สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ หรือว่าที่สามีภรรยาที่มีฐานะ ที่จัดงานแต่งงาน มีเงินสินสอดทองหมั้น ทางกรมสรรพากรเตรียมเรียกเก็บ ภาษีสินสอด แล้ว โดยภาษีเหล่านั้น ถ้ามอบให้ก่อนทำการจดทะเบียนสมรส ก็ต้องนำสินสอดในส่วนที่มีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ไปเสียภาษีอัตรา 5%
ภาษีสินสอด ต้องเสียเท่าไหร่?
ตามข้อความที่ระบุในพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 ระบุว่า
บุคคลที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะ หรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลซึ่งไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนเกินที่ 20 ล้านบาท สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะ หรือจากการให้โดยเสน่หาจาก บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส และ 10 ล้านบาท สำหรับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
โดยถ้ามอบให้ก่อนจดทะเบียนสมรส ก็ต้องนำสินสอดในส่วนที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ไปเสียภาษี 5% แต่ถ้ามอบให้หลังจดทะเบียนสมรสก็จะคิด 5% ในส่วนเกิน 20 ล้านบาท
เครดิตข่าว : มติชนออนไลน์
จากข้อมูลดังกล่าว Amarin Baby & Kids จึงได้รวบรวมความรู้ด้านกฎหมาย เกี่ยวกับการหมั้น และสินสอดทองหมั้น เอาไว้ดังนี้
การหมั้นคืออะไร?
การหมั้น คือการทำสัญญาว่าจะแต่งงานกันในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการหมั้นก่อนที่จะแต่งงานเสมอไป อาจจะมีการแต่งงานโดยไม่มีการหมั้นเลยก็ได้ ซึ่งการหมั้นนั้นแตกต่างจากสัญญาอื่นๆ ที่ไม่สามารถบังคับให้มีการปฏิบัติตามสัญญาได้ หรือไม่สามารถบังคับให้แต่งงานกันได้
เงื่อนไขในการหมั้น
1.อายุ
การหมั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อ ผู้หญิง และผู้ชาย มีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถึงแม้ว่าพ่อแม่ของทั้ง 2 ฝ่ายจะยินยอมให้หมั้นกันก่อนอายุ 17 ปี ก็ถือเป็นโมฆะ จึงไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ถ้าไม่มีการแต่งงานเกิดขึ้น แต่สามารถเรียกของหมั้นคืนในฐานลาภมิควรได้ แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้ชายหญิงแต่งงานกันได้
2.ความยินยอม
ถ้าหมั้นกันในขณะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ การหมั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นโมฆะ และถ้าบรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลอื่นอีก
- พ่อ และแม่ ในกรณีที่มีทั้งพ่อ และแม่
- พ่อ หรือแม่ ในกรณีที่พ่อ หรือแม่เสียชีวิต หรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่ในสภาพ หรือฐานะที่ให้ความยินยอมได้
- ผู้ที่รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้หมั้นเป็นบุตรบุญธรรม
- ผู้ปกครองในกรณีที่ไม่มีคนที่ให้ความยินยอม หรือมีแต่ถูกถอนอำนาจปกครอง
3.เงื่อนไขในเรื่องของการหมั้น
การหมั้น จะต้องส่งมอบของหมั้นให้ฝ่ายหญิง เพื่อหลักฐานว่าจะแต่งงาน โดยจะมีมูลค่าเท่าใดก็ได้ ถ้าไม่มีการให้ของหมั้น ถือว่าการหมั้นนั้นไม่สมบูรณ์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่