เป็น "ดาวฤกษ์" หรือ "หลุมดำ" เลี้ยงลูกแบบไหนดี โดย พ่อเอก - Amarin Baby & Kids
เลี้ยงลูกแบบไหนดี

เป็น “ดาวฤกษ์” หรือ “หลุมดำ” เลี้ยงลูกแบบไหนดี โดย พ่อเอก

Alternative Textaccount_circle
event
เลี้ยงลูกแบบไหนดี
เลี้ยงลูกแบบไหนดี

ผมเพิ่งอ่านหนังสือเล่มสุดท้ายที่คุณ Stephen Hawking คนที่ว่ากันว่า ฉลาดที่สุดนับจากไอน์สไตน์ เขียนก่อนลาจากโลกใบนี้ไปจบลง หนังสือชื่อว่า Brief Answers to the Big Questions เขียนโดย หนังสือเป็นเรื่องราวคำถามเกี่ยวกับจักรวาล ในหนังสือ มีตอนหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ หลุมดำ (black hole) ซึ่งขณะที่ผมกำลังอ่านท่อนหนึ่งในบทนั้น จู่ๆ เนื้อหาก็สะกิดให้คิดถึงการเลี้ยงลูกและระบบการศึกษาของเราขึ้นมาว่าเราควร เลี้ยงลูกแบบไหนดี ให้ลูกมีความสุข เนื้อหาโดยย่อในท่อนนั้นจะเป็นประมาณนี้ (หากแปลสำนวนไม่ถูกต้อง ต้องขออภัยด้วยครับ)

‘การสนทนาเรื่องหลุมดำครั้งแรกเกิดขึ้นในปี คศ. 1783 โดยคุณจอห์น มิทเชล เขากล่าวว่าหากเรายิงวัตถุขึ้นไปในอากาศ มันจะถูกดึงให้ค่อยๆ ช้าลงด้วยแรงดึงดูดของโลก ในที่สุดจะหยุดเคลื่อนที่ขึ้นและตกลงมา แต่หากว่าเรายิงขึ้นไปด้วยความเร็วเริ่มต้นที่มากกว่าค่าวิกฤติค่าหนึ่ง ที่เรียกว่า ความเร็วหลุดพ้น วัตถุนั้นจะเอาชนะแรงดึงดูดและไม่ย้อนตกลงมาอีก ความเร็วหลุดพ้นของโลกและดวงอาทิตย์อยู่ที่ 11 และ 617 กิโลเมตรต่อวินาทีตามลำดับ … เทียบกับความเร็วแสงที่ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที จึงเห็นได้ว่าแสงสามารถหลุดพ้นจากโลกและดวงอาทิตย์ได้ง่ายๆ … แต่มีดวงดาวที่มีมวลมหึมามากกว่าดวงอาทิตย์ซึ่งระดับ ความเร็วหลุดพ้น มากกว่าความเร็วแสง ทำให้แสงหลุดออกมาไม่ได้ นั่นก็คือ หลุมดำ (ในตอนนั้นยังเรียกว่า ดาวมืด)’

เป็น “ดาวฤกษ์” หรือ “หลุมดำ” เลี้ยงลูกแบบไหนดี

ผมอ่านแล้วผมนึกถึงเด็กๆ สมัยนี้ที่ถูกส่งไป ติว ติว ติว ติวกันตั้งแต่อนุบาล ในนามของความรักความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ รวมไปถึงการสอนและผลักดันของคุณครู ที่พยายามอัดทุกสิ่งเข้าไปในสมองน้อยๆ ของเด็กตัวเล็กๆ ที่หวังว่าจะเป็นแรงผลัก แต่ว่านั่นอาจเป็นจุดกำเนิดการสร้างแรงดูดสะสมที่มากขึ้นเรื่อยๆ

ผมเชื่อว่า ทุกคนมีแสงสว่างในตัวเอง เราทุกคนมาจากดวงดาวเหมือนเจ้าชายน้อย และทุกคนมีแสงส่องสว่างติดตัวมาตั้งแต่เกิด

เด็กทุกคน เชื่อว่า ตัวเองกระโดดสูงที่สุดในโลก แม้ว่าจะโดดสูงแค่ไม้บรรทัดเดียวจากพื้น

เด็กทุกคน เชื่อว่าตัวเองวิ่งเร็วกว่าเสือชีตาร์ แม้จะวิ่งตามคุณพ่อที่ก้าวเท้าเร็วๆ แทบไม่ทัน

เด็กทุกคนเชื่อว่า เขายิงประตูได้หนักหน่วงสวยงามกว่า โรนัลโด้ แม้จะเหยียบบอลล้มเสมอ

และ

เด็กทุกคนเชื่อว่า ตัวเองเป็นเด็กฉลาดและรู้ทุกเรื่องในโลก

จนกระทั่ง

มีคนมาบอกว่า เธอยังไม่ฉลาด เพราะเธอทำผิดอีกแล้ว

เธอยังไม่เก่งเพราะคนอื่นทำได้เยอะกว่าเธอ

(ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านั้น หนูยังไม่ต้องรู้ หรือไม่รู้ก็ได้)

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

ในวันนั้นเขาเริ่มรู้สึกว่า แสงของเขาถูกแรงบางอย่างดูดกลับไปทีละน้อย

แล้วเราควร เลี้ยงลูกแบบไหนดี …

ผมเคยพาลูกชายไปทดลองสนามสอบอยู่ที่หนึ่ง ตั้งใจเพียงให้เขารู้จักบรรยากาศการสอบเข้า เพราะในวันที่ต้องสอบเข้าประถม 1 เขาจะได้ไม่ตื่นเต้นมากนัก หากได้รู้จักบรรยากาศของสถานที่ที่ผู้ใหญ่เรียกว่า ‘ห้องสอบ’ เสียก่อน

แต่หลังจากครั้งนั้น ลูกผมไม่เคยให้ลูกไปลองสนามสอบอีกเลย เพราะ ในวันนั้นมีข้อสอบข้อหนึ่งถามว่า ‘สิ่งไหนแตกต่างจากพวก’ … ในขณะที่ลูกผมเลือก คำตอบหนึ่ง แต่เฉลยออกมาเป็นอีกสิ่งหนึ่ง

ลูกออกมาถามว่า “ป๊าครับ ปูนปั้นตอบผิดหรือครับ”

ผมถามกลับว่า “ทำไมปูนปั้นเลือกตอบข้อนี้”

ปูนปั้นตอบว่า “ก็มันมีเครื่องยนต์ อันอื่นไม่มี”

ผมตอบไปว่า “หนูก็ตอบถูกแล้วนี่นา”

ปูนปั้นถามว่า “แล้วทำไม คุณครูบอกว่าผิด”

ผมถามว่า “คุณครูเฉลยว่าอะไร”

ปูนปั้นตอบว่า “คุณครูเฉลยอันนี้ เพราะอันนี้ขนคน อันอื่นขนของ”

ผมอธิบายว่า “ครูก็ตอบไม่ผิด ปูนปั้นก็ไม่ผิด มันผิดที่ข้อสอบไม่ชัดเจน และคนออกข้อสอบควรจะต้องชัดเจน”

และพูดต่อว่า “ปูนปั้นตอบไม่ผิดนะ เชื่อป๊าสิ”

 

ในขณะที่เด็กน้อย ตามห้องติว เริ่มถูกแรงบางอย่างดูดแสงกลับไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเขาจะยอมจำนนว่า ไม่ต้องมีแสงก็ได้ในห้องสี่เหลี่ยมๆ นั้น เพราะในห้องมีหลอดไฟสว่างจ้า และเพียงว่าตามคนข้างหน้าห้อง ก็ได้รับเสียงปรบมือแล้ว

ใครกันหนอที่เป็นคนทำให้แสงนั้น จางลง

ใครกันหนอที่เริ่มหรี่แสงในเด็ก … จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่ไร้แสงสว่างในตัวเอง

จากเด็กน้อยดาวฤกษ์ กลายเป็นหลุมดำ ที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ไม่ฉายความสดใสและความสุข


>>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค

หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<

ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก
ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก เพจหมุนรอบลูก

บทความน่าสนใจอื่นๆ

เลี้ยงลูกเชิงบวก คุยกับลูกแบบนี้ ไม่ต้องตี ลูกก็เชื่อฟัง

ทำไมลูกกลัวผี สอนลูกไม่ให้ กลัวผี ทำอย่างไร โดย พ่อเอก

4 ประโยชน์ที่ลูกจะได้จากการเล่น “พับกระดาษ”

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up