คุณพ่อคุณแม่เชื่อว่าเด็ก 3-4 ขวบ มีความรับผิดชอบได้มากแค่ไหน? ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่น่าจะคิดว่า ‘อย่าเพิ่งไป serious อะไรกับเด็ก เด็กก็คือเด็ก’ ถูกเลยฮะ เด็กก็คือเด็ก … แต่ทำไมคิดว่า ‘เด็กยังไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เลยไม่ สอนลูกให้มีความรับผิดชอบ ’ หรือจริงๆ แล้ว ‘เราเองที่ไม่เชื่อ จึงไม่ใช้เวลากับเรื่องนี้มากพอ’
เพราะการสอนให้เด็กรู้จักความรับผิดชอบ ใช้เวลามากกว่าสอนเด็กโตเยอะนัก … แต่ไม่ใช่ว่า เขาสอนไม่ได้ และถ้าเลือกไม่สอนตอนนี้ เมื่อเขาโตพอ ที่จะสอนได้ มันก็ไม่ง่ายที่เขาจะทำตาม
ผมเริ่มสอนให้ปูนปั้นเรียนรู้คำว่า responsibility ตั้งแต่ 2-3 ขวบ ซึ่งดูท่าเขาจะชอบใจมาก เมื่อรู้คำอธิบายและยิ่งดีใจเมื่อได้รับคำชมว่าเขามี responsibility ผมยกตัวอย่างให้ฟัง 3 เรื่องครับ
สอนลูกให้มีความรับผิดชอบ เรื่องแรก : ผมชงน้ำแดงให้ปูนปั้นดื่มแล้วผมก็งีบไป พอตื่นขึ้นมา ปูนปั้นก็เดินมาบอกว่า “ปูนปั้นทำน้ำแดงหก” แล้วจูงมือผมไปดูที่ครัวว่า น้ำหกตรงนี้ แต่ “ปูนปั้นไปเอาผ้ามาเช็ดแล้วครับ” ผมชมเขา แล้วแตะๆ พื้น มันยังเหนียวอยู่ ปะป๊าเอื้อมไปเอาทิชชู่เปียกจะมาเช็ด ปูนปั้นขอเช็ดเอง พร้อมคำพูดว่า“ทำหกเองก็ต้องเช็ดเองใช่มั้ยครับ”
สอนลูกให้มีความรับผิดชอบ เรื่องที่ 2 : ปูนปั้นออกไปช่วยผมเล็มต้นไม้ เรียกว่าไปป่วนดีกว่าแต่เขาก็สนุกกับทุกอย่างที่เป็นเรื่องใหม่ๆ พอเล็มเสร็จ ปกติผมก็จะกองๆ ไว้ที่พื้น แล้วว่างๆ จะมาเก็บอีกที ปูนปั้นถามผมว่า “Is it good?” (ที่จะทิ้งมันไว้อย่างนี้) แล้วก็ตอบเองว่า “It’s not good na krub Papa” ผมเลยต้องไปหยิบถุงมาแล้วเจ้าตัวป่วนก็ช่วยเก็บ
สอนลูกให้มีความรับผิดชอบ เรื่องที่ 3 : เราไม่สนับสนุนให้ปูนปั้นดูจอ แต่ตอนนั้นปูนปั้นใกล้ 4 ขวบแล้ว เราก็จะยอมบ้างเป็นกรณี ถ้าเป็นเรื่องราวที่ดี เช่น สัตว์ อวกาศ รถไฟ เป็นต้น แต่ไม่มีเด็ดขาด พวกยอดมนุษย์หรือการ์ตูนรุนแรงทั้งหลาย ช่วงนั้นที่ปูนปั้นชอบมากเลยก็จะพวก ยานอวกาศ, ดาวเทียม , จรวด, ดาวเคราะห์ต่างๆ ไปจนถึงแรงโน้มถ่วง (โอ้ยยย อธิบายแทบจะไม่ถูก เวลามีคำถาม) วันหนึ่งปูนปั้นขอดู clip การปล่อยยานอวกาศ ผมโอเคว่าให้ดูแค่ 2 คลิปนะ (คลิปนึงประมาณ 5-8 นาที) แล้วผมก็ยื่นมือถือให้ แล้วก็ทำไม่สนใจ สักพัก ปูนปั้น หยิบมาคืน “Papa krub, I watched 2 clips already”
เด็กสอนได้ เด็กรู้จักความรับผิดชอบ เราพร้อมจะเหนื่อยอธิบายหรือป่าว? เพราะความเหนื่อยไม่ได้อยู่ที่การอธิบาย แต่อยู่ที่อธิบายจนเขาสามารถอธิบายกลับให้เรารู้ว่าเขาเข้าใจอย่างไร เพราะการส่งเสริม ไม่ได้อยู่ที่การพยายามบีบบังคับ แต่อยู่ที่พยายามให้กำลังใจเขาทุกครั้ง ชมลูกทุกครั้งที่เขาทำดี
อ้อ เรื่องอันตรายทิ้งท้ายอีกนิดครับ ยุคนี้เป็นยุคที่เด็กน่าสงสารเพราะต้องโดยติวๆๆๆ จนแทบไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเด็กๆ แต่จะมีผู้ปกครองอีกสายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนั้นและอยากให้ลูกใช้ชีวิตแบบเด็ก ซึ่งตรงนี้เราเห็นด้วยและเราก็มาสายนี้ แต่ก็ทำให้เกิดคำเรียกประมาณว่า พ่อแม่สายชิล ซึ่งความอันตรายมันไปอยู่ที่การตีความคำว่าชิลแบบผิดๆ บางอย่างมันไม่ใช่ชิลแต่มันคือการสอนให้ลูกไม่มีระเบียบวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ และนั้นจะปลูกฝังความเข้าใจผิดไปในตัวเด็ก เช่น การไปโรงเรียนสาย, การไม่ทำการบ้าน, การโวยวายวิ่งในร้านอาหารและพ่อแม่มองว่าไม่เป็นไรเด็กๆ ก็ต้องซน, การที่เห็นเด็กทิ้งของ ทำของหก ในที่สาธารณะและคุณพ่อคุณพ่อปล่อยผ่าน เป็นต้น เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องชิลนะครับ
เด็กก็คือเด็ก ถ้าคุณสอนถูกต้อง เขาก็จะทำถูกต้อง แต่ถ้าสอนผิดเขาก็เป็นอย่างที่คุณสอน
ต่อให้เขาเคยทำดี แต่เด็กก็คือเด็ก อาจจะทำแค่ครั้ง สองครั้ง แล้วเขาเลิกทำ ถ้าคุณหมดกำลังใจ มันก็จบ แต่หากคุณพูดคุยกับเขาต่อ คุณทำให้เขารู้ว่า ‘ภูมิใจและชื่นชม’ เดี๋ยวเขาเขาจะกลับมาทำต่อ
เคล็ดลับ สอนลูกให้มีความรับผิดชอบ มันอยู่ตรงนี้ครับ
- ยอมเหนื่อยที่จะอธิบายซ้ำ บนรอยยิ้ม
- คุณหมอพัฒนาการท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า เด็กทำดี ไม่ใช่เรื่องคุณธรรม ศีลธรรม เพราะเขาอาจจะยังไม่เขาใจ เขาทำเพราะอยากได้รับคำชม ดังนั้น อยากให้เขาทำดี ต้องชมเขา เมื่อเขาทำดี และเมื่อทำดีบ่อยๆ เขาเติบโตเรียนรู้ เรื่องคุณธรรมศีลธรรม มันก็จะส่งเสริมต่อไปเอง
>>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค
หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<
บทความน่าสนใจอื่นๆ
“ลูกทำผิด” เทคนิคสอนลูก แบบไม่ต้อง “ทำโทษ”
แนะนำ 4 “บอร์ดเกม” ฝึกลูกสมองไว ไหวพริบดี
“ลูกช่างถาม” รับมืออย่างไร ไม่ขัดพัฒนาการลูก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่