เก็บคุกกี้ให้อร่อยนาน
การเก็บคุกกี้ ชนิดเนื้อนิ่ม ควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด เวลาเก็บก็ให้ใส่ ขนมปัง ลงไปในกล่องเก็บด้วย หนึ่งแผ่น ขนมปังจะช่วยรักษาความนิ่มของคุกกี้นี้ไว้ได้นานขึ้นค่ะ
การเก็บคุกกี้ชนิดกรอบ
ให้เก็บไว้ในกล่องปิดฝาสนิทเช่นเดียวกัน แต่ ไม่ต้องใส่ขนมปังแผ่น และถ้าเก็บคุกกี้กรอบไว้มากๆ นานๆนั้นมีวิธีการ คือ ก่อนเก็บคุกกี้ใส่ภาชนะ จะต้องอบใหม่อีกครั้งหนึ่งใช้เวลาอบราว 4 นาที และใช้ไฟร้อน 300 องศาฟาเรนไฮท์ อย่าอบนานกว่านี้นะคะ เพราะคุกกี้จะเกรียมมากเกินไปค่ะ
#หมวดอื่นๆ นานาจิปาถะ
การเก็บซุป
ถ้าทำอาหารทุกวัน อาจทำน้ำซุปครั้งละมากๆ แล้วเก็บใส่ขวดที่มีฝาปิด เพื่อไม่ให้สัมผัสอากาศ เพราะจะทำให้เสียเร็ว แต่หากต้องการเก็บไว้นานๆ อาจตักใส่ถุงพลาสติค ขนาดพอใช้ 1 ครั้ง แล้วแช่ช่องแช่แข็ง เมื่อจะใช้ก็นำออกมา
เก็บกาแฟผงให้ใหม่สด
ควรปิด จุกกาแฟผง ให้แน่นแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น จะทำให้ ผงกาแฟใหม่อยู่เสมอ ไม่ติดแข็งอยู่ในขวด ถ้าต้องการให้กาแฟเม็ดสดอยู่ตลอดไป ก็ต้องนำไปแช่ไว้ในช่องแข็งนะคะ
เก็บมันฝรั่งทอด
วิธีการเก็บมันฝรั่งทอดให้สดและกรอบอยู่เสมอ ให้ใส่ในถุงที่ปิดผนึกได้ แล้วเก็บในช่องแข็งในตู้เย็น เก็บวิธีนี้จะทำให้รักษาความชื้นได้ในระดับพอเหมาะค่ะ
เก็บอาหารในกระติกแช่เย็น
ต้องตระหนักไว้ให้ดีค่ะว่า กระติกแช่เย็นไม่ใช่ตู้เย็น เพราะฉะนั้นการนำอาหารเข้าไปแช่แล้วใช้น้ำแข็งเพียง 2-3 ก้อนโปะเข้าไป ไม่ช่วยให้อาหารเย็นลงได้ในระดับที่จำเป็นค่ะ การเก็บอาหารในกระติกแช่เย็นที่ถูกวิธี คือ ทำให้อาหารเย็นลงก่อน วางอาหารที่เน่าเสียได้ง่ายที่สุดไว้ส่วนล่างสุด แล้วนำก้อนน้ำแข็งปิดไว้ส่วนบนสุด ค่ะ
กับข้าวเก่าเก็บ
อาหารทีเหลือเก็บไว้ ก่อนนำมารับประทานควรแน่ใจว่าไม่บูดหรือเสีย เพราะถ้าอาหารบูดหรือเสียแล้วนำมาบริโภค จะทำให้ผู้บริโภคท้องเสียได้ ถ้าเป็นอาหารที่มีกระทิ คุณอาจสังเกตได้ง่ายว่าจะมีฟองอากาศอยู่ สำหรับอาหารอื่นๆ อาจดมแต่ไม่ควรใช้การชิมเพื่อทดสอบค่ะ
การเก็บรักษาเต้าหู้
เต้าหู้เป็นสิ่งที่ เสียได้ง่ายมากเลยค่ะ เวลาที่ซื้อแบบที่เป็นห่อชนิดที่มีน้ำอยู่ด้วย ก็ให้แกะออกมาแล้วเปลี่ยนน้ำที่แช่เสียใหม่โดยน้ำที่แช่นั้นต้องท่วมมิดชิ้นเต้าหู้ให้หมด หากใช้เต้าหู้ไม่หมดก็อย่าลืมเปลี่ยนน้ำที่แช่ทุกวันด้วยนะคะ
#เครื่องครัว
เก็บมีดอย่างไรให้ใช้ได้นานๆ
วิธีที่จะเก็บรักษามีดให้ใช้ได้นานๆ ทุกครั้งหลังจากใช้มีดแล้วควรจะล้างทันทีค่ะ อย่าแช่มีดไว้ในอ่างนานๆ จะทำให้ด้ามมีดเสียเร็ว เมื่อล้างแล้วก็ควรเช็ดให้แห้ง แล้วควรเก็บไว้ในที่เสียบข้างฝา เพื่อให้คมมีดกระทบกันและเป็นการตากให้ด้ามมีดแห้ง ไม้จะได้ไม่ผุเร็วด้วยค่ะ
เก็บรักษาเครื่องครัวเทฟล่อน
ถ้าคุณใช้เครื่องครัวจำพวกที่มีสารเทฟล่อนเคลือบซึ่งทำให้ทำอาหารแล้วอาหารไม่ติดเรื่องครัว เวลาจะเก็บซ้อนๆกัน ควรจะนำ จานกระดาษมาวางรอบๆทุกขึ้น เพื่อกันไม่ให้สารที่เคลือบหลุดออกเวลาจะหยิบออกมาใช้ค่ะ
เก็บรักษาถ่านให้นานขึ้น
ถ่านที่ใช้ในการย่างอาหารนั้น หากคุณต้องการ ยืดอายุการเก็บรักษาให้ได้นานขึ้น ให้นำถ่านเก็บไว้ในถุงแล้วมัดให้แน่น อย่าให้อากาศเข้าไปได้ วิธีนี้จะช่วยให้ถ่านไม่สามารถดูดซับความชื้นจากภายนอกได้ เวลานำออกมาใช้ถ่านก็จะติดไฟเร็ว
♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠
ทั้งนี้ด้านกรมอนามัย ได้แนะวิธีเก็บอาหารในตู้เย็น เน้น “สะอาด แบ่งสัดส่วน จัดสิ่งแวดล้อม” ช่วยรักษาอาหารให้สด ใหม่ไม่เน่าเสียง่าย ชี้เนื้อสัตว์ควรล้างแล้วตัดแบ่งใส่ภาชนะก่อนแช่ในตู้ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ไม่เกิน 3-5 วัน
โดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเก็บอาหารสดไว้ในตู้เย็นให้คงความสด สะอาด และไม่เน่าเสียง่ายนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าอาหารมีหลายประเภท ทั้งอาหารสด ประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผัก และผลไม้ นม ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ และเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ซึ่งแต่ละอย่างต้องเก็บในช่องที่มีอุณหภูมิเหมาะสม รวมถึงระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย หลักการง่ายๆ คือ 3 ส.ดังนี้
1.สะอาดปลอดภัย โดยภาชนะบรรจุ และสถานที่เก็บอาหารต้องสะอาด ปลอดภัยไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารได้
2.สัดส่วน ควรแยกประเภทอาหารเป็นสัดส่วนเฉพาะไม่ปะปนกัน
3.สิ่งแวดล้อมเหมาะสม จัดเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุอาหารให้เก็บไว้ได้นานๆ
สำหรับ “เนื้อสัตว์” หากจะเก็บควรล้างให้สะอาดก่อนแล้วนำมาตัดแบ่งหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนบรรจุในภาชนะที่ป้องกันการรั่วซึมได้ในปริมาณที่พอเหมาะกับการนำไปใช้ในแต่ละครั้งแล้วจึงนำไปเก็บในตู้เย็นมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แยกเป็นสัดส่วนจากอาหารประเภทอื่น ไม่ควรแช่เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ๆ หรือทั้งตัวในตู้เย็น เนื่องจากความเย็นอาจจะไม่เพียงพอ
หากเป็นร้านอาหารที่มีตู้แช่ขนาดใหญ่และมีความจำเป็นที่ต้องแช่เนื้อสัตว์เป็นชิ้นใหญ่ๆ หรือทั้งตัวต้องเก็บในที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียส ส่วนอาหารทะเล ประเภทปลา กุ้ง หอย ปลาหมึก ปู และสัตว์น้ำอื่นๆ การเก็บควรแช่แข็งที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ถ้าเป็นชิ้นเล็ก ตัวเล็ก หรือชนิดบด ควรใส่ถุงพลาสติกหรือภาชนะแช่ฝังอยู่ในน้ำแข็งตลอดเวลา และต้องหมั่นเติมน้ำแข็งและระบายน้ำที่ละลายแล้วออกเสมอๆ
ส่วนการเก็บรักษา ผักและผลไม้เมืองร้อนประเภทกินหัวหรือราก ควรเก็บในตะกร้าโปร่งสะอาดในบริเวณที่มีอุณหภูมิห้องปกติ วางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร สำหรับผักสดใบเขียว หรือผักผลไม้เมืองหนาวควรนำมาตัดแต่งก่อนนำมาต้องบรรจุในถุงพลาสติกที่สะอาด เก็บในตู้เย็นเป็นสัดส่วนที่มีอุณหภูมิประมาณ 7-10 องศาเซลเซียส ส่วนผักที่พร้อมสำหรับการนำไปปรุงประกอบอาหาร ควรนำมาล้างทำความสะอาด ตัดแต่งหรือหั่นแล้ว เก็บในภาชนะที่สะอาดมีการปกปิดเป็นสัดส่วนในตู้เย็น
โดยระยะเวลาในการจัดเก็บอาหารที่เหมาะสม หากเป็นผักและผลไม้เก็บได้ 3-5 วัน เนื้อสัตว์ในช่องแช่แข็งเก็บได้นาน 3-5 วัน ไข่อยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์นับจากวันผลิต นอกจากนี้ ควรหมั่นสำรวจวันหมดอายุของอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็น และไม่ควรเก็บอาหารไว้มากเกินไป จนทำให้การถ่ายเทอากาศในตู้เย็นเป็นไปอย่างลำบาก
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- เตือนแม่!! 11 ภาชนะ ห้ามใส่อาหารเข้าอุ่นไมโครเวฟ อันตรายต่อสุขภาพลูกน้อย
- อาหารแช่แข็ง อันตรายกับลูกน้อยจริงหรือไม่?
- เตือน!! ผักดิบ 9 อย่าง กินมากไปอาจได้โทษ พร้อมวิธีลวกผักให้เขียวกรอบน่ากิน
- สำรวจล่าสุดเผยรายชื่อ ผักผลไม้ที่มีสารตกค้างมากที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.bloggang.com , www.nanasaradee.com ,www.manager.co.th