วิธีการจัดการเวลาที่ ลูกทะเลาะกัน จากคุณหมอผู้มี่ประสบการณ์

วิธีจัดการเวลา “ลูกทะเลาะกัน”

Alternative Textaccount_circle
event

ขอนำเสนอบทความที่ดีมาก เกี่ยวกับวิธีการจัดการเวลาที่ ลูกทะเลาะกัน เขียนโดย นายแพทย์ อิทธิฤทธิ์ จุฬาลักษณ์ศิริบุญ เจ้าของเพจชื่อดังในเฟซบุ้ค Dad Mom and Kids

การจัดการที่เหมาะสมและถูกต้องเมื่อพี่น้องทะเลาะกัน จะนำมาสู่สันติสุขและความเข้าใจอันดีภายในครอบครัว ทั้งนี้พ่อแม่คือบุคคลสำคัญที่ต้องรับบทบาทในการคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งนอกเหนือจากวิธีจัดการกับลูกแล้ว ทัศนคติและอารมณ์ของพ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญในการจัดการปัญหา ดังเช่นข้อคิดที่คุณหมอได้ฝากไว้

เวลา ลูกทะเลาะกัน พ่อแม่ต้องมีศิลปะในการจัดการอย่างสูง
ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ ทำในสิ่งที่ “ไม่ควรทำ” ซึ่งผมได้พูดไปบ้างแล้ว คือการยุ่งกับทุกกิจกรรมการใช้ชีวิต
ของลูก มีแต่เสียงสั่งให้ลูกคนนั้นทำอย่างโน้น คนโน้นทำอย่างนี้ . . . เรื่องราวเลยเละเทะบานปลาย
เด็กๆเต็มไปด้วยความอึดอัด ไม่มีความสุข มีแต่เสียงร้องไห้และวุ่นวายกันไปหมด >> แต่อีกหลายครั้ง
ผู้ใหญ่กลับไม่ทำในสิ่งที่ “ควรทำ”

สิ่งที่ “ควรทำ” เมื่อลูกๆทะเลาะกัน

1. หากมีการทำร้ายร่างกายกัน ต้องหยุดทันที

ส่วนหนึ่งที่พี่น้องทำร้ายร่างกายกัน มักเกิดในบ้านที่ “ผู้ใหญ่ตีเด็ก”
พ่อแม่ที่ลงโทษด้วยการตีลูก เป็นการสื่อให้ลูกว่า การทำร้ายร่างกาย เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะเวลาโกรธ

ไม่แปลกใจที่เวลาพี่น้องทะเลาะกัน แล้วมีการลงมือทำร้ายกัน เพราะมีต้นแบบอยู่ในบ้านเป็นหลัก

เด็กๆเวลาไม่พอใจกัน แล้วเริ่มทำร้ายกัน ผู้ใหญ่ต้องรีบหยุดทันที เช่น จับมือคนที่กำลังเงื้อมือ หรือเอาคนที่กำลังโดนเตะโดนตีออกไปก่อน

หยุดลูก แล้วต้องระงับอารมณ์ตัวเราเองด้วย ไม่ใช่ไปดุว่าขึ้นเสียงให้บรรยากาศแย่ลง

บอกคนที่กำลังลงมือว่า การทำร้ายกันเป็นเรื่องที่บ้านนี้ไม่ทำกัน เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

แต่บางครั้ง เด็กๆก็ใช้การตีโดยสัญชาตญาณเวลาที่ไม่พอใจ ยกตัวอย่างลูกคนเล็กของผม ตอนที่ยังเป็นวัยคลาน เวลาที่ไม่พอใจใครก็จะใช้วิธีการตี แน่นอนว่าในบ้านไม่ได้มีใครใช้การตี

ผมไม่ปล่อยให้ลูกตี ไม่ว่าจะตีผู้ใหญ่ หรือตีพี่ชายเค้า ผมจับมือทุกครั้งแล้วบอกว่า “ตีไม่ได้ ตอนนี้หงุดหงิดใช่ไหม”

ลูกสู้นะครับ ผมก็แค่จับอย่างมั่นคง และบอกซ้ำว่า ตีไม่ได้
กว่าคนเล็กจะเลิกตี กินเวลานานพอสมควร จนในที่สุดก็เข้าใจและไม่ตี

2. ต้องจับลูกแยกกัน เมื่อเริ่มมีการใช้วาจายั่วอารมณ์

ถ้าเริ่มเห็นแล้วว่า มีการโกรธกันมาก และเริ่มใช้คำพูดโต้กันไปมาแบบรุนแรงมากขึ้น อย่าปล่อยให้เกิดการทะเลาะกัน แล้วพ่อแม่ก็เอามาตีหมดเหมือนที่หลายๆคนทำ ไม่ถูกต้อง

ต้องจับแยก เอาใครสักคนมานั่ง แยกออกไป เอาลูกมากอดไว้ แล้วให้ลูกเล่าเหตุการณ์ หรือระบายอารมณ์ด้วยคำพูดออกมา โดยแค่แสดงความเห็นอกเห็นใจ อย่าเพิ่งรีบตัดสิน

ถ้าลูกต่างคนอยากแย่งกันเล่า ให้เล่ากันทีละคน โดยคนที่เล่าต้องไม่ถูกขัดจังหวะ

เด็กๆโกรธง่ายหายเร็วครับ แค่มีคนที่เข้าใจเค้า เดี๋ยวก็หายโกรธแล้ว บางทีลืมไปด้วยซ้ำว่าเมื่อกี้ทะเลาะอะไรกัน

บางครั้งลูกๆอาจเหนื่อยเกินไป เริ่มง่วง อาจจะปะทะกันบ่อย ถ้าใกล้เวลานอน ก็แค่จับนอนเร็วหน่อยครับ

3. สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องไม่ทำให้บรรยากาศแย่ลงไปอีก

บางครั้งเราเหนื่อย ทำให้หงุดหงิดง่ายไป ต้องระวังใจในเรื่องนี้
การดุว่า หรือบ่น ยิ่งทำให้อะไรๆแย่ลง

การตี เป็นสิ่งต้องห้าม เพราะไม่ได้แก้ปัญหา แค่เป็นการใช้กำลังหยุดลูกที่อ่อนแอกว่าแค่นั้น

*****

ตัวผมเองก็ยังต้องฝึกเรื่องนี้ทุกวัน

สิ่งที่สำคัญมากคือการมีความรู้ที่ถูกต้อง และเมตตาลูก รักลูกให้มากขึ้น ความรักจะช่วยลบล้างความผิดทั้งปวง


ขอบคุณข้อมูลจาก Facebook Dad Mom and Kids

ภาพจาก www.theguardian.com

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up