[Blogger พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย] พ่อแม่อย่าหวังแค่ ‘แก้ปัญหาเฉพาะหน้า’!

Alternative Textaccount_circle
event

คำสัญญา ของรางวัล และการติดสินบน

พ่อแม่อย่าหวังแค่ ‘แก้ปัญหาเฉพาะหน้า’!

วันก่อน หมอตรวจเคสเด็กผู้ชายคนนึงอายุ 4 ปี ค่ะ ตอนที่ตรวจเสร็จและคุณยายกำลังจะชวนเด็กออกนอกห้อง อยู่ๆเด็กคนนั้นก็ลุกขึ้นร้องโวยวายเป็นการใหญ่ว่า

“จะเอาตังค์ จะเอาตังค์ที่หมอ!!!”

หืมม….แปลกใช่มั้ยคะ

หมอเองก็ตกใจมาก ที่อยู่ๆก็ถูกเด็กตัวเล็กๆขู่กรรโชกทรัพย์ (??) เอาแบบนี้ แต่พอถามถึงที่มาที่ไปถึงได้เข้าใจ ว่าที่แท้คุณยายไปให้สัญญากับเด็กไว้ ตอนที่เด็กเริ่มโยเยอยู่หน้าห้อง ไม่ยอมรอคิวตรวจ โดยบอกว่า “ถ้ายอมเป็นเด็กดี เดี๋ยวหมอจะให้เงินไปซื้อไอติม”

แหม…สัญญาลอยๆแบบนี้ เด็กๆจำแม่นนักล่ะค่ะ

แต่ถ้าเราให้สัญญาที่ไม่ได้ตั้งใจจะรักษากันบ่อยๆ นอกจากจะมีปัญหาเอาตอนที่เด็กทวงแล้ว จะกลายเป็นว่าคำพูดเราจะไม่ศักดิ์สิทธิ์นะคะ

หมอเข้าใจค่ะว่าเรื่องแบบนี้มีกันบ่อยๆ และถ้าจะดูกันให้ลึกถึงสาเหตุของปัญหา เราจะเห็นว่า ที่มาของคำสัญญาเหล่านั้นมักมาจากความพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อเด็กๆโยเยหรือทำพฤติกรรมไม่น่ารักนั่นเองค่ะ ซึ่งความร้อนใจที่จะเอาของมาล่อ มา “ติดสินบน” เด็กให้หยุดโยเยตอนที่ปัญหามันเกิดขึ้นแล้วนั้น จะเปิดช่องให้เด็กเอาพฤติกรรมไม่ดีมาต่อรองกับเรา.. กลายเป็นว่าเราจะต้องยอมเสนอโน่นนี่จนกว่าเด็กจะพอใจ เรียกว่าสถานการณ์เป็นรองเด็กไปโดยปริยาย

แต่ความจริงเรื่องนี้ป้องกันได้นะคะ แค่ต้องอาศัยการวางแผน และมองให้ไกลกว่าเด็กหนึ่งก้าวเสมอค่ะ เช่น ตื่นเช้ามาเราก็นึกไว้ก่อนเลยว่า เดี๋ยวจะต้องไปทำอะไร แล้วเจ้าตัวเล็กอาจจะก่อเรื่องอะไรได้บ้าง จากนั้นก็นั่งคุยกับเขาก่อนเพื่อสร้างข้อตกลงกันไว้ (“วันนี้แม่จะพาหนูไปซื้อของ แม่อยากให้หนูคอยเดินอยู่ข้างๆ คอยเป็นผู้ช่วย ไม่วิ่งออกห่างจากแม่และไม่ส่งเสียงดังรบกวนคนอื่น.. ถ้าหนูทำได้ ขากลับแม่จะพาไปกินไอศกรีม แต่ถ้าทำไม่ได้คงจะต้องอดนะคะ”)

ทีนี้พอถึงเวลาลงสนามจริง แล้วเจ้าตัวน้อยเกิดโยเยขึ้นมา เราก็จะได้ทบทวนข้อตกลงที่ตั้งกันไว้ ว่าถ้าไม่ทำตามกติกาก็คงต้องอดของรางวัลนะ ซึ่งถ้าข้อตกลงเราชัดเจน และเราหนักแน่นเพียงพอ ก็จะหมดปัญหาการโยเย เรียกร้องเกินควรไปได้ค่ะ

เพราะของที่เราให้ เราควรใช้เป็น “ของรางวัล” ที่จูงใจให้เด็กทำดี อย่าให้ต้องกลายเป็น “สินบน” ที่เราจำใจให้เพื่อให้เด็กหยุดเกเรเลย เพราะเราสร้างนิสัยของเด็กได้จากข้อตกลงที่เรากับเด็กสร้างร่วมกันค่ะ

พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up