‘เราเริ่ม อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ตอนอายุเท่าไหร่’ ถ้าจำไม่ผิดคงจะเริ่มตอนอายุประมาณ 3 เดือน แต่เป็น 3 เดือนอายุครรภ์นะฮะ ฮ่าฮ่าฮ่า คือ อ่านให้ฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์หม่ามี๊เลย ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะเร็วไปนิด เพราะตอนนั้น อวัยวะส่วนการฟังของเจ้าปูนปั้นกับปั้นแป้ง อาจจะยังไม่พัฒนาพอ แต่เราเชื่อว่าลูกแฮปปี้เพราะเขารับรู้ความแฮปปี้ผ่านทางอารมณ์หม่ามี้ได้ และ ดังนั้นมีกิจกรรมอะไรที่ทำให้หม่ามี้แฮปปี้ ปะป๊าก็จะพยายามทำให้ เราเล่านิทาน ร้องเพลง กล่อมนอนให้เขาฟังตั้งแต่ตอนนั้น แต่จริงๆ เด็กจะเริ่มได้ยินหลังอายุครรภ์เกิน 3 เดือนไปไม่นานนัก
แล้ว อ่านหนังสือให้ลูกฟัง มันมีประโยชน์ตรงไหน เพราะเขาก็ฟังไม่รู้เรื่องอยู่ดี? มีสิครับ เพราะเขาจำเสียงเราได้ ตอนเขาลืมตาออกมาดูโลก เขาคุ้นเสียงใครมากกว่า คนนั้นกุมความได้เปรียบ อย่าทำเป็นเล่นไป และในตอนที่ยังอยู่ในพุงหม่ามี้ เราก็เชื่อว่า เขารอเวลาที่จะออกมาคุยกับเราเช่นกัน
‘เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการ อ่านหนังสือให้ลูกฟัง’
-
เคยเจอปัญหาว่า ลูกไม่ยอมฟังเราเล่านิทานมั้ย
เรื่องนี้ผมว่าปัญหาอยู่ที่ตัวเรา คือ คุณพ่อคุณแม่ ไม่ใช่อยู่ที่ลูก สังเกตตัวเราว่า เวลาเราอ่านนิทานให้ลูกฟัง เราสนุกไปด้วยมั้ย เพราะถ้าเราสนุกไปด้วย เสียงเราจะไม่โมโนโทน แต่น้ำเสียงในการเล่าจะไปตามอารมณ์เรื่อง เราได้ใส่อารมณ์และท่าทางเข้าไปด้วยมั้ย ถ้าลูกยังไม่สนุก เล่าไปแสดงตามเนื้อเรื่องไปด้วยก็ช่วยได้ แน่นอนบ้านเรา หม่ามี้กับปะป๊าเคยแสดงนิทานหลายเรื่องให้ปูนปั้นกับปั้นแป้งดู
-
เจอปัญหาว่าลูกจะเอาแต่เปิดข้ามๆ ไปเรื่อยๆ มั้ย
ปัญหานี้ครอบครัวเราต้องขอบพระคุณคุณหมอพัฒนาการเด็กท่านหนึ่งที่ปะป๊าเคยขึ้นเวทีร่วมกับท่าน และท่านได้แนะนำในเรื่องนี้ว่า ‘เราต้องเป็นคนคุมเกมส์’ เราต้องเป็นผู้จับหนังสือ เป็นผู้เปลี่ยนหน้าเอง ไม่ใช่ลูก เท่านั้นเอง กลับมาถึงบ้านเด็กๆ ก็มาอยู่ในเกมส์การอ่านของเรา 555
-
อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เราควรนั่งอ่านหนังสือในลักษณะแบบไหนดี
มีบางท่านแนะนำว่า นั่งตรงข้าม เพื่อที่เราจะได้เห็นสายตาลูก จะได้รู้ว่าท่อนไหน ที่เขาสนใจ ไม่สนใจ เขาสนุกตรงไหน เราจะได้ขยี้ๆๆๆๆ จุดนั้น อย่าให้หลุด เอาให้สุด แต่เราครอบครัวเราเอง ชอบนั่งข้างๆ กัน เพราะปูนปั้นเอง ก็มีส่วนร่วมกับการเล่าเรื่องไปด้วยตลอดทั้งเล่มและปูนปั้นก็ชอบให้นั่งข้างๆ มากกว่าตรงข้าม
-
เล่าไปถามไป
การเล่าเฉยๆ ไม่สนุกเท่ากับ เล่าไปถามไป จะได้รู้ว่าลูกสนใจมั้ย และเป็นการดึงความสนใจ อีกทั้งเพิ่มความสนุกเข้าไปด้วย แต่ถ้าลูกตอบผิด อย่าได้ใส่ใจ อย่าทำเป็นเรื่องใหญ่ … ให้นึกว่า ‘ปล่อยเจ้าตอบเจ้าเล่าไป ตามใจเจ้าฝัน’
-
แล้วหนังสือแบบไหนที่น่าอ่าน
สั้นๆง่ายๆ ‘หนังสือที่ลูกเลือกสิครับ’
ทำได้ขนาดนี้ รับรองลูกจะสนุกกับการอ่านหนังสือแน่นอน เหมือนเจ้าปูนปั้นกับปั้นแป้งที่จะต้องมี คืนละ 3 เล่มเป็นอย่างน้อย และถือเป็นเรื่องสำคัญก่อนนอนทีเดียว
และแม้ว่าจริงๆ แล้วตอนนี้ปั้นแป้งจะยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่ปั้นแป้งสามารถเล่านิทานสนุกๆๆๆๆ จากในเล่ม ที่ไม่เหมือนเนื้อหาในเล่ม ให้เราฟังได้นะเออ เป็นนิทานที่ยังไม่มีใครเคยอ่าน และเป็นนิทานที่จะถูกเล่าครั้งเดียว เท่านั้น
ส่วนพี่ปูนปั้นตอนนี้ทุกคืนสามารถอ่านหนังสือนิทานภาษาอังกฤษสำหรับเด็กที่มีภาพประกอบได้คืนละเล่ม เล่มนึงก็มีเนื้อหาประมาณ 30 หน้า ซึ่งเขาอ่านได้ชิลๆ
เห็นมั้ยครับ ถ้าไม่ให้เขารักการอ่านแต่เด็กจะให้ไปเริ่มตอนไหน และเมื่อเขารักการอ่าน คุณจะรู้ว่านอกจากลูกจะได้ประโยชน์แล้ว เวลาต้องเตรียมสอบ เราผู้เป็นพ่อแม่จะสบายมากขึ้นหลายเท่า
>>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค
หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<
บทความน่าสนใจอื่นๆ
แชร์เทคนิค”สอนลูกให้รู้จักรับผิดชอบ”ตั้งแต่เด็ก
“ลูกทำผิด” เทคนิคสอนลูก แบบไม่ต้อง “ทำโทษ”
แนะนำ 4 “บอร์ดเกม” ฝึกลูกสมองไว ไหวพริบดี
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่