[Blogger พ่อเอก-59] คุณพ่อนักเล่ากับเจ้าปูนปั้นนักฝัน

Alternative Textaccount_circle
event

ผมคิดไว้ตั้งแต่สมัยยังไม่มีแฟนเสียด้วยซ้ำ ว่าอยากเป็นคุณพ่อที่แต่งนิทานของตัวเองมาเล่าให้ลูกฟังทุกคืน ผมว่าช่วงเวลาที่เราได้เล่าเรื่องราวต่างๆ แล้วเห็นเจ้าตัวเล็กทำตาโต มองมาด้วยความทึ่งและสนุกสนาน มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากทีเดียว แม้ตอนนี้ผมจะเป็นคุณพ่อของเจ้าปูนปั้นที่วัยใกล้ 3 ขวบและมีโอกาสได้เล่านิทานก่อนนอนให้ปูนปั้นฟังเสมอๆ แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ยังไม่มีนิทานแต่งเองสักเรื่องมาเล่าให้เจ้าตัวป่วนฟัง มีคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนเป็นเหมือนผมมั้ยฮะ ที่อยากเป็นนักเล่านิทาน (แต่งเอง) ให้ลูกฟัง

แม้ผมจะยังไม่มีนิทานแต่งเองให้ลูกฟังสักเรื่อง ผมก็มีทางออกให้ตัวเอง (และคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆที่อยากเป็นแบบผม) มานำเสนอฮะ เราไม่ต้องเล่านิทานแต่เราก็เป็นนักเล่าเรื่องได้ คำถามหนึ่งที่ผมมักจะถูกถามอยู่เสมอคือ

“คาดหวังอะไรจากลูก เมื่อเขาโตขึ้น”

ผมเคยตอบไปว่า “ผมไม่คาดหวังอะไรจากเขาเลย”

ในการเสวนาครั้งหนึ่ง ท่านผู้ใหญ่ที่ร่วมเป็นแขกในงานนั้นก็เสริมขึ้นมาว่า

“ไม่คาดหวังเลยก็คงไม่ดี เพราะความคาดหวัง ทำให้เราพยายามสอนลูกให้ดี แต่อย่าให้ความคาดหวังไปกดดันลูก อย่าเอาความฝันเราไปยัดเยียดให้ลูก”

ผมยอมรับว่าคำแนะนำนั้นถูกต้อง เพราะจริงๆคำว่าไม่คาดหวัง คือ ผม ‘ไม่คาดหวัง’ ว่าเจ้าปูนปั้นจะต้องโตไปเป็นอะไร แต่ ‘ผมคาดหวัง’ให้ปูนปั้นได้ประกอบอาชีพที่เขาอยากทำ เพื่อที่ว่าเขาจะทำมันให้ได้ดี และเขาจะอยู่กับมันอย่างมีความสุข

ดังนั้นผมจึงเลือกที่จะเป็นคุณพ่อที่ทำหน้าที่เป็นผู้แนะแนวทางมากกว่ากำหนดเส้นทาง ซึ่งวิธีที่ดีวิธีหนึ่งก็คือ การเป็นคุณพ่อนักเล่าเรื่องอาชีพต่างๆ ให้ลูกฟัง (เข้าเรื่องจนได้ว่า ทำไมผมจึงได้เป็นนักเล่าอย่างใจหวัง) เวลาปูนปั้นไปพบเจอใครใหม่ๆ แทนที่เราจะเพียงแนะนำว่านั่นคือใคร ทำอาชีพอะไรแล้วจบ ซึ่งแค่นั้นปูนปั้นซึ่งยังตัวกะเปี๊ยกก็คงไม่เข้าใจหรอกว่า อาชีพซึ่งในวัยของปูนปั้นยังไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทำหน้าที่อะไร สถาปนิกคืออะไร ตำรวจคือใคร แล้วคุณหมอ นักบิน นักร้อง อื่นๆอีกมากมายเขาทำอะไรกัน ดังนั้นเมื่อมีโอกาสเราก็ควรอธิบายให้เขาฟัง เรื่องแบบนี้เล่าดีดีก็สนุกนะเออ

ยกตัวอย่างเช่น เด็กชอบเล่นเครื่องบิน เราก็สามารถเล่าให้เขาฟังได้หลายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินและการบิน โดยพยายามใช้ภาษาง่ายๆ ในการเล่า เจ้าปูนปั้นเองเวลาเล่นเครื่องบิน ก็มักจะสมมติให้ตัวเองเป็นนักบิน แล้วปะป๊าก็เป็นผู้โดยสาร ผมก็จะมีโอกาสได้เล่าเรื่องราวบทบาทหน้าที่ของนักบิน เช่น ปูนปั้นรู้มั้ยว่าทำหน้าที่ในการบังคับเครื่องบินคือใคร? เราเรียกเขาว่า นักบินหรือกัปตันนักบินเนี่ยต้องมีเรียนวิชาบังคับเครื่องบิน เหมือนเวลาปะป๊าขับรถ ปะป๊าก็ต้องควบคุมรถ และนักบินก็ต้องรู้เรื่องจราจรด้วย เวลาปะป๊าขับรถก็ต้องดูไฟจราจรสีเขียวสีแดง นักบินก็ต้องฟังจราจรจากศูนย์ควบคุมว่าจะบินสูงบินต่ำขนาดไหน นอกจากนั้นต้องมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ของเครื่องบินด้วย

10352559_947462688628381_7227973052285481193_n

แล้วเราก็อาจจะเล่าต่อว่า บนเครื่องบินไม่ได้มีแต่นักบินนะ จะต้องมีคนสำคัญอีกคนคือ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งเป็นคนที่ชอบดูแลช่วยเหลือคนอื่น จะต้องคอยสอนให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัย คอยดูแลความสะดวกต่างๆ และคอยนำอาหารและเครื่องดื่มมาให้ด้วย พี่ๆเขาก็จะได้ท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ที่เครื่องบินบินไป แต่พี่ๆจะเหนื่อยกว่าเราเพราะเวลาเราหลับบนเครื่องบิน พี่ๆ ก็จะหลับไม่ได้เพราะต้องคอยดูแลผู้โดยสาร

ในชีวิตประจำวันเวลาไปเจอบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ เราก็สามารถผูกเรื่องราวเล่าเรื่องได้ครั้งหนึ่งปูนปั้นออกไปขี่จักรยานทรงตัวในหมู่บ้านแล้วไปเจอเจ้าหัวต่อน้ำดับเพลิงสีแดงๆ เจ้าปูนปั้นก็ถามผมว่า “ปะป๊านี่คืออะไร” ผมก็ตอบว่า“ปูนปั้นจำของเล่นที่เป็นรถดับเพลิงที่บ้านได้มั้ย รถคันนั้นเขาจะมีสายยางดับเพลิงอันใหญ่ พอพนักงานดับเพลิงดับรถมาถึง เขาก็จะเอาสายมาต่อกับหัวอันนี้แล้วน้ำก็จะพุ่งออกมา แต่พนักงานดับเพลิงจะต้องแข็งแรงมากนะเพราะน้ำจะมีแรงฉีดสูงมาก งานดับเพลิงก็จะเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายเพราะเขาจะต้องเป็นคนเอาสายยางไปฉีดดับไฟ แต่เขาจะได้ช่วยเหลือคน”

ผ่านไปอีกหลายวัน เราขับรถไปผ่านสถานีดับเพลิงแห่งหนึ่งผมก็จะชี้ให้ปูนปั้นดูรถดับเพลิงของจริง ชี้ให้ปูนปั้นเห็นพนักงานดับเพลิงและบอกปูนปั้นว่า พี่ๆเหล่านี้แหละ ที่จะเป็นคนเอาสายยางไปต่อและฉีดน้ำ เท่านี้เขาก็ตาโตกับเรื่องเล่าสนุกๆของเรา อยู่ที่ไหนก็มีวัตถุดิบให้เล่าเรื่องได้ จะเข้าไปธนาคาร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ได้หมดที่สำคัญ อย่าลืมเล่าให้ลูกฟังเรื่องการงานของพ่อแม่ หรือพาเขาไปสัมผัสบรรยากาศการทำงานของเราบ้าง ผมมักพาเขาไปร่วมงานที่บริษัทเวลามีเทศกาลสำคัญๆ หรือเวลาผมไปเป็นแขกร่วมบรรยายในงานต่างๆ ผมมักพาเจ้าปูนปั้นไปด้วย ให้เขาเห็นงานของปะป๊าและให้เขาได้เจอคนเยอะๆ บทสนทนาก็จะเยอะตามไปเอง

ผมเคยอ่านเจอมาว่าการเล่าเรื่อง พูดคุยกันเยอะๆ ระหว่างพ่อ แม่ และ ลูก ช่วยให้ลูกมีการพัฒนาด้านการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ถ้าเราเป็นนักเล่าเรื่องราวที่ดีและได้เราได้เล่าถ่ายทอดประสบการณ์ให้เขามากพอ เราก็ไม่ต้องไปกดดันว่าให้เขาเป็นโน่นเป็นนี่ แต่ขอให้เชื่อว่า เราได้อธิบายให้เจ้าตัวเล็กรู้แล้วว่า

 

‘ภูเขามีหลายลูก ปูนปั้นชอบลูกไหน เลือกตามใจเจ้าเถิด’

 


 แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่

www.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)

 

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up