เมื่อ “ลูกทำผิด” คุณพ่อคุณแม่จะสอนลูกอย่างไร จะ “ทำโทษ” ลูก หรือเปล่าฮะ ผมมีวิธีการหนึ่งที่ผมใช้กับลูกๆ ของผมอยากจะแชร์ให้ฟัง
เทคนิคสอนลูก เมื่อ “ลูกทำผิด” แบบไม่ต้อง “ทำโทษ”
เช้านี้มีการเล่นบนโต๊ะอาหาร ตัวเจ้าพี่ชายก็แหย่น้องสาวไม่หยุด แหย่จนน้องก็ชักจะไม่สนุก พาลจนทานกันไม่หมดซะที แม้ปะป๊ากับหม่ามี้จะพยายามเตือนแล้วว่า ไม่เล่นบนโต๊ะอาหาร ทานให้เสร็จแล้วค่อยไปเล่นกันแต่ก็เหมือนพี่ปูนปั้นจะคึกคักเกินกว่าจะมีสติฟังสิ่งที่ปะป๊ากับหม่ามี้พูด จนปะป๊าทานหมดไม่รอ และขึ้นไปเก็บของข้างบน แต่ยังได้ยินเสียงแหย่น้องเล่นกันบนโต๊ะอาหารอย่างชัดเจน
จนในที่สุด
เสียงชามข้าวหล่นพื้น … ข้าวหกกระจาย
ปะป๊าต้องเสด็จจากเบื้องบนลงมาตัดสิน
เหตุการณ์ถึงตรงนี้ ถ้าเอาให้ง่าย ไม่ต้องคิดไตร่ตรอง ไม่ต้องใช้สติใดๆ ผมก็คงเพียงลงมาด้วยหน้าตาถมึงทึงและเริ่มด้วยเสียงเข้มประโยคมาตรฐาน
“บอกแล้วใช่มั้ยว่าอย่าแหย่น้อง”
แล้วเราก็ดุให้สาแก่อารมณ์อันขุ่นมัวของเรา
วันนั้นอาจจะโชคดี ผมมีสติกว่าปกติเล็กน้อย ขณะเดินลงมาก็พยายามบอกตัวเองว่า
“เอานะ ใจเย็นๆ ลงไปคุยกับลูกก่อน ฟังเขาพูดก่อน”
พอลงมา เหตุการณ์ก็คือ มีเสียงเจ้าปั้นแป้งดุไม่พอใจเจ้าปูนปั้นที่แหย่จนเธอปัดชามข้าวหก ส่วนพี่ชายจะเงียบ หน้ายิ้มแหยๆ แบบทำตัวไม่ถูก ดูทีท่าว่าปะป๊าจะว่าอย่างไร
ปะป๊าเดินไปบอกปั้นแป้งว่า ขอปะป๊าคุยกับพี่ปูนปั้นก่อน
คำถามแรกที่ปะป๊าหันไปถามพี่ปูนปั้นก็คือ
“ปูนปั้นพร้อมจะคุยมั้ยครับ”
เมื่อคำตอบคือ “พร้อม”.. เราก็คุยกัน
ปะป๊าถามไถ่สาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น พี่ปูนปั้นก็เล่าเหตุการณ์ไปเรื่อย เรามีหน้าที่รับฟังแบบหน้าตาที่ไม่มีอารมณ์โกรธเพื่อให้เขาเล่าอย่างสบายใจ ไม่ปกปิด
ให้พี่ปูนปั้นเล่าเองจนมาจบที่ … ยอมรับสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ คือ
“เพราะแหย่น้องตอนทานข้าว”
ป๊าถามว่าจะให้ทำโทษอย่างไร..
“บอกปะป๊ามาหรือจะให้ปะป๊าให้คิดเอง
เมื่อคำตอบคือ
“ไม่รู้แล้วแต่ปะป๊า”
ปะป๊าบอกว่า
“ถ้างั้นวันนี้ไม่ไปเจอเพื่อนๆ ที่นัดกันไว้นะ”
หน้าจ๋อยแบบกลั้นน้ำตา
ถ้าจบลงตรงนี้ เหตุการณ์ทั้งหมดคือ ลูกทำผิด ลูกได้เล่าออกมาเอง ยอมรับความผิดเอง ก็ถูกทำโทษสมควรตามความผิด แต่เราอาจจะเสียโอกาสที่ดีที่จะให้รู้ว่า ในเหตุการณ์นั้นมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นด้วยคือ
- พี่ปูนปั้นเล่าเหตุการณ์ด้วยความกล้าหาญแม้จะรู้ว่าตัวเองผิดเต็มประตู
- พี่ปูนปั้นยอมรับความผิดเองโดยไม่ต้องให้ถามว่า ใครผิด
ปะป๊าจึงเปลี่ยนคำถามใหม่
“จะให้ปะป๊าทำโทษ หรือพี่ปูนปั้นจะทำดีชดเชย”
เมื่อคำตอบจากเจ้าพี่ชายเป็นอย่างหลัง ทุกอย่างจึงจบลงด้วยดี ….
พี่ปูนปั้นกอดน้องเพื่อขอโทษ พี่ปูนปั้นทำความสะอาดพื้น ล้างจานชามให้ทุกคน
เหตุการณ์ไม่จบแค่นั้นเพราะพี่ปูนปั้นมาพร้อมข้อเสนอแบบให้เปล่า
“จะไม่แหย่ปั้นแป้งทั้งวัน”
เรื่องราวจบลงด้วยดี บางทีคำถามเปลี่ยนเพียงนิดเดียว
แค่เปลี่ยนจาก
“จะให้ทำโทษอะไรดี” เป็น “จะให้ทำโทษหรือจะเลือกทำดี”
แต่โลกเปลี่ยนไปไม่น้อยเลย
>>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค
หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<
บทความน่าสนใจอื่นๆ
เลี้ยงลูกคนที่สอง ให้พี่น้องรักกัน โดย พ่อเอก
เลี้ยงลูกเชิงบวก คุยกับลูกแบบนี้ ไม่ต้องตี ลูกก็เชื่อฟัง โดยพ่อเอก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่