จากผลการวิจัย พบว่าการ สูบบุหรี่ในบ้าน ส่งผลให้บุคคลที่อยู่ในครอบครัวมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% เด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า
กระทรวงแจง “สูบบุหรี่ในบ้าน” ผิดกฎหมาย! บังคับใช้ 20 ส.ค. นี้
จากการจัดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพครั้งที่ 18 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ได้เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา หนึ่งในมาตรการควบคุมสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพอย่าง บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ได้ผลคือ มาตรการทางภาษี เป็นหัวหอกสำคัญในการลดอัตราบริโภค แต่ต้องดำเนินการมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ด้วย ทั้งการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม และการรณรงค์สร้างกระแสสังคมเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาและสร้างการมีส่วนร่วมในการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหา
ศ. นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับเด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบุบหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39% จากการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไทยทั่วประเทศ ในปี 2561 โดย ศจย คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบมีครอบครัวที่ถูกสำรวจถึง 49 % มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ และพบมีความสัมพันธ์กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
จากผลการวิจัยนี้ พบว่า สารเคมีและสารพิษรวมถึงสารก่อมะเร็งในควันบุหรี่ ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า มีผลต่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัวที่มีผู้สูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็ก ควันบุหรี่เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุดในบ้าน แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้ สูบบุหรี่ในบ้าน หรือสูบในบ้านตอนไม่มีใครอยู่ ก็ยังคงมีสารพิษจากควันบุหรี่ ติดตามเสื้อผ้า ผนัง โซฟา เบาะหนังแท้ หนังเทียม รวมถึงในรถยนต์ เรียกว่า “บุหรี่มือสาม” ศูนย์สร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ได้ศึกษาเด็กก่อนวัยเรียนอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ พบว่า 50% ของผู้สูบบุหรี่ มีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย และเด็ก 16% ตรวจพบสารโคตินินในปัสสาวะ แสดงถึงสารพิษตกค้างในตัวเด็กจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง และเด็กกลุ่มที่ผู้ปกครองร่วมโครงการเลิกบุหรี่มือสอง มีระดับโคตินินในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่า การได้รับพิษภัยจากบุหรี่มือสองและมือสาม เป็นภัยร้ายที่ไม่คาดคิดต่อชีวิตของลูกน้อย เพราะเด็กต้องใช้อากาศหรือสิ่งของร่วมกันกับผู้ใหญ่ในบ้าน เด็กทุกคนมีความฝันและเป็นความชื่นใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง ขออย่าทำลายความฝันเหล่านั้น ด้วยควันบุหรี่
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ควันบุหรี่มือสองและมือสาม ทำให้อากาศในบ้านมีสารพิษก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ถ้าบุคคลใดในครอบครัวสูบบุหรี่ ถือว่าเป็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวโดยเจตนาให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในประเด็นความรุนแรงในครอบครัว โดยผู้ได้รับควันบุหรี่ ถือเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง สามารถแจ้งศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวซึ่งมีทุกจังหวัด จากนั้นหัวหน้าศูนย์ส่งเสริมฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพ และมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพได้เท่าที่จำเป็น พร้อมกับทำคำร้องและคำสั่งไปยื่นต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง
โดยพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 นี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศ 90 วัน จึงจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค. 2562 นี้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่