เป็นเรื่องปกติ ที่เวลาลูกมาถามอะไร หรือมาให้สอนอะไร เราผู้ซึ่งเป็น คุณพ่อคุณแม่ซึ่งผ่านเรื่องราวเหล่านั้นมาแล้ว และก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องง่ายๆ ก็มักจะตอบหรือสอนว่าควรทำอะไรอย่างไร แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราสามารถ สอนให้ลูกคิดเอง ก่อนที่จะตอบคำถามลูก แม้ว่าคำตอบที่เขาตอบมาอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ไม่ใช่วิธีที่ง่ายที่สุดก็ตาม
ผมเชื่อว่า ในโลกที่ลูกเรากำลังเติบโตขึ้นมา มันจะไม่สามารถใช้สูตรและสมการที่คนรุ่นเราใช้และประสบความสำเร็จมาแล้วได้ เพราะทางเลือกอันมากมาย จากการพัฒนาทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การรู้จักคิดตั้งโจทย์เอง คือ สิ่งที่สำคัญกว่า การแก้ปัญหาโจทย์ แบบที่คนรุ่นเราโตขึ้นมา
การจะ สอนให้ลูกคิดเอง หาคำตอบเอง มันคือการกระตุ้นให้รู้จักการตั้งโจทย์เอง เพราะพอมีปัญหานึง เขาจะเริ่มตั้งโจทย์ย่อยว่า ว่าทำไม อะไร อย่างไร แล้วหาทางแก้ปัญหา แต่นั่นแหละการจะกระตุ้นให้ลูกรู้จักคิดเอง มันก็มีความยากของคุณพ่อคุณแม่อยู่มี 2 อย่าง คือ
- จะยับยั้งใจตัวเองไม่ให้รีบให้คำตอบได้อย่างไร ซึ่งเหตุการณ์ตัวอย่างการปล่อยน้ำออกจากสระยางที่ผมจะเล่าให้ฟังข้างล่างเป็นตัวอย่างนึงว่า ถ้าเราบอกว่า ต้องทำแบบเรา เขาก็อาจจะทำแบบเรา แต่พอเราไม่บอก เขาอาจจะได้คำตอบและวิธีที่ดีกว่าเสียอีก
- จะยับยั้งใจตัวเองไม่ให้ตัวเองไปด้อยค่าคำตอบของลูก โดยยังไม่ได้ให้โอกาสเขาได้ลอง สมมติ มีของเล่นบางอย่างที่แตกหัก เด็กเข้าใจว่ากาวที่เราใช้แปะกระดาษมันสามารถแปะทุกอย่างในโลกได้ ถ้ามันไม่เสียหายอะไร ผมจะพยายามให้เขาลองก่อน เขาก็จะเรียนรู้ว่าได้หรือไม่ได้แล้วค่อยๆ ปรับหาวิธีที่ดีขึ้น เพราะหากเราไปเบรกเขาแต่ต้นทุกครั้ง แล้วบอกว่าต้องทำอย่างไร เขาก็จะเติบโตด้วยการเดินมาถามหาคำตอบ มากกว่าหาคำตอบด้วยตัวเอง
เทคนิค สอนให้ลูกคิดเอง หาวิธีแก้ปัญหาเองได้
เมื่อช่วงล็อคดาวน์กลางปี 2563 ช่วงนั้นสระน้ำยางเป็นของฮิตประจำครอบครัวที่มีเด็กเลย ครอบครัวเราเองก็เช่นกัน มีวันหนึ่งเราก็ลงเล่นน้ำในสระยางกับลูก พอได้เวลาเลิกเล่นก็จะต้องปล่อยน้ำออก ซึ่งวิศวกรความรู้ท่วมหัวอย่างผม ปกติถ้าเป็นคนปล่อยน้ำออก ก็จะทำตามขั้นตอนที่ควรทำคือ เปิดจุกที่อุดน้ำออก เพื่อปล่อยน้ำไหลออกไปตามรู ซึ่งรูของสระยางก็จะไม่ใหญ่นัก แต่ละครั้งก็ใช้เวลานานอยู่ เพราะสระยางมีขนาดยาวประมาณ 2.6 เมตรก็จุน้ำได้ไม่น้อย แต่วันนั้นพอเล่นเสร็จผมเดินเข้ามาหยิบของในบ้าน พี่ปูนปั้นก็ตะโกนขึ้นว่า
“ป๊าครับ… ปูนปั้นปล่อยน้ำเลยนะ”
แต่แทนที่พี่ปูนปั้นจะเปิดจุกปล่อยน้ำ พี่ปูนปั้นใช้วิธีเปิดจุกปล่อยลมสระแทน แป้บเดียวเท่านั้นเองสระก็ยวบแฟบลง แล้วน้ำหนักของน้ำก็ไหลครืนออกจะสระเกลี้ยงในแป้บเดียว ผมเดินมาเห็นก็หัวเราะกร๊าก แล้วก็บอกลูกว่า
“เออนั่นสิ…แบบนี้ เร็วกว่าตั้งเยอะ”

———————-
อีกวิธีนึงที่ผมใช้ฝึกให้ลูกคิดเอง (ซึ่งจริงๆ ส่วนนึงก็ต้องขอบคุณวิธีการสอนของโรงเรียนที่ลูกอยู่ด้วยที่ชอบปล่อยให้เด็กคิดเองหาวิธีเอง) ผมมักจะให้ โจทย์ง่ายๆ ที่ต้องไปคิดวิธีการเอง เช่น เมื่อสัปดาห์ก่อนผมบอกให้ลูกไปหาขนาดของพื้นที่ของที่จอดรถของบ้านเรา
ลูกก็เริ่มคิด ทีแรกก็นึกไม่ออกว่าจะไปวัดอย่างไร (ไม้บรรทัดมันคงสั้นไป) ผมก็เลยถามว่า เวลาจะวัดอะไรยาวๆ เราใช้อะไรวัดดี ทีแรกลูกบอกไม้เมตร ผมก็บอกว่า นั่นก็โอเคเนอะ แต่เราไม่มีอะไร เขาก็นึกต่อแล้วก็ อ้อออ ตลับเมตร แล้วเขาก็ไปหยิบตลับเมตร พร้อมชวนน้องสาวออกไปด้วย (เพื่อช่วยก็จับสายวัด) สักพักทั้ง 2 กลับมาพร้อมรูปสี่เหลี่ยมที่มีความกว้าง ยาว ตามที่วัดมา คราวนี้ก็เกิดคำถามต่อมาแล้วจะตอบเป็นขนาดพื้นที่ได้อย่างไร ในที่สุดก็ออกมาเป็นการตีตารางเป็นช่องแล้วนับเป็นจำนวนช่อง ซึ่งนั่นก็ถูกต้อง และนั่นคือที่มาของคำว่า ตารางเมตรของสูตรในการหาพื้นที่ที่เราเรียนกันมาแต่เด็กนั่นแหละ (ปล. ผมเคยสอน โดยเอาตัวเลโก้ที่ยาวเท่าๆ กัน เป็นแถวๆ มาเรียงหลายๆ ตัว เขาก็ได้เรียนรู้ว่ามันคือการบวกจำนวนเท่าๆ กันหลายๆครั้ง แล้วต่อมาเขาก็เข้าใจว่ามันคือการคูณ) พอทำเสร็จมันก็เลยได้ข้อสรุปเป็นสูตรการหาพื้นที่สี่เหลี่ยมไปเลย (เราเรียนตอนเด็กๆ โดยท่องสูตร กว้างคูณยาว แล้วก็ได้คำตอบ แต่วิธีแบบนี้จะทำให้เด็กหาสูตรเองโดยไม่ต้องท่องจำ)

อีกหนึ่งวิธีที่ผมพยายามทำเสมอคือ ไม่ว่าลูกจะมาถามอะไร ผมพยายามจะตั้งคำถามกลับว่า แล้วลูกคิดว่า มันเกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วลูกคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรดี แต่อย่าลืมนะครับ ถ้าถามลูกแล้ว กลับไปเตือนตัวเองข้อ 1) และ 2) ข้างบนด้วยครับ
การสอนให้ลูกคิดเองได้ คิดเองเป็น หาวิธีแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เป็นหนึ่งใน 10 ความฉลาด Power BQ ที่เด็กยุคนี้ต้องมี Thinking Quotient (TQ) ฉลาดคิดเป็น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างเสริมให้ลูกได้ เพื่อให้ลูกประสบความสำเร็จในแบบของเขาเอง ตามตัวอย่างที่พ่อเอกได้แนะนำไว้ คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้ไม่ยากเลย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ชวนลูกทำอาหาร “สร้างความมั่นใจ” ติดตัวไปจนโต โดย พ่อเอก
6 ข้อดีที่ผมได้เรียนรู้ จากประสบการณ์ พาลูกท่องเที่ยว โดย พ่อเอก
5 เทคนิค อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เริ่มตอนไหน? อ่านยังไง? โดย พ่อเอก
แชร์เทคนิค”สอนลูกให้รู้จักรับผิดชอบ”ตั้งแต่เด็ก โดย พ่อเอก
แชร์ประสบการณ์ ฝึกวินัยการกินให้ลูก กินข้าวตรงเวลา โดยพ่อเอก
>>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค
หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่