เคยสงสัยกันไหมว่า การ์ตูนดิสนีย์ เจ้าหญิงแอเรียล เงือกน้อยที่ดัดแปลงจากนิทานแสนเศร้า แล้วทำไมดิสนีย์ถึงต้องเปลี่ยนให้จบแบบ Happy Ending ด้วยนะ
การ์ตูนดิสนีย์ เจ้าหญิงแอเรียล ทำไมต้อง Happy Ending?
หากพูดถึงเจ้าหญิงดิสนีย์แล้ว มีมากมาย แตกต่าง หลากหลายคาแรกเตอร์ เด็ก ๆ หลาย ๆ คนคงมีเจ้าหญิงประจำใจกันอย่างน้อยคนละคาแรกเตอร์ ทางเว็บไซต์ BuzzFeed เคยทำโพลเจ้าหญิงดิสนีย์ในดวงใจ ซึ่งจากการโหวตกว่า 140,000 เสียง เจ้าหญิงแอเรียล เจ้าหญิงเงือกน้อยของเรามาเป็นอันดับ 2ด้วยคะแนน 24,100 คะแนน รองจากอันดับหนึ่ง เจ้าหญิงเบลล์แห่ง Beauty and The Beast ที่ได้ 25,800 คะแนน จึงไม่แปลกใจเลยว่า เจ้าหญิงเงือกน้อย เป็นนิทานประจำบ้านแทบทุกบ้านที่มีลูกสาว และเด็ก ๆ ต่างคงเคยอยากเป็นเจ้าหญิงเงือกกันเป็นแน่แท้
เจ้าหญิงเงือกแบบฉบับดิสนีย์ งานนี้ไม่มีน้ำตา
เจ้าหญิงแอเรียลเป็นเจ้าหญิงในลำดับที่ 4 ของเจ้าหญิงดิสนีย์ และเป็นเจ้าหญิงองค์เดียวที่มีบทบาทของการเป็นแม่ของลูกตนเองอย่างแท้จริง เจ้าหญิงแอเรียลมีลักษณะเฉพาะของตัวเองที่เด่นชัด เช่น ผมยาวสีแดงที่ดูมีน้ำหนัก ตาสีฟ้า หางเงือกสีเขียวอมน้ำเงิน(ที่ทางดิสนีย์ได้คิดค้นสีเขียวแบบพิเศษให้ในห้องแลปจนตั้งชื่อสีโทนนี้ว่า “สีแอเรียล” เลยทีเดียว) และชุดว่ายน้ำชิ้นส่วนบนของผู้หญิงที่เป็นรูปฝาหอยสีม่วง เรื่องราวในภาพยนตร์และจอทีวี เจ้าหญิงแอเรียลเป็นลูกสาวคนที่ 7 ของราชาไทรทัน (Triton) และราชินีอาเธน่า (Athena) แห่งอาณาจักรใต้น้ำ เมอโฟร์ก (Merfolk) เจ้าหญิงแอเรียลมีความดื้อรั้นอยู่ในตัวบ่อย ๆ เนื่องจากความอยากรู้อยากเห็นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกมนุษย์ เธอเป็นเจ้าหญิงเงือกที่เรียกได้ว่าหลงใหลความเป็นมนุษย์อย่างมากชอบฟังเรื่องราวของเหล่ามนุษย์บนบกจากย่าของเธอ ชอบเก็บสะสมสิ่งของ ๆ มนุษย์ที่หล่นลงมาใต้น้ำจากเหตุเรือล่ม และเฝ้ารอคอยให้ได้มีอายุครบ 15 ปี ซึ่งบรรดาเงือกทุกตัวจะได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปเหนือน้ำได้ เจ้าหญิงแอเรียลได้แต่งงานกับเจ้าชายเอริค (Eric) บุคคลที่เธอช่วยชีวิตไว้หลังจากเรือล่ม ซึ่งกว่าจะได้ครองรักกันเธอต้องผ่านความยากลำบากมากมายเพื่อมาพิสูจน์รักแท้ของเจ้าหญิงแอเรียลที่มีต่อเจ้าชายที่เธอหลงรักตั้งแต่แรกเห็น ด้วยความที่เป็นรักต่างสายพันธุ์จึงทำให้เกิดปัญหาขวางกั้นมากมาย แต่เจ้าหญิงแอเรียลก็สามารถฟันฝ่าจนทำให้เจ้าชายเอริครักตอบเธอได้ และทั้งคู่ก็ได้มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนชื่อเมโลดี้ (Melody) แล้วเรื่องราวของหนัง การ์ตูนดิสนีย์ เจ้าหญิงแอเรียลก็จบลงอย่าง Happy Ending
เจ้าหญิงเงือกในนิทาน ที่แสนเศร้าเกินกว่านิทานเด็ก
คุณแม่รู้กันหรือไม่ว่า…ต้นแบบของหนัง การ์ตูนดิสนีย์ เจ้าหญิงแอเรียล เจ้าหญิงเงือกน้อยนั้นมาจากนิทานอันแสนเศร้าของนิทานเรื่อง Den Lille Havfrue ต้นฉบับของ The Little Mermaid ที่ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน เป็นผู้แต่งนิทานเรื่องนี้ คุณแม่จะพบว่ามันเป็นนิทานดราม่าเคล้าน้ำตา เมื่อตอนจบไม่ได้ Happy Ending เพราะเจ้าหญิงแอเรียลของเราไม่ได้ครองคู่กับเจ้าชาย แถมยังต้องกลับกลายเป็นฟองคลื่นในทะเล ที่แม้แต่ผู้ใหญ่ยังต้องเสียน้ำตาเป็นแน่ เพราะความเสียสละเพื่อคนที่ตนรักของเจ้าหญิงแอเรียลในนิทานนั้น ยอมได้แม้คนรักจะไม่ได้รักตอบ ขอแค่เขามีความสุขก็พอ นับว่าเป็นตรรกะแห่งความรักที่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ พอจะเข้าใจได้ดี แต่คุณแม่รู้หรือไม่ว่า…ความเศร้า ความผิดหวัง สำหรับเด็กแล้วเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ แต่ละช่วงวัย ยังไม่สามารถเข้าใจได้แบบที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ แถมยังอาจไปสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในจิตใจเด็กอีกด้วย
ความเศร้าและการรับรู้เกี่ยวกับความตายของเด็กในแต่ละวัย
รศ.กนกรัตน์ สุขะตุงคะ
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเด็กแรกเกิด – ๒ ขวบ
ไม่เข้าใจเรื่องของความตาย อาจจะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศในบ้าน แสดงออกด้วยการกวน กินนอนไม่ปกติ ซึมถ้าคนที่ดูแลหายไปอย่างกะทันหันอายุ ๓-๖ ปี
พอจะเข้าใจเกี่ยวกับความตายแต่ก็คิดว่าจะกลับมาได้อีก อาจจะคิดโทษตัวเองว่าทำตัวไม่ดีเลยถูกลงโทษด้วยการให้มีการตายเกิดขึ้น มีโอกาสที่จะมีอาการถดถอยเช่นดูดนิ้ว ลงมือลงเท้า แสดงให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตรงๆ หรือทางอ้อมผ่านทางการเล่นที่แสดงถึงการกลัวการพรากจาก หรือการถูกทอดทิ้งอายุ ๖-๙ ปี
เริ่มเข้าใจว่าความตายคือการสิ้นสุดของชีวิต สามารถเข้าใจว่าทำไมจึงตาย หรือตายอย่างไร มองความตายไปในแง่น่ากลัวเช่นรู้สึกว่ามีผีหรือวิญญาณคอยติดตามตนเอง ทำเหมือนเข้าใจสภาวะการตายจริงๆแต่ในความเป็นจริงก็ยังเข้าใจไม่ถูกต้องทั้งหมด มีท่าทีเป็นห่วงเพื่อนหรือคนที่ตนเองรักจะตายจากอายุ ๙-๑๒ ปี
เข้าใจความตายชัดเจนมากขึ้น รับรู้ว่าความตายเป็นที่สุดของชีวิต อาจจะมีอารมณ์โกรธหรือรู้สึกผิดอย่างรุนแรง หมกมุ่นหรือสนใจอยู่กับการเจ็บป่วยทางกายที่อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ตายได้ กังวลกับผลที่จะเกิดขึ้นจากการตายของคนในครอบครัวเช่น ภาวะทางเศรษฐกิจ หรือตนเองจะอยู่ต่อไปอย่างไร แต่บางคนอาจจะแยกตัวและพยายามกลบเกลื่อนความรู้สึกที่แท้จริงวัยรุ่น
เข้าใจและรับรู้ความเป็นจริงเกี่ยวกับความตายได้อย่างผู้ใหญ่ รับรู้ว่าความตายว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มีคำจำกัดความส่วนตัวเกี่ยวกับความตายที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมของตน มักจะกลัวตายและพยายามหาทางเอาชนะความตาย ปฏิกิริยาต่อความกลัวตายแสดงออกด้วยการพยายามดูแลช่วยเหลือคนอื่น หรือตรงกันข้ามมีพฤติกรรมถดถอยลงไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
จากบทความของคุณหมอจะเห็นได้ถึงความแตกต่างของการรับรู้เรื่องความเศร้าของเด็กแต่ละช่วงวัย ดังนั้นการที่เราจะหยิบยกนิทานมาเล่าให้แก่ลูกน้อยของเรานั้น ก็ควรคำนึงถึงเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัยของลูกด้วย อย่างเช่น เด็กในวัย 3-6 และ 6-9 ปี ยังไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกเศร้า ความตายได้ดีนัก จึงมักจะเห็นว่าเด็กวัยนี้จะกลัวพ่อแม่ตาย กลัวพ่อแม่หายหน้าไปนาน นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่า “เหตุใดหนังนิทาน และการ์ตูน โดยเฉพาะ การ์ตูนดิสนีย์ เจ้าหญิงแอเรียลนี้จึงต้องทำการเปลี่ยนเนื้อเรื่องตอนจบสุดท้ายให้ต่างจากต้นฉบับเดิม”
ข้อคิดสอนลูกที่แฝงอยู่ในการ์ตูน Little Mermaid
- นิสัยส่วนตัวของเจ้าหญิงแอเรียล ที่เป็นลูกสาวคนสุดท้อง มักชอบความตื่นเต้น ช่างสงสัย รักการผจญภัย ซึ่งนั่นเป็นนิสัยส่วนใหญ่ของเด็กในวัย 3-9 ปี การสอนให้ลูกเห็นตัวอย่างความกล้าหาญของเจ้าหญิงแอเรียลที่กล้าเผชิญสิ่งใหม่ ท้าทาย รวมไปถึงสามารถสอนถึงความผิดพลาด ปัญหาที่ตามมาหากกระทำตามใจจนเกินไป โดยไม่รับฟังเหตุผลของพ่อแม่ และคนรอบข้าง
- การกล้ายอมรับผิด และแก้ไขปัญหา นอกจากเจ้าหญิงแอเรียลจะกล้าที่จะออกไปพบเจอกับสิ่งใหม่ ๆ แล้ว เธอยังมีนิสัยที่ดีอีกอย่าง คือ การกล้ายอมรับในความผิดพลาดของตน และกลับไปแก้ปัญหานั้น ไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อนอีกด้วย ซึ่งเป็นความกล้าในอีกรูปแบบหนึ่งที่ พ่อแม่ควรปลูกฝังให้แก่ลูกน้อย
- ข้อฉุกคิดเตือนใจพ่อแม่ ในฉากที่พ่อของเจ้าหญิงแอเรียล คิงส์ไทรทัน เข้ามาทำลายของสะสมเกี่ยวกับมนุษย์ของเธอ ซึ่งเป็นของรักของหวงทิ้งจนหมด ซึ่งอาจจะด้วยความหวังดี ไม่อยากให้ลูกมีความคิดผิดแผกแตกต่างจากพี่น้องคนอื่น ๆ โดยเห็นว่าของเหล่านี้เป็นตัวเริ่มให้เจ้าหญิงแอเรียลหลงใหลในมนุษย์ แต่การกระทำดังกล่าวกลับเป็นการทำร้ายจิตใจลูกอย่างแรง และเป็นกระตุ้นให้เจ้าหญิงออกไปทำในสิ่งที่พ่อไม่ต้องการเพียงลำพัง เพราะไม่กล้าที่จะมาปรึกษาใด ๆ อีก ยิ่งกลับทำให้เหตุการณ์เลวร้ายกว่าเดิม ทำให้พ่อแม่ควรคิดได้ว่า การกระทำรุนแรงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับยิ่งเป็นการผลักให้ลูกเหลือตัวคนเดียว การตัดสินใจของเด็กก็คงไม่รอบคอบเท่า มีเราเป็นผู้ใหญ่คอยระมัดระวังให้ ซึ่งมันดีกว่าเป็นแน่แท้
- สอนเรื่องความรัก คำว่าความรักนั้นมีหลากหลายแบบ และการรับรู้ในแต่ช่วงวัยก็แตกต่างกันไป
- การ์ตูนดิสนีย์ เจ้าหญิงแอเรียล เรื่องนี้เนื้อหาหลักเป็นการแสดงถึง ความรักที่เป็นการรอคอย เฝ้ารออยู่ใกล้ด้วยความจริงใจ แล้ววันหนึ่งความจริงใจ และมั่นคงก็นำมาซึ่งความรักที่สมหวัง ครองคู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน จึงเป็นเนื้อหาที่เหมาะสมต่อเด็กในช่วงวัยเด็กตอนต้น (3-9 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่ชอบดูการ์ตูนดิสนีย์มากที่สุด
- นิทานเจ้าหญิงเงือกน้อย แบบฉบับต้นฉบับดั้งเดิม ถึงแม้ว่าจะมีตอนจบที่ไม่สมหวัง แต่ก็เป็นเรื่องราวความรักในรูปแบบหนึ่งที่อิงความเป็นจริงของมนุษย์ได้ดี ซึ่งหากลูกของคุณพ่อคุณแม่เข้าสู่ช่วงวัยในวัยรุ่นแล้ว ก็สามารถนำมาหยิบยกเป็นประเด็นในการสอนให้เขารู้จักความรักในอีกรูปแบบหนึ่ง ให้เขาเข้าใจได้ว่าบนโลกใบนี้ไม่ได้มีแต่เรื่องสมหวังทุกเรื่องไป อย่างเจ้าหญิงเงือกน้อยในนิทาน แม้จะเสียสละเพื่อคนรักปานใด แต่เจ้าชายก็ไม่ได้รักตอบ แต่ในนิทานได้สอนให้เห็นถึงความรักที่บริสุทธิ์ ในฉากที่พี่ของเจ้าหญิงเงือกน้อยได้นำมีดที่ไปแลกมาจากแม่มดด้วยเส้นผมของตนมาให้ เพื่อให้เจ้าหญิงเงือกน้อยแทงเจ้าชาย แล้วคำสาปจะจบลง เจ้าหญิงสามารถกลับมาเป็นเงือกได้เหมือนเดิม แต่สุดท้ายแล้วเจ้าหญิงเงือกน้อยก็มิได้ทำ แถมยังยินดีกับเจ้าชายที่มีความสุขกับคนที่ตัวเองรัก และความดีข้อนี้ของเจ้าหญิงทำให้พระเจ้าเห็น และได้มอบวิญญาณอมตะเหมือนมนุษย์ให้แก่เจ้าหญิงเงือกน้อยเป็นการตอบแทน ถึงแม้ว่าจะเป็นนิทานที่ไม่ได้สมหวังในด้านความรัก แต่ก็ยังจบลงในเรื่องที่ว่าความดีย่อมให้ผลลัพธ์ที่ดีแก่ผู้กระทำ ซึ่งก็นับว่าเป็นนิทานที่สามารถนำมาสอนลูกของเราในวัยที่เขาสามารถเข้าใจในเรื่องของความเป็นรูปธรรมได้มากขึ้น อย่างในวัยรุ่นนั่นเอง
เห็นไหมละว่า นิทาน การ์ตูน ย่อมเป็นของคู่กับเด็กเสมอ การหากิจกรรมทำด้วยกันกับสมาชิกในครอบครัวด้วยการดูการ์ตูนดี ๆ สักเรื่อง นอกจากจะได้ใช้เวลาดี ๆ ร่วมกันกับลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถนำเรื่องราวในการ์ตูนมาใช้อ้างอิงสอนลูกได้อีกด้วย เพียงแต่ว่าอาจจะต้องเลือก และดูช่วงวัยของลูกเสียหน่อย เมื่อพัฒนาการของลูกพร้อม เขาก็พร้อมรับรู้สิ่งดี ๆ จากคำสอนของคุณพ่อคุณแม่ไปพร้อม ๆ กัน และนั่นจะทำให้ลูกได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการ์ตูน และนิทานเต็มร้อย ไม่หลงเหลือความคับข้องใจ หรือเศร้าใจหลังดูการ์ตูนจบอย่างแน่นอน
ข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจาก disney.co.th / wikipedia.org
อ่านบทความดี ๆ ต่อ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่