อยากเลี้ยงลูกให้ (ทุกคน) มีความสุข

Alternative Textaccount_circle
event

            ความเดิม สวัสดีค่ะคุณหมอ คุณแม่ถกเถียงกับคุณพ่อเกี่ยวกับสภาพสังคมปัจจุบันที่มีสิ่งเร้าและสิ่งที่คุกคามเด็กมากมาย ซึ่งบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็อาจทำในสิ่งที่ฝืนใจลูก เพราะตามใจเขาไม่ได้ทุกเรื่อง คุณแม่คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นแต่อาจทำให้เขาไม่มีความสุข (ขณะนั้น) เลยมาคิดกันกับคุณพ่อว่าเราคงไม่สามารถอาศัยประสบการณ์ที่เคยได้รับการเลี้ยงดูในวัยเด็กมาเลี้ยงลูก 2 คนทั้งหญิงและชายได้ จึงอยากปรึกษาคุณหมอค่ะว่าเราควรเลี้ยงลูกอย่างไรลูกจึงจะเป็นเด็กที่มีความสุข และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายของสังคมในวันข้างหน้าคะ

            เคล็ดลับในการเลี้ยงลูกให้มีความสุข ต่อจากฉบับที่แล้วมีดังต่อไปนี้ค่ะ

 

สร้างให้เป็นนิสัย – เป็นคนสุขง่าย

วิธีที่ลูกจะเป็นคนที่มีความสุขได้อย่างยั่งยืน คือ การพัฒนาให้เป็นคนที่มีความสุขง่ายๆ จนติดเป็นนิสัย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ทำได้ด้วยการช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จกับสิ่งที่เขาทำ (ไม่ใช่ล้มเหลวตลอดเวลา) โดยเวลาที่เขาเล่น หรือเผชิญกับปัญหาอะไรในชีวิตประจำวัน แทนการเข้าไปช่วยคิดช่วยทำแทน คุณพ่อคุณแม่ควรกระตุ้นให้เขาคิดด้วยตัวเองก่อน และช่วยสนับสนุนเขาโดย

  1. ตัดสิ่งเร้าอื่นออกไปเพื่อให้ลูกมุ่งมั่นกับสิ่งที่กำลังทำอยู่
  2. ให้ลูกตั้งเป้าหมายทีละหนึ่งอย่าง หากมีหลายๆ เป้าหมาย หรือหลายๆ ปัญหาในเวลาเดียวกันจะทำให้เสียกำลังใจและล้มเลิกได้ง่าย ควรเลือกเป้าหมายหรือปัญหาที่แก้ง่ายก่อน
  3. สนับสนุนให้ลูกมุ่งมั่นทำ โดยไม่เน้นผลเลิศในครั้งเดียว ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ปรับปรุง ถ้าไม่สำเร็จมีวิธีอื่นอีกมั้ย หมั่นตั้งคำถามเพื่อเสริมแรงให้เขาพยายามต่อไป

 

ปลูกฝังให้ลูกมีวินัยในตนเอง

สิ่งสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ใช่ความฉลาด แต่เป็น “วินัยในตนเอง” ของคนๆ นั้น ซึ่งเด็กที่มีวินัยในตนเอง คือ เด็กที่รอคอยได้ รับมือกับความคับข้องใจหรือความเครียดได้ เป็นคนที่รับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม โดยคุณพ่อคุณแม่เริ่มได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ฝึกให้เขารอ โดยใช้การนับ ไม่ยอมตามใจเขาเพียงเพราะเขางอแงอาละวาดเวลาไม่ได้ดั่งใจ สร้างกฎกติกาว่าลูกจะได้ของพิเศษที่นอกเหนือจากของใช้ที่จำเป็นในโอกาสใดบ้าง ไม่ใช่จะได้ทุกครั้งที่ต้องการ ฝึกมารยาทสังคมเบื้องต้นเวลาออกไปนอกบ้าน เช่น เข้าคิว ไม่ส่งเสียงดังในที่สาธารณะ ไม่ทิ้งขยะลงพื้น (โดยหวังว่าคนอื่นจะให้อภัยเพราะว่ายังเด็ก) รักษาของที่ใช้ร่วมกับคนอื่นไม่ทำเสียหาย หรือถ้าทำก็แสดงความรับผิดชอบ เช่น ไม่กดลิฟท์เล่น ไม่ขีดเขียนตามกำแพง เป็นต้น


เพิ่มเวลาเล่นอิสระให้กับลูก

            พบว่าเด็กยุคนี้มีเวลาเล่นน้อยลงกว่ายุคก่อนๆ เพราะมัวแต่ใช้เวลาหน้าจอ หรือคร่ำเคร่งเรียนและกวดวิชา หรือทำกิจกรรมพิเศษต่างๆ โดยยังไม่ถึงวัยอันควร เด็กจำนวนมากขาดโอกาสได้เล่นอิสระที่เด็กสร้างสรรค์เอง และเล่นร่วมกับเพื่อน ๆ ทั้งๆ ที่การเล่นอิสระโดยไม่ต้องติดกรอบหรือทำตามที่ผู้ใหญ่สั่ง เป็นการฝึกฝนทักษะเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการด้านสติปัญญา สังคมและอารมณ์ของเด็ก ที่โทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์ไม่สามารถสอนหรือปลูกฝังได้

หากอยากให้ลูกมีความสุขและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข คุณพ่อคุณแม่ต้องยอมลงทุนเพิ่มเวลานี้ให้กับลูก ยอมตัดใจและข่มใจที่จะไม่ทำตามกระแสคนรอบข้างที่พาลูกไปเรียนพิเศษตามที่ต่างๆ มากมายค่ะ

 

สร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อต้อนรับความสุข (ให้เข้ามาในชีวิตของเรา)

หากอยากให้ความสุขอบอวลอยู่ในบ้านและครอบครัว  คุณพ่อคุณแม่จะต้องอาศัยทั้งเวลาและความพยายาม โดยต้องทั้งสร้างสิ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่และลูกมีความสุข คือ หากิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว และกำจัดอุปสรรคที่จะทำให้สมาชิกในครอบครัวไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งมักจะเป็นโทรทัศน์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไอโฟน ไอแพ็ด ที่มาดึงให้สมาชิกในครอบครัวอยู่ในโลกของตนเอง

ทั้งนี้ กิจกรรมที่ควรทำร่วมกันในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ คือ การได้อยู่พร้อมหน้ากันที่โต๊ะอาหาร ได้กินข้าวมื้อเย็นร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่สมาชิกแต่ละคนไปทำในช่วงกลางวัน และสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กค่ะ

           

จะเห็นว่าการเลี้ยงลูกเพื่อให้เติบโตขึ้นอย่างมีความสุขและเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข พร้อมที่จะเผชิญความยากลำบาก ความท้าทาย ไม่ได้เป็นเรื่องยาก หากแต่ต้องการ “การอุทิศตัวให้กันของสมาชิกในครอบครัว” ซึ่งต้องอาศัยเวลา พลังใจและความต่อเนื่องค่ะ

 

เรื่องโดย : พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร
ภาพ : shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up