พ่อแม่เลิกกัน ควรบอกลูกไหม บอกอย่างไรให้ลูกเข้าใจ - Amarin Baby & Kids

พ่อแม่เลิกกัน ควรบอกลูกไหม บอกอย่างไรให้ลูกเข้าใจ ไม่มีปม

Alternative Textaccount_circle
event

พ่อแม่เลิกกัน สร้างปมในใจให้ลูกจริงหรือ? การแยกทางหรือหย่าร้างสร้างความเจ็บปวดให้กับทุกฝ่าย ขนาดกับผู้ใหญ่ยังยาก แล้วลูกที่เป็นเด็กเล็กๆ จะผ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างไร และคำถามที่คู่ (เคย) รักคิดไม่ตกคือ เราจำเป็นต้องบอกลูกหรือเปล่า?  “ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นในครอบครัว”  แต่เมื่อสิ่งนี้กำลังจะเกิดขึ้นและมีผลต่อลูกโดยตรง คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องบอกให้ลูกรับรู้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องช่วยให้ลูกผ่านเรื่องนี้ไปได้โดยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

 จะบอกลูกอย่างไรให้เข้าใจเมื่อ พ่อแม่เลิกกัน 

พ่อแม่เลิกกัน บอกลูกยังไง

วิธีบอกให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่เลิกกัน เปรียบเหมือนกับ หอมหัวใหญ่”

เรื่องที่ พ่อแม่เลิกกัน ก็เปรียบเหมือนหอมหัวใหญ่ที่มีกลีบซ้อนกันหลายชั้น เมื่อจะบอกเรื่องราวให้ลูกรู้ต้องค่อยๆทำเหมือนการลอกชั้นหอมออก หมายถึงการบอกเฉพาะสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และเป็นไปต่อจากนี้ ไม่จำเป็นต้องเล่าทั้งหมด หรืออธิบายความรู้สึกภายในของพ่อแม่ออกมา ส่วนเรื่องที่พูดควรเป็น “เรื่องอนาคต” ไม่ต้องพาดพิงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอดีต หรือกล่าวโทษคนใดคนหนึ่งให้ลูกฟังบอกด้วยภาษาสั้นๆ เข้าใจง่าย บอกความจริงด้วยน้ำเสียงหนักแน่นแต่ท่าทีอ่อนโยน เน้นใจความสั้นง่าย เช่น

  • พ่อและแม่ตกลงว่าจะไม่อยู่ด้วยกันแล้ว
  • พ่อแม่รักลูกมากที่สุดเสมอ และจะช่วยกันดูแลลูก
  • ถึงพ่อ/หรือแม่ จะไม่สะดวกดูแลลูก แต่พ่อ/หรือแม่ (อีกคนหนึ่ง) จะรักลูก ดูแลลูก และอยู่กับลูกตลอดไป

ทั้งนี้ พ่อแม่ควรทำใจยอมรับอย่างหนึ่งว่า เมื่อลูกได้ฟังแล้วย่อมมีปฏิกิริยาตอบกลับมาแตกต่างกัน เด็กบางคนอาจยอมรับได้เร็ว ปรับตัวง่าย บรรยากาศในบ้านจึงไม่แย่นัก แต่เด็กบางคนฟังแล้วยอมรับไม่ได้ และอาจมีคำถามตามมาว่า “ทำไม”อยู่หลายครั้ง เพราะลูกอาจไม่เข้าใจ

พ่อกับแม่ไม่ควรตอบกลับด้วยความโมโห หรือต่อว่า เช่น “บอกไปหลายครั้งแล้ว ทำไมยังไม่รู้เรื่องอีก” หรือ “จะถามอีกกี่ครั้ง พ่อ/แม่เบื่อแล้วนะ” เพราะเด็กกำลังรู้สึกกังวล และกลัวอย่างมากว่าจะไม่มีใครรัก ไม่มีใครดูแลตัวเขาต่อไปเมื่อ พ่อแม่เลิกกัน

พ่อแม่เลิกกัน

“6 อย่าทำ” พฤติกรรมแบบนี้ไม่ดีกับลูก

อย่าโทษว่าใครเป็นคนผิด

ไม่ว่าพ่อหรือแม่เป็นฝ่าย “ผิด” ที่ทำให้ต้องยุติความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยา ก็ไม่ควรหยิบเรื่องนี้มาขุดคุ้ย หรือกล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะต่อหน้าลูก เพราะทำให้เด็กโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุของการหย่าร้าง ความรู้สึกนี้มักเกิดขึ้นกับเด็กวัยเล็กวัยก่อน 8 ขวบ

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำมากที่สุด คือการย้ำให้ลูกฟังด้วยน้ำเสียงจริงใจและอ่อนโยนว่า “เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะลูก” แต่เกิดจากพ่อกับแม่สองคนเท่านั้น

อย่าให้ลูกต้องเลือกข้าง

ความผิดพลาดที่พ่อแม่กำลังร้างลากันทำบ่อยๆ คือ ให้ลูกมีส่วนตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหานี้ เช่น “ถามลูกว่าจะอยู่กับพ่อหรือแม่”  เพราะยิ่งทำร้ายความรู้สึกลูก เด็กรู้สึกลำบากใจที่ต้องเลือก ไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ ลูกรักพ่อและแม่ไม่ต่างกัน ฉะนั้นพ่อแม่จำเป็นตัดสินใจเรื่องลูกให้เบ็ดเสร็จ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต่อตัวลูกเป็นหลัก อย่าลืมว่า เด็กๆไม่สามารถตัดสินใจได้องว่าอะไรคือทางเลือกดีที่สุดสำหรับตัวเองในอนาคต

สิ่งเดียวที่เด็กมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ คือการรับรู้ถึงการตัดสินใจของพ่อแม่ กรณีที่ลูกโตพอแล้วอาจความรู้สึก หรือพูดทำความเข้าใจกับลูก แต่ต้องไม่โยนให้ลูกเลือกข้างเป็นอันขาด

พ่อแม่เลิกกัน ลูกเจ็บปวดที่สุด

อย่าโกหก

คำโกหกไม่เป็นผลดีกับใคร สุดท้ายลูกต้องรู้ความจริงในสักวัน และเมื่อนั้นลูกจะผิดหวัง และสูญเสียความเชื่อมั่นต่อพ่อแม่ในทันที ยิ่งในช่วงเวลาลำบากแบบนี้ ความรักที่จริงใจ การบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้ลูกรู้สึกดีกว่าว่ายังเชื่อใจพ่อแม่ได้ หลายคู่เลือกจะปกปิดไว้เพราะกลัวลูกเสียใจ แต่ผลลัพ์ที่ตามอาจเลวร้ายกว่า อย่าลืมว่า เด็กสนใจกับสิ่งเกิดขึ้นปัจจุบัน เข้าใจความจริงได้ง่ายกว่าการหลอกลวง อีกไม่นานเขาก็จะสามารถปรับตัวให้อยู่กับความจริงนี้ได้

อย่าบอกความลับ

การใช้ลูกมาเป็นพวกเพื่อเงื่อนไขบางอย่างด้วยวิธีการ เล่าความลับบางอย่างให้ลูกฟัง แล้วให้ปิดบังอย่างให้อีกฝ่ายรู้ เช่น “อย่าบอกแม่นะ ว่าพ่อมาหาที่โรงเรียน” หรือ “อย่าบอกพ่อนะว่าแม่ซื้อเสื้อตัวใหม่ให้” ถึงจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่จะทำให้ลูกรู้สึกสับสนและตั้งคำถามกับคุณธรรมเรื่องความซื่อสัตย์ ซึ่งมีผลอย่างมากต่อทัศนคติและการกระทำของลูกในอนาคต

อย่าพูดจาเชิงลบ

แม้ว่า พ่อกับแม่เลิกกัน แล้วแต่ก็ไม่จำเป็นต้องด่าทอ พูดจาด้วยความไม่สุภาพ หรือปฏิบัติไม่ดีต่อกัน เพราะทำให้ลูกรู้สึกว่าสิ่งนี้ทำให้พ่อแม่ไม่รักกัน ต้องสูญเสียครอบครัว จนไม่อยากพูดคุย หรือเล่นสนุกกับพ่อแม่เหมือนเดิม หากปล่อยให้บรรยากาศของบ้านเป็นเช่นนี้  ลูกจะไม่รู้สึกว่า “บ้าน” คือที่พักใจของเขาอีกต่อไป ซึ่งส่งผลเสียอย่างมากเมื่อโตขึ้น

อย่าให้ลูกเป็น “สะพาน”

พ่อแม่ที่เลิกรากันด้วยความรู้สึกไม่ดี จนไม่อยากพูดคุยกันตรงๆ แต่ให้ลูกมาทำหน้าที่เป็น “นกพิราบสื่อสาร” เพื่อให้อีกฝ่ายทำตามที่ตัวเองต้องการ เช่น บอกลูกให้โทรตามพ่อกลับบ้าน หรือ ฝากคำเย้ยหยัน ประชดประชันไปบอกอีกฝ่าย ลูกจะตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง สะสมเป็นความเครียดและยิ่งทำให้สุขภาพจิตของลูกที่ต้องเจอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตแย่ลงไปอีก

แม้การหย่าร้างจะเป็นเรื่องลำบากสำหรับทุกคนในครอบครัว ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร ขอให้คุณพ่อคุณแม่ถือประโยชน์ของลูกเป็นที่ตั้ง ทุกอย่างก็จะผ่านไปด้วยดี เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าสถานภาพของ “สามี-ภรรยา” จะเปลี่ยนไป แต่ความเป็น “พ่อ แม่ ลูก” จะไม่มีทางเปลี่ยนแปลง

 


แหล่งข้อมูล นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, www.kidspot.com.au, www.psychologytoday.com

 

7 ข้อทำร้ายใจลูกเมื่อ พ่อแม่นอกใจกัน

5 พฤติกรรมพ่อแม่ ทำลูกเครียดร้องไห้

สร้างความมั่นใจให้ลูก…เมื่อพ่อแม่ต้องแยกทาง

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up