยกระตุ้นเซลล์ขนภายในอวัยวะรับเสียง ให้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น มักจะใช้กับผู้ป่วยที่ประสาทหูเสื่อมอย่างรุนแรง เช่น หูหนวกหรือหูเกือบหนวก
ขอบคุณข้อมูลจาก
The Coverage, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก