เช็คที่นี่!ผู้ประกันตน ป่วยโควิด เบิกเงินทดแทน อย่างไร
ผู้ประกันของสำนักงานประกันสังคมที่ติดโรคโควิด 19 ได้รับสิทธิประโยชน์มากมายจากประกันสังคม หนึ่งในสิทธินั้นก็คือ ป่วยโควิด เบิกเงินทดแทน การขาดรายได้ได้ด้วยนะคะคุณพ่อคุณแม่ ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมได้เปิดเผยข้อมูลว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 หากป่วยโควิด-19 หรือตกเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ต้องกักตัว ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีสิทธิยื่นขอรับเงินขาดรายได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เงื่อนไขผู้ประกันตน ป่วยโควิด เบิกเงินทดแทน ขาดรายได้
1. ผู้ประกันตนมาตรา 33
- กรณีหยุดรักษาตัวไม่เกิน 30 วัน : รับค่าจ้าง 30 วันแรกจากนายจ้าง
- กรณีหยุดรักษาตัวเกิน 30 วัน : สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้ จากประกันสังคมนับตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วย โดยได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรัง (โรคมะเร็ง, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคเอดส์, โรคหรืออาการบาดเจ็บทางสมอง เส้นเลือดสมองหรือกระดูกสันหลังอันเป็นเหตุให้เป็นอัมพาต, โรคหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ต้องรักษาตัวนานเกินกว่า 180 วัน) ไม่เกิน 365 วัน
- เอกสารที่ต้องใช้ : ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส. 2-01)
2. ผู้ประกันตนมาตรา 39
- กรณีหยุดรักษาตัว : สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้ โดยได้รับเงินทดแทน 50% ของฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบ 4,800 บาท ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน
- เอกสารที่ต้องใช้ : ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส. 2-01)
ผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 จะเบิกสิทธิประโยชน์ได้ จะต้องมีเอกสารหลักฐาน ใบรับรองแพทย์ และต้องมีการนำส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์
3. ผู้ประกันตนมาตรา 40
- กรณีหยุดรักษาตัวที่โรงพยาบาล : ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้ วันละ 300 บาท
- กรณีหยุดรักษาตัวที่บ้าน (HI) หรือชุมชน (CI) : ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้ วันละ 200 บาท
- เอกสารที่ต้องใช้ : ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส. 2-01/ ม.40)
ผู้ประกันตน ม.40 จะเบิกสิทธิประโยชน์ได้ จะต้องมีเอกสารหลักฐาน ใบรับรองแพทย์ และมีการส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์
เอกสารที่ต้องใช้
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01)
2. ใบรับรองแพทย์
3. หนังสือรับรองจากนายจ้าง
4. สำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
5. สถิติวันลาของผู้ยื่นคำขอ
6. หลักฐานอื่น ๆ ที่ทางเจ้าหน้าที่ขอเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา
7. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารหน้าแรกที่มีชื่อ–เลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) มี 9 ธนาคาร ดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน)
อย่างไรก็ตาม กรณีไม่มีใบรับรองแพทย์ เนื่องจากผู้ประกันตน ม.33, 39 และ 40 ยังไม่พบการติดเชื้อ แต่ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงและต้องกักตัวที่บ้าน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ก็สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทน “กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย” ได้เช่นกัน ตาม “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563”
ระยะเวลาและช่องทางการยื่นข้อมูล
ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ภายใน 2 ปี ผ่าน 2 ช่องทาง คือ
- สำนักงานประกันสังคม : สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-12 แห่ง/จังหวัด/สาขา ที่สะดวก ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข
- ระบบ E-service : คลิกดาวน์โหลด แบบฟอร์ม กรอกข้อมูล พร้อมแนบสำเนาบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ จากนั้นส่งไปยังสำนักงานประกันสังคม และทางสำนักงานจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ประกันตน
วิธีเช็กผลการยื่นและการโอนเงินเข้าบัญชี
กรณีผู้ประกันตนที่ยื่นเอกสารขอเบิกสิทธิประโยชน์กรณีทดแทนการขาดรายได้ เจ้าหน้าที่จะพิจารณาตามลำดับการยื่นเรื่องก่อนหลัง และจะได้รับการอนุมัติช้าหรือเร็วนั้น จะขึ้นอยู่กับปริมาณของพื้นที่เจ้าของเรื่อง
พร้อมทั้งเอกสารประกอบการยื่นเรื่องเบิกมีครบถ้วนสมบูรณ์ หากได้รับการอนุมัติจะมีหนังสือแจ้งผลให้ทราบ และเงินจะตัดจ่ายเข้าบัญชี 5-7 วันทำการ
หากนานเกินไปยังไม่ทราบผลการอนุมัติ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน, เว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม หรือสายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ถ้าผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่พอใจคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
ขอบคุณข้อมูลจาก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก