อัปเดต ตารางวัคซีน 2564 จากกระทรวงสาธารณสุข ปีนี้มีปรับรายละเอียดจากปีที่แล้ว ลูกต้องฉีดอะไร ตอนไหนบ้าง ดาวน์โหลดไฟล์ฟรี! ไปไว้เช็กดูกันเลย
ตารางวัคซีน 2564 จาก กระทรวงสาธารณสุข
ลูกต้องฉีดตัวไหนบ้าง..เช็กเลย
การรับวัคซีนของทารก ในเด็กไทย ลูกควรได้รับตั้งแต่วัยแรกเกิดไปจนถึงอายุ 12 ปี ถือเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันโรคของเด็กเพื่อป้องกันโรคร้ายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งวัคซีนในแต่ละชนิดนั้นสร้างมาจากไวรัสหรือแบคทีเรียที่ถูกทำให้สิ้นฤทธิ์ด้วยกรรมวิธีทางการแพทย์จนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้แล้ว และวัคซีนเหล่านี้จะเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาป้องกันโรคร้ายต่างๆ
และไม่ได้หมายความถึงแต่การให้ภูมิคุ้มกันแก่เด็กเท่านั้น แต่ในบางประเภทของวัคซีนมีความมุ่งหมายให้ใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ใหญ่อีกด้วย เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ นิวโมคอคคัส และวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เป็นต้น
- ลูกป่วยง่าย ป่วยบ่อย เพราะลูกภูมิคุ้มกันบกพร่องรึเปล่า?
- น้ำนมเหลือง สิ่งมหัศจรรย์ปกป้องลูกจากโรคร้าย
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ : 10 เรื่องอะไร ควรทำ ไม่ควรทำ ช่วงให้นมลูก
สำหรับกำหนดการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ของกระทรวงสาธารณสุข ตารางวัคซีน ปี 2564 ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีการบริการวัคซีนขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็ก กลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคนทั้งเด็กไทยและต่างชาติ สําหรับโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่ให้บริการมี 12 โรค ได้แก่
วัณโรค ตับอักเสบชนิดบี ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ ไข้สมองอักเสบเจอี หัด หัดเยอรมัน คางทูม มะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ (DTP-HB-Hib)
ซึ่งเมื่อในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มการให้วัคซีนป้องกันโรคลําดับที่ 13 ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ คือ วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า … นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดที่ปรับจาก ตารางวัคซีน 2563 คือ
– วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) เข็มที่ 2
เลื่อนให้ไวขึ้น จากอายุ 2 ปี6 เดือน เป็น 1 ปี6 เดือน พร้อมกับวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยักและโปลิโอ (DTP /OPV) เข็มที่ 4 ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการระบาดโรคหัด ส่วนวัคซีนอื่นๆ ฉีดเหมือนเดิม
หมายเหตุ
- วัคซีนทุกชนิดถ้าไม่สามารถเริ่มให้ตามกำหนดได้ ก็เริ่มให้ทันทีที่พบครั้งแรก
- วัคซีนที่ต้องให้มากกว่า 1 ครั้ง หากเด็กเคยได้รับวัคซีนมาบ้างแล้ว และไม่มารับครั้งต่อไปตามกำหนดนัด ให้วัคซีนครั้งต่อไปนั้นได้ทันทีเมื่อพบเด็ก โดยไม่ต้องเริ่มต้นครั้งที่ 1 ใหม่
- กรณีการให้วัคซีนแก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน หรือล่าช้า เด็กจะได้รับวัคซีนตามกำหนดครบภายในระยะเวลา 1 ปี จากนั้นให้วัคซีนต่อเนื่องตามที่กำหนดในกำหนดการให้วัคซีนปกติ
สถานที่ขอรับวัคซีนเด็ก ตาม ตารางวัคซีน 2564
คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยไปรับวัคซีนเหล่านี้ได้ฟรี!! ไม่เสียค่าบริการ เริ่ม 1 มกราคม 2564 ในสถานพยาบาลของรัฐบาล และตามศูนย์บริการสาธารณสุขและสถานพยาบาลต้นสังกัดของโครงการ ”หลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า”
คุณพ่อคุณแม่สามารถโหลด ตารางวัคซีน 2564 ไว้ดู
เพื่อพาลูกไปรับวัคซีนตามกำหนดได้ที่นี่ ⇓
คลิกที่นี่ >> เพื่อดาวน์โหลด ตารางฉีดวัคซีน 2564 กระทรวงสาธารณสุข pdf (ขนาดใหม่ไม่แตก)
- 9 วัคซีนสำหรับผู้หญิง ที่จำเป็นต้องฉีด!
- วัคซีนภูมิแพ้ คืออะไร? ราคาเท่าไหร่? ฉีดแล้วหายขาดไหม?
- ลูกจำเป็นต้องรับวัคซีนเสริมหรือไม่?
ถ้าไม่ได้มาให้วัคซีนตามนัดจะทำอย่างไรดี?
หากไม่ได้มารับวัคซีนตามนัด หรือได้วัคซีนห่างกว่าที่กำหนด ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง แต่หากให้วัคซีนใกล้กันเกินไป อาจทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นหากไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด สามารถนับเป็นเข็มต่อไปได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องนับใหม่ ไม่ว่านานเท่าไรก็ตาม
ข้อควรรู้สำคัญเกี่ยวกับการรับวัคซีน
- นำสมุดบันทึกสุขภาพของเด็ก หรือสมุดวัคซีนไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้แพทย์ได้ดูประวัติสุขภาพ และลงบันทึกติดตามการรับวัคซีนให้ครบตามกำหนด
- วัคซีนบางชนิดต้องให้มากกว่า 1 ครั้ง และอาจต้องฉีดอีกครั้งคราว จึงจะได้ผลในการป้องกันโรคได้เต็มที่ อย่าลืมพาเด็กมารับวัคซีนตามกำหนดนัด
- เมื่อถึงกำหนดนัด ถ้าเด็กมีไข้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าอาการไข้จะหาย
- ถ้าไม่สามารถมารับวัคซีนได้ตามนัด ควรพาเด็กไปรับวัคซีนให้ครบ ไม่ว่าจะเว้นไปนานเท่าไรก็ตาม ก็สามารถให้ต่อเนื่องได้ โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่
- ถ้าเด็กเคยมีอาการรุนแรงหลังฉีดวัคซีน เช่น ชัก ไข้สูงมาก บวม แดง บริเวณที่ฉีด มีผื่นลมพิษขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนฉีดวัคซีนครั้งต่อไป
- หลังฉีดวัคซีน ควรนั่งพักรอเพื่อสังเกตอาการแพ้วัคซีนที่ โรงพยาบาล อย่างน้อย 30 นาที
อย่างไรก็ดีปัจจุบันการให้วัคซีนถือได้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคติดเชื้อร้ายแรง เนื่องจากเป็นวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง วัคซีนมีบทบาทสำคัญในการควบคุมป้องกัน กำจัด กวาดล้าง โรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาสาธารณสุขมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและประสบผลสำเร็จอย่างสูงจึงนับได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพและคุ้มทุนอย่างมากในการป้องกันควบคุมโรค ดังนั้น เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 12 ปี ควรได้รับวัคซีนตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้จึงจะได้ผลสูงสุด เพราะถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนตามกำหนด อาจทำให้ลูกได้รับวัคซีนไม่ครบและเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงจนไม่อาจรักษาได้นะคะ
ขอบคุณข้อและภาพจาก : เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?
เด็กไทยป่วยมะเร็งเพิ่ม 80 คนต่อเดือน! มะเร็งในเด็ก รู้เร็ว รักษาไว หายขาดได้