ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร ลงทะเบียนง่าย ได้เงินไว - Amarin Baby & Kids
ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร

ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคมชวนลงทะเบียนง่ายๆ

Alternative Textaccount_circle
event
ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร
ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร

ประกันสังคมชวน ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร

เปิดอีกช่องทางรับเงินประโยชน์ทดแทน! ประกันสังคมชวน ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเพิ่มช่องทางให้บริการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทน ผ่านระบบบริการพร้อมเพย์ ว่า ขอเชิญชวนผู้ประกันตนที่สนใจขอรับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร ลงทะเบียนพร้อมเพย์ ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้ ก่อนยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร โดยผู้ประกันตนที่ยื่นขอรับสิทธิรายใหม่สามารถติดต่อด้วยตนเองได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ / จังหวัด / สาขา (ยกเว้นสำนักงานใหญ่)

การเพิ่มช่องทางให้บริการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทน กรณีสงเคราะห์บุตร ของสำนักงานประกันสังคมนั้น เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงว่า การเพิ่มช่องทางจ่ายเงินผ่านระบบบริการพร้อมเพย์นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการลดการใช้กระดาษ (Paperless) และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีความโปร่งใส ลดความผิดพลาด ลดการใช้เงินสดและเช็ค

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เคยยื่นไว้แล้วก็ไม่ต้องกังวล เพราะผู้ประกันตนที่ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสามารถแจ้งการเปลี่ยนแปลงการขอรับประโยชน์ จากการรับเงินโอนผ่านบัญชีธนาคาร เป็นผ่านบริการพร้อมเพย์ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/ จังหวัด/ สาขา ทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการบันทึกข้อมูลเปลี่ยนแปลงช่องทางการขอรับสิทธิ โดยการยื่นเรื่องหรือแจ้งเปลี่ยนแปลงวิธีรับเงิน ไม่ต้องนำสำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคารมายื่นกับสำนักงานประกันสังคม

ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร
ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร

เงินสงเคราะห์บุตรได้เท่าไรในแต่ละเดือน

สำหรับการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาท ต่อบุตรหนึ่งคน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ คราวละไม่เกิน 3 คน

เงื่อนไขของคุณพ่อคุณแม่ผู้ประกันตน

  1. คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
  2. เงินสงเคราะห์บุตรจะจ่ายให้กับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ คราวละไม่เกิน 3 คน ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้ เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
  3. ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์
  4. แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ แต่สามารถใช้สิทธิได้แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร
ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร

การเบิกสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร

สำนักงานประกันสังคมจะทำการตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน หากมีการนำส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนบุตรคลอด จึงจะมีการย้อนหลังให้ไม่เกิน 1 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด ยกเว้น กรณีผู้ประกันตนมิได้นำส่งเงินสมทบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ทางสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินให้ผู้ประกันตน ณ วันที่สิทธิเกิดขึ้นเท่านั้น

หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)
  • กรณีผู้ประกันตนเคยยื่นใช้สิทธิแล้วและประสงค์จะใช้สิทธิสำหรับบุตรคนเดิม ให้ใช้หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน จำนวน 1 ฉบับ
  • กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ
  • สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) จำนวน 1 ชุด
  • กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ
  • สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่าพร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตนหรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วยจำนวน 1 ชุด)
  • กรณีเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลด้วย จำนวน 1 ชุด
  • กรณีผู้ประกันตนต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทนให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคมและสำเนาหนังสือเดือนทาง (passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ จำนวน 1ชุด
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ จำนวน 1 ฉบับ ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน ดังนี้
  1. ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
  2. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)
  3. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
  4. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  5. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)
  6. ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)
  7. นาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
  8. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
  9. ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน)

เอกสารประกอบการยื่นคำขอฯ ที่เป็นสำเนาให้รับรองความถูกต้องของสำเนาทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ กรณีเอกสารหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน

ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร
ใช้พร้อมเพย์รับเงินสงเคราะห์บุตร

ขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทนของคุณพ่อคุณแม่

  • ผู้ประกันตนต้องกรอกแบบ สปส.2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน (กรณีผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตร 3 คน ในคราวเดียวกันสามารถใช้แบบคำขอฯ ชุดเดียวกันได้)
  • เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ
  • สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
  • พิจารณาสั่งจ่าย จ่ายเป็นรายเดือน

สถานที่ยื่นเรื่อง

ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) ทั้งนี้ เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์/บุตรเสียชีวิต/ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น หรือความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะเท่ากับหมดสิทธิรับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร

หากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ได้ลงทะเบียนรับเงินสงเคราะห์บุตร สามารถยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมประจำจังหวัดทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศ และเพื่อความสะดวกรวดเร็ว สามารถลงทะเบียนรับเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือถ้าเคยลงทะเบียนไว้แล้ว อย่าลืมไปแจ้งการเปลี่ยนแปลงช่องทางการรับเงินกันนะคะ

 อ้างอิงข้อมูล : sso.go.th และ facebook.com/ssofanpage

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ย้ายงาน! อย่าลืมยื่นขอรับสิทธิ์ เงินสงเคราะห์บุตรคนเดิม

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด กับ เงินสงเคราะห์บุตร ต่างกันอย่างไร?

ยกเลิกบัตรทอง 2563 รายชื่อ 64 คลินิก-โรงพยาบาล ถูกสปสช.เลิกสัญญา

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up