ลงโทษลูกด้วยการ “ตี” ได้หรือไม่
ดาบสองคมที่พ่อแม่ต้องเลือกใช้ให้เป็น
ตั้งแต่ทำงานเป็นจิตแพทย์เด็กมา หนึ่งในคำถามที่คุณพ่อคุณแม่ถามกันมากที่สุด คงเป็นคำถามที่ว่า.. “เราจะลงโทษเด็กด้วยการตีได้หรือไม่”
ซึ่งนี่ก็เป็นคำถามเดียวกับที่สังคมถกเถียงกันมานาน ว่าคำพังเพยโบราณที่แนะนำให้ตีเด็กนั้นถูกต้องหรือเปล่า
ในความเห็นของหมอ หมอมองว่า “การตี” จะมีประโยชน์หรือโทษ ก็ขึ้นอยู่กับ “วิธีการใช้” ค่ะ
เพราะ “การตี” นั้นเป็นได้ทั้ง “การลงโทษ” และ “การทำร้าย”
หากเจตนาของผู้ปกครอง ต้องการใช้การตีเพื่อ “การลงโทษ” เพื่อสอนให้เด็กหยุดทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การตีนั้นก็ต้องสอดคล้องไปกับหลักการของการลงโทษ นั่นคือ ต้องเป็นไปตามกฎกติกาที่ตกลงร่วมกัน มีเหตุผลรองรับ และมีการอธิบายให้เด็กเข้าใจ อีกทั้งความรุนแรงของการตีก็ต้องไม่เกินกว่าเหตุ
แต่หากการตีเป็นไปด้วยอารมณ์ ก็คงไม่ต่างอะไรกับการทำร้าย ให้เด็กเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งการลงโทษที่รุนแรงก็ส่งผลให้เด็กจำนวนไม่น้อยมีปัญหาอารมณ์ ต่อต้านผู้ปกครอง และบางคนก็กลายเป็นผู้ใช้ความรุนแรงในอนาคต
ซึ่งหมอไม่แปลกใจค่ะ ที่เรื่องการตีเด็กนั้นจะถูกโต้เถียงกันมาตลอด เพราะความจริง วิธีการ “ตี” ให้ได้ประโยชน์ นั้นมันทำไม่ง่าย และต่อให้เราทำตามหลักการ แต่ถ้าเด็กไม่เข้าใจเจตนา (อาจจะด้วยวัยของเด็ก หรืออารมณ์ของเด็กในขณะนั้น) การตีก็อาจส่งผลข้างเคียงได้เช่นกัน
ดังนั้น หากคุณผู้ปกครองจะเลือกใช้การตีเพื่อสอนเด็ก หมอก็อยากให้ลองทบทวนให้แน่ใจก่อนนะคะ ว่าการตีของเราจะเป็นประโยชน์หรือโทษ แล้วเราจะเลือกใช้วิธีอื่นเพื่อสอนเด็กแทนการตีได้หรือไม่ เพราะการ “ลงโทษ” ที่ไม่ใช่การตีก็มีอยู่มากมายค่ะ เช่น การตัดสิทธิ์ ลดของชอบ หรือการให้เด็กทำอะไรเพื่อชดใช้ความผิด ซึ่งหมอมองว่าเด็กจะได้เรียนรู้การรับผิดชอบ เป็นประโยชน์ยิ่งกว่าการตีเสียอีกค่ะ
บทความโดย : พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา
ภาพจาก : shutterstock