คุณพ่อน้ำ : อะไรสำคัญกว่ากันครับระหว่างการเก็บเพื่อเรียนของลูกกับการจ่ายหนี้หรือเก็บเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณ
อ.วรากรณ์ : การเก็บเงินเพื่อการเรียนของลูก การจ่ายหนี้สำหรับการบริโภคและการเก็บเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณนั้น สามารถทำไปพร้อมกันได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ระหว่างที่ลูกโตขึ้นมานั้น การผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ กู้ยืมมาบริโภค และการเก็บเงินสำหรับหลังเกษียณ เป็นเรื่องปกติของทุกครอบครัว เมื่อไม่มีเงินสดครบในมือสำหรับซื้อสิ่งของก็จำเป็นต้องกู้เงินมาซื้อไปก่อน และผ่อนใช้ภายหลัง ประเด็นอยู่ที่ว่ากู้มามากน้อยเพียงใด สมดุลกับรายได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด ถ้าการผ่อนหนี้ทั้งหมดในแต่ละเดือนยอดรวมกันไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้ และถ้ามีการออมสำหรับหลังเกษียณอีกร้อยละ 20 ของรายได้ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่น่าเกิดปัญหา อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมีหนี้ต้องผ่อนเท่าใดและออมเท่าใดเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในแต่ละเดือนแล้ว จะต้องสามารถเก็บส่วนหนึ่งของรายได้ไว้เป็นเงินออมสำหรับการศึกษาของลูกให้จงได้
พูดง่ายๆ ก็คือในแต่ละเดือน เงินชำระหนี้ทั้งหมดบวกเงินออมหลังเกษียณบวกค่าใช้จ่ายในการ ดำรงชีวิตในแต่ละเดือนแล้วต้องน้อยกว่ารายได้เสมอ และช่องว่างที่เหลือนี้ต้องเป็นเงินออมเพื่อการศึกษาของลูกนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น มีรายได้เดือนละ 36,000 บาท มีหนี้รายเดือนต้องจ่ายรวมทั้งสิ้น 12,000 บาท เงินออมหลังเกษียณ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายรายเดือน 18,000 บาท เหลือเงินออมเพื่อการศึกษาของลูก 3,000 บาท (36,000 – 12,000 – 3,000 – 18,000 = 3,000) ควรตั้งเป็นเป้าหมายว่าจะออมเพื่อการศึกษาของลูกในแต่ละเดือนเป็นยอดเท่าใด โดยมีคำสั่งให้ธนาคารหักเงินเดือนส่วนหนึ่งเข้าบัญชีเงินออมเพื่อการศึกษาของลูกตามยอดที่ระบุไปเลย วิธีนี้จะได้ผลเพราะเป็นการออมแบบบังคับครับ
ทั้งหมดนี้ถ้าดูจะตึงมือก็มีทางออก 2 ทาง คือ ลดการก่อหนี้ใหม่และตัดรายจ่ายส่วนตัวลง หรือหารายได้เพิ่ม
บทความโดย : ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ภาพ : Shutterstock