วิจัยเผย 5 ผลร้าย! ตวาดใส่ลูก บ่อย ๆ ส่งผลต่อพัฒนาการสมอง-ร่างกาย-จิตใจ - Amarin Baby & Kids
ตวาดใส่ลูก

วิจัยเผย 5 ผลร้าย! ตวาดใส่ลูก บ่อย ๆ ส่งผลต่อพัฒนาการสมอง-ร่างกาย-จิตใจ

Alternative Textaccount_circle
event
ตวาดใส่ลูก
ตวาดใส่ลูก

รู้หรือไม่? ยิ่งพ่อแม่ ตวาดใส่ลูก บ่อย ๆ อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการสมอง รวมไปถึงอารมณ์และพฤติกรรมของลูกได้ ถ้าพ่อแม่กำลังโกรธ หรือโมโหลูก จะมีวิธีควบคุมอารมณ์ตัวเองอย่างไรไม่ให้  ตวาดใส่ลูก ตามมาดูกันเลย

ผลเสียของการที่พ่อแม่เผลอ ตวาดใส่ลูก

เวลาที่คุณพ่อคุณแม่เกิดความรู้สึกหงุดหงิด ลูกงอแง ไม่เชื่อฟัง จนคุณแม่เผลอใช้อารมณ์กับลูก ตวาดใส่ลูก ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่ส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของลูกทั้งนั้นค่ะ เพราะการตวาดใส่ลูก ให้ผลเสียมากกว่าที่คิด!! ทีมแม่ ABK จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับผลเสียของการตวาดใส่ลูก รวมไปถึงวิธีในการควบคุมอารมณ์สำหรับคุณพ่อคุณแม่มาฝากค่ะ

ตวาดลูก ทำให้ลูกเสียใจ
ตวาดลูก ทำให้ลูกเสียใจ

ตวาดใส่ลูก ทำให้ลูกเสียใจ

คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวไว้ว่า… เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตวาดใส่ลูก ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ตามมาก็คือ “ลูกเสียใจ” แน่นอน!! แต่จะมากน้อยแค่ไหน หรือคงอยู่นานเท่าไหร่ ต้องดูเป็นกรณีไป

หากเชื่อในทฤษฎี จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ความเสียใจนั้นจะถูกซ่อนไว้ในจิตใต้สำนึก ถ้าไม่มากก็ไม่เป็นอะไร แต่หากมากเกินไปหรือสะสมไปเรื่อย ๆ จะเป็นบ่อเกิดของพยาธิสภาพทางจิตใจ หรืออาจไปรบกวนการสร้างซูเปอร์อีโก้  (Superego) ซึ่งจะเป็นมาตรฐานทางศีลธรรมหรือจริยธรรม หรือข้อปฏิบัติของเด็ก ๆ ที่จะเจริญรอยตามพ่อแม่ในวันข้างหน้า

ในเด็กที่อายุมากกว่า 5 ขวบ ความเสียใจนั้นอาจจะพุ่งเข้ามาภายในแล้วทำร้ายจิตใจเกิดเป็นบาดแผลตรง ๆ หากบาดแผลไม่มากก็หายเองได้เหมือนแผลถลอก น้อยมากก็ไม่มีแผลเป็น มากหน่อยก็อาจจะเป็นแผลนิดหน่อย ทำซ้ำ ๆ ก็ย่อมเกิดเป็นแผลเป็น และหากแผลใหญ่มาก ความเจ็บปวดก็อาจจะมากและนาน เป็นต้นเหตุของอารมณ์เศร้าได้

ตวาดใส่ลูก ให้ผลเสียมากกว่าที่คิด
ตวาดใส่ลูก ให้ผลเสียมากกว่าที่คิด

ตวาดใส่ลูก ให้ผลเสียมากกว่าที่คิด

สำหรับเรื่องนี้สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NIH ได้ออกมาเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการตวาดใส่ลูก ที่ชี้ให้เห็นว่าการตะโกน หรือตวาดใส่ลูก ทำให้เด็กก้าวร้าวมากขึ้นทั้งร่างกายและคำพูด การตะโกนเสียงดังไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับความโกรธหรือไม่ ย่อมทำให้เด็กกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้ยังมีการศึกษามากมายเกี่ยวกับผลเสียจากการตวาดใส่ลูก ทีมแม่ ABK ได้รวบรวมมาไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลองอ่านทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้ค่ะ

1. ยิ่งตวาดใส่ลูก พฤติกรรมลูกยิ่งแย่ลง

คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าการตวาดใส่ลูกจะช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกได้ และทำให้ลูกไม่มีพฤติกรรมดังกล่าวอีกในอนาคต แต่งานวิจัยจากสมาคมวิจัยเพื่อการพัฒนาเด็ก (SRCD) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลที่ตรงกันข้าม เพราะการตวาดใส่ลูกจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาในระยะยาว ทำให้ปัญหาพฤติกรรมของลูกแย่ลงเรื่อย ๆ

2. การตะโกน ตวาดใส่ลูก ส่งผลต่อการพัฒนาสมองของลูก

การตะโกน ตวาดใส่ลูก หรือ ใช้วิธีการอบรมลูกที่รุนแรงของพ่อแม่ ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของลูกด้วยนะคะ นั่นเพราะว่าสมองของมนุษย์มีการประมวลผลเหตุการณ์ที่แย่ได้รวดเร็วกว่าเหตุการณ์ที่ดีค่ะ งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากสถาบัน NIH ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบผลการสแกน MRI สมองของผู้ที่มีประวัติการใช้คำพูดรุนแรงในครอบครัวในวัยเด็ก กับผู้ที่ไม่เคยมีประวัติดังกล่าว พบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนในสมองส่วนที่ประมวลผลเกี่ยวกับเสียงและภาษา

การตะโกน ตวาด ส่งผลต่อการพัฒนาสมองของลูก
การตะโกน ตวาด ส่งผลต่อการพัฒนาสมองของลูก

3. การตวาดใส่ลูก นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

นอกจากจะรู้สึกเจ็บปวด เสียใจ และกลัวเวลาที่ถูกตวาดแล้ว การตวาดใส่ลูกอาจนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตเมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย งานวิจัยหลายชิ้นจากสถาบัน NIH แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างความรุนแรงทางอารมณ์ที่เด็กเคยเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่แย่ลงในอนาคต

4. การตวาดใส่ลูก ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย

งานวิจัยจากสถาบัน NIH บอกว่าความเครียดในวัยเด็กที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ปกครองใช้คำพูดรุนแรง สามารถเพิ่มความเสี่ยงทางปัญหาสุขภาพบางอย่างของเด็กได้ในระยะยาว

5. การตะโกน ตวาด อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดเรื้อรัง

นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังมีงานวิจัยจากสถาบัน NIH ที่ว่า การที่เด็กเติบโตมาด้วยประสบการณ์ในแง่ลบ เช่น โตมาในครอบครัวที่ใช้คำพูดรุนแรง อาจนำไปสู่อาการปวดเรื้อรังต่าง ๆ อาทิ ปวดศีรษะ ปวดคอและหลัง รวมไปถึงปัญหาไขข้อต่าง ๆ ด้วยค่ะ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

สอนลูกอย่างไรโดยไม่ใช้อารมณ์ 

เป็นเรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่จะหงุดหงิดกับลูก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สิ่งสำคัญก็คือการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพราะการแสดงออกของคุณพ่อคุณแม่ส่งผลสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพและสุขภาพในระยะยาวของลูกเสมอ มาดูวิธีการควบคุมอารมณ์ของตนเองในยามหงุดหงิด รวมไปถึงเทคนิคที่ใช้สอนลูกอย่างได้ผลกันดีกว่าค่ะ

สอนลูกโดยไม่ใช้อารมณ์
สอนลูกโดยไม่ใช้อารมณ์

1.ขอเวลานอก

ถ้าหากว่ารู้ตัวว่ากำลังจะควบคุมอารมณ์และน้ำเสียงไม่ไหว ทางเลือกที่ดีก็คือ “การขอเวลานอก” ให้ตัวเองค่ะ พาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้นสักครู่ แล้วหายใจเข้าออกลึก ๆ วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้ใจเย็นลงแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการสอนให้ลูกรู้จักควบคุมและจัดการอารมณ์ของตัวเองด้วย

2. พูดกับลูกตรง ๆ เกี่ยวกับความรู้สึก

ความโกรธ เป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์ทุกคน เช่นเดียวกับความสุข ความเศร้า การพูดคุยกันอย่างเปิดเผยจะเป็นการสอนให้ลูกได้เรียนรู้และรู้จักจัดการอารมณ์ของตัวเอง นำไปสู่การพัฒนาทัศนคติที่ดีต่อทั้งตนเองและผู้อื่น

3. จัดการกับพฤติกรรมไม่ดีอย่างใจเย็น แต่หนักแน่น

ลูกอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบ้าง เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต วิธีที่เหมาะสมคือการพูดให้ลูกเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวไม่ดีอย่างไร โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเข้าไปนั่งใกล้ ๆ หรือพูดคุยกับลูกในระดับสายตาแทนการยืนพูดในระดับที่สูงกว่าหรือพูดจากที่ไกล ๆ ก็ได้ค่ะ

4. ตักเตือน ดีกว่า ตวาด

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการตวาดหรือการใช้อารมณ์จะยิ่งส่งผลที่ไม่ดีแก่ลูก ดังนั้น การตักเตือนด้วยเหตุผลจะทำให้ลูกเชื่อฟังมากกว่านะคะ ยกตัวอย่างเช่น เตือนลูกว่าของเล่นมีไว้เล่น ไม่ได้มีไว้ใช้ตีกัน หากลูกไม่เชื่อ ค่อยยึดของเล่นนั้นมา

ตักเตือน ดีกว่า ตวาด
ตักเตือน ดีกว่า ตวาด

 

5. บอกด้วยความนิ่ง สงบ เอาจริง แล้วเงียบ

คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ แนะนำว่า … หลักของการปรับพฤติกรรมที่ได้ผลดีข้อหนึ่ง คือ การสูญพันธุ์ (Extinction) กล่าวคือ เราต้องจับคู่พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์กับ ความเงียบ (Silent) ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อเราจับคู่พฤติกรรมใด ๆ กับความเงียบอยู่เรื่อย ๆ ทำอะไรก็ไม่มีอะไรตอบสนอง พฤติกรรมนั้นก็จะหายไปเอง

หลักการข้อนี้ใช้กับเด็กเล็กได้ผลเสมอ ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่แล้วล่ะค่ะ ว่าจะมีความพยายามและความอดทนเพียงใด การตวาดใส่ลูก อาจเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายในเวลาสั้น ๆ แต่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูกในระยะยาว นอกจากจะไม่ช่วยให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดผลเสียตามมาในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้น การพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล ค่อย ๆ สอนให้ลูกเข้าใจถึงพฤติกรรมนั้นว่าไม่ดีอย่างไร ย่อมเป็นวิธีการที่ดีที่จะทำให้ลูกเติบโตมาอย่างมีความสุข และทำให้ทั้งครอบครัวมีความสุขด้วยนะคะ

 


ขอบคุณข้อมูลจาก

คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จากนิตยสาร

 Amarin Baby & Kids

บทความน่าสนใจเพิ่มเติม คลิกที่ภาพ ⇓

8 คำพูดที่ลูกไม่อยากได้ยิน จากปากพ่อแม่ พูดแบบนี้โตไปลูกแย่แน่!

ลงโทษ Time out!! วิธีการนี้ดีหรือไม่…ลูกจะรู้สึกอย่างไร?

นักจิตวิทยาชี้ “การดุลูก” ส่งผลให้ลูกเป็นโรคซึมเศร้า

[สร้างวินัยเชิงบวก] ชวนพ่อแม่สำรวจ เรา “สั่ง” หรือ “สอน” ลูกอยู่นะ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up