ทำไมลูกขี้เกียจจัง!! เรียกให้ทำอะไรก็บอกว่าเดี๋ยว!! รู้ไหมคะว่า ความขี้เกียจของลูกที่เราบ่น ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่ เป็นคนถ่ายทอด กรรมพันธุ์ ความขี้เกียจนี้ให้ลูก!!
วิจัยเผย!! ความขี้เกียจถ่ายทอด กรรมพันธุ์ จากพ่อแม่สู่ลูก!!
คนเรามักจะเข้าใจว่า กรรมพันธุ์ ที่ถ่ายทอดกันมาจากพ่อแม่สู่ลูก นั้นมีแค่ สีผม ความสูง สีตา และโรคภัยต่าง ๆ แต่รู้ไหมคะว่า “ความขี้เกียจ” ก็สามารถถ่ายทอดกันทาง กรรมพันธุ์ ได้เช่นกัน
เราไม่ได้กล่าวลอย ๆ นะคะ มีงานวิจัยจาก University of Missouri ได้ค้นพบว่า ลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างอาจเป็นแรงจูงใจในการออกกำลังกายและทำสิ่งต่าง ๆ โดยงานวิจัยนี้ ได้ทดลองกับหนูทดลอง โดยนำหนูมา 1 กลุ่ม หลังจากนั้นก็สังเกตและคัดแยกหนูออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ หนูที่ขยันวิ่งกงล้อ กับ หนูที่ขี้เกียจ หลังจากนั้น ก็นำหนูแต่ละกลุ่มมาผสมพันธุ์กันเอง ถึง 10 เจเนอเรชั่น ผลทดลองปรากฎว่า ลูกหลานของหนูที่ขยันวิ่งกงล้อ ก็ยังคงขยันวิ่งกงล้อ เหมือนต้นตระกูลของตนเอง และลูกหลานของหนูที่ขี้เกียจ ก็ยังขี้เกียจเหมือนต้นตระกูลตนเองเช่นกัน
นักวิจัยยังไม่หยุดการทดลองไว้เพียงแค่นี้ นักวิจัยได้นำหนูทั้ง 2 กลุ่มมาศึกษาถึงเซลล์กล้ามเนื้อ เปรียบเทียบองค์ประกอบของร่างกายและประเมินพันธุกรรมอย่างละเอียด พบยีนที่แตกต่างกันมากกว่า 17,000 ยีน และพบว่ามียีน 36 ตัวที่อาจมีบทบาทในการกระตุ้นให้มีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และการออกกำลังกาย
นอกจากนี้ยังมีวิจัยในจีน ซึ่งได้ทำการทดลองในหนูทดลอง พบ การกลายพันธุ์ในยีนที่เรียกว่า SLC35D3 และพบว่ายีนตัวนี้ผลิตโปรตีนที่มีบทบาทสำคัญในการส่งสัญญาณในระบบโดปามีนของสมอง ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมการทำกิจกรรมต่าง ๆ และการออกกำลังกายนั่นเอง
หลังจากอ่านการวิจัยนี้ก็อย่าเพิ่งโทษบรรพบุรุษนะคะว่าที่ลูกขี้เกียจเพราะยีน ในความเป็นจริงแล้ว ยีนขี้เกียจนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีตัวแปรอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความขี้เกียจได้ด้วย เช่น ความเบื่อ แรงจูงใจในการอยากทำสิ่งต่าง ๆ สภาพแวดล้อม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วความขี้เกียจนั้นมาจากสภาพแวดล้อม รวมถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวด้วย ในหลาย ๆ ครั้งการเลี้ยงดูแบบผิด ๆ ก็สามารถทำให้ลูกขี้เกียจได้นั่นเอง
4 สาเหตุจากพ่อแม่ที่ทำให้ลูกขี้เกียจ
-
กว่าจะปล่อยให้ทำงานบ้าน..ก็สายเกินไป
เรื่องขี้เกียจมักสังเกตเห็นได้ในเด็กช่วงอายุ 7-8 ขวบ ก่อนหน้าช่วงอายุนี้เด็กมักจะดูกระตือรือร้นมากกว่า เช่น ในช่วง 3-4 ขวบ จะเห็นได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ทำอะไรเด็กมักจะเข้ามาทำด้วย เห็นคุณแม่กวาดบ้านเด็กก็อยากจะทำ เห็นคุณแม่ซักผ้าก็อยากจะทำ เห็นคุณแม่ล้างจานก็อยากจะทำ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัยของเขา ที่เริ่มอยากจะเลียนแบบอย่างที่ผู้ใหญ่ทำ แต่ว่าในบางครั้งความที่เราไม่เข้าใจ หลายท่านก็จะห้ามปรามลูก เพราะกลัวว่าลูกทำไม่สะอาด หรือเกรงว่าลูกจะทำของเสียหาย กลัวจะทำจานแตกไปบ้าง
นานวันเข้าพอลูกเริ่มโตขึ้นความสนใจจะเลียนแบบจะน้อยลง เขาก็ไม่อยากเข้ามาทำ พอมาถึงตอนนี้เราเป็นฝ่ายอยากให้ลูกทำ แต่ลูกไม่ทำ เลยกลายเป็นว่าลูกขี้เกียจ เพราะฉะนั้น ขอเสนอแนะท่านที่ยังมีลูกยังเล็ก ๆ อยู่ ถ้าลูกเริ่มมีความสนใจอยากจะเข้ามาใกล้ชิดอยากมาทำอะไรเลียนแบบ พ่อแม่ควรจะค่อย ๆ ฝึกให้เขาทำงานเหล่านี้ เช่น ถ้าเขาอยากซักผ้าก็อาจจะมีกะละมังเล็ก ๆ ให้เขาซักเสื้อผ้าบางชิ้นบางอย่างที่ไม่สกปรกมาก โดยเฉพาะเสื้อผ้าของเขาเอง ให้เขาทำด้วยตัวเองคุณก็อาจช่วยเขาบ้าง หรือถ้าเขาอยากมาช่วยงานที่เรากำลังทำบางอย่าง เช่น ทำครัว ก็คงต้องดูว่าถ้างานบางอย่างอาจมีอันตราย เช่น หั่นผัก เราไม่แน่ใจว่าจะหันนิ้วตัวเองไปด้วยหรือไม่ ก็คงต้องเลี่ยง เราอาจหางานอย่างอื่นให้ลูกทำ เช่น ให้ลูกเอาผักไปล้างในตะกร้า หรือเปิดน้ำให้ผัก เป็นต้น
ถ้าทำได้อย่างนี้ ลูกจะรู้สึกคุ้นเคยกับการทำงานตั้งแต่เล็ก ๆ แล้วก็จะคงอยู่อย่างนี้ต่อไปโดยที่เราจะค่อย ๆ เริ่มเพิ่มความรับผิดชอบบางอย่างให้กับลูก เช่น เมื่อก่อนนี้เราอาจจะทำให้เขาหมดทุกอย่าง ต่อมาเมื่อเขาเริ่มโต เราก็เริ่มหางานให้กับเขา เขามีหน้าที่ต้องเตรียมช้อนส้อม เตรียมจานอาหารของเขาเอง ก่อนที่จะรับประทานอาหาร หรือว่าเมื่อทานอาหารเสร็จ ก็ควรเก็บจานชามของเขามาวางในอ่างล้างจาน การมีงานให้กับลูกสม่ำเสมออย่างนี้ เขาจะเริ่มคุ้นเคยและมีความรับผิดชอบว่าเขาก็มีส่วนร่วมในครอบครัว เขาก็มีส่วนที่จะต้องทำงานบางอย่างให้กับครอบครัว
2. หน้าที่หลักของลูกคือเรียน!!
กว่าลูกจะกลับมาจากโรงเรียนก็เย็นแล้ว ไหนจะต้องทำการบ้านอีก ลูกเหนื่อยมาพอแล้ว ไม่ต้องให้ลูกช่วยงานบ้านหรอก!! พอคิดแบบนี้ลูกก็จะเข้าใจว่า หน้าที่ทำงานบ้าน ไม่ใช่หน้าที่ของลูก เป็นหน้าที่ของแม่ ไม่ต้องช่วยก็ได้ เมื่อลูกถึงวัยที่พอจะช่วยงานบ้านได้แล้ว ก็มักจะไม่มีความสนใจที่จะทำ เพราะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง แค่ตั้งใจเรียนก็พอแล้ว นี่คือการปลูกฝังความคิดผิด ๆ ให้ลูกค่ะ แม้ว่าลูกจะเพิ่งกลับมาจากโรงเรียน ก็ต้องช่วยกันทำงานบ้าน จะเป็นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ใช้เวลาไม่มากก็ได้ แต่ต้องทำ เพราะคุณพ่อคุณแม่จะต้องปลูกฝังให้ลูกรู้ว่า งานบ้าน ต้องช่วยกันทำ
3. เพราะพ่อแม่ไม่รักษาคำพูด!!
โดยปกติแล้วแต่ละบ้านก็จะมีการตกลงว่าใครทำหน้าที่อะไรเป็นกิจจะลักษณะอยู่แล้ว แต่เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ลูกงอแงไม่ยอมทำนั้น ไม่ใช่เพราะความขี้เกียจ แต่มันคือการที่พ่อแม่สั่งนอกเหนือจากข้อตกลงที่ได้ให้กันไว้ เด็กเลยต่อต้านพ่อแม่ด้วยการเลือกไม่ทำตามคำสั่งไปเลย เนื่องจากพลังของการรักษาคำพูดนั้นมีคุณค่ากับจิตใจลูกไม่น้อย ทั้งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อใจเพื่อประคองความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครองกับลูก ในทางตรงกันข้ามหากผิดสัญญาพ่อแม่ก็จะกลายเป็นคนที่ลูกไม่ให้ความเชื่อถือ คาดเดาไม่ได้และลูกจะรู้สึกไม่ไว้ใจ ฉะนั้น ผู้ปกครองควรรักษาคำพูดต่อพวกเขาด้วยการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนและไม่ไปก้าวก่ายข้อตกลงที่ให้ไว้กับลูก
4. ลูกไม่เคยได้รับคำชมเชย
การทำงานบ้านต่าง ๆ เด็กอาจจะทำได้ไม่ดี หยิบจับอะไรก็ดูเก้งก้างเกะกะในสายตาคุณพ่อคุณแม่ แน่นอนว่าเพราะเขายังเป็นเด็ก ยังทำสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่คล่องแคล่วเท่ากับผู้ใหญ่ ดังนั้น ขอให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ สอน ไม่ดุด่าว่ากล่าวเมื่อลูกทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร และควรชมเชยเมื่อลูกทำได้ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกงานที่ลูกถนัด หรือลูกสนใจ บางที เด็กผู้ชายอาจจะไม่ชอบอยู่ในครัวกับคุณแม่ เขาอาจชอบไปอยู่ในสวนหรือไปล้างรถกับคุณพ่อ เราก็เลือกงานที่เด็กสนใจ ฝึกให้เขาช่วยทำงานอยู่เรื่อย ๆ เขาก็จะเห็นว่าการรับผิดชอบงาน การช่วยงานพ่อแม่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องที่หนักหนาหรือต้องฝืนใจแต่อย่างไร
เทคนิคเปลี่ยนเด็กขี้เกียจ ให้เป็นเด็กขยัน
เรามีเทคนิคดี ๆ มาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ โดยนำเทคนิคนี้มาจากรายการรอลูกเลิกเรียน ตอน ลูกไม่ช่วยงานบ้าน ที่ได้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กอย่าง แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์มาเผยเคล็ดลับสุดยอดที่จะทำให้ลูกช่วยงานเราได้อย่างไม่ฝืนใจ
ถ้าลูกมีอะไรมาอวดก็ควรพูด “ชม”
บางครั้งการที่เราหวังอยากได้ความรักจากใครเราก็ควรจะให้เขาก่อน อย่างคำชมก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย หากเราจะหยิบยื่นความรู้สึกดี ๆ ให้ลูกออมไว้เป็นกระปุกแห่งความภูมิใจไว้แล้วเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือจากลูก ลูกก็จะไม่เหลือความรู้สึกตะขิดตะขวงใจในการให้ความช่วยเหลือเราในครั้งนี้
อย่าลืมพูด ‘I message’ หรือประเด็นหลักที่อยากให้ลูกทำ
ย้ำกันอีกครั้งว่าการขอความช่วยเหลือเรื่องานบ้านจากลูกไม่ใช่เรื่องผิดและไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำ แต่เราต้องเน้นไปที่ประเด็นหลักที่อยากให้ลูกช่วย ไม่ใช่ให้คำพูดทำร้ายความรู้สึกเป็นของแถมเมื่อลูกปฏิเสธ เช่น “เออ ไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ เดี๋ยวแม่ทำเอง” คำพูดมอบพลังลบ ใครฟังก็คงไม่อยากทำกันใช่ไหมล่ะคะ? ลองเปลี่ยนเป็นการอ้อนอย่าง “ช่วยแม่หน่อยนะลูก แม่ทำไม่ทันจริง ๆ” ถ้าเป็นอย่างนี้..ก็ไม่เป็นการยากที่คนฟังจะให้ความช่วยเหลือกับผู้พูด
สะท้อนให้ลูกรู้ว่าเรานี่แหละเข้าใจเขามากที่สุด
การสะท้อนความรู้สึกเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำก่อนที่จะวานให้ลูกช่วยทำงานต่าง ๆ เป็นเหมือนการสร้างและสะสมความรู้สึกดี ๆ ให้กับลูกและเมื่อวันไหนที่เราต้องการความช่วยเหลือจากเขา มันก็จะเป็นเรื่องง่ายดายในทันทีเพราะลูกจะทำด้วยความเต็มใจ
ตัวอย่างการสะท้อนความรู้สึก คือ การพูดสิ่งที่เราสังเกตเห็นจากตัวลูก เช่น หากเราสังเกตเห็นว่าลูกมีความกังวลใจเรื่องเรียน เราอาจจะบอกเขาว่า “แม่เข้าใจที่ลูกกังวลเรื่องการเรียนนะ แต่ลูกไม่ต้องเครียดมาก ทำตัวสบาย ๆ ไม่ต้องกดดันตัวเองนะลูก มีอะไรก็บอกแม่ได้” เพียงเท่านี้ลูกก็จะรับรู้ถึงความรู้สึกดี ๆ ที่คุณมีให้และอาจส่งผลให้เขาช่วยเหลือคุณในอนาคต
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
7 เคล็ดลับป้องกันเด็กเสพติดเทคโนโลยีมากไป สาเหตุสมาธิสั้นเทียม
นักจิตวิทยาเด็กแนะเทคนิค! เลี้ยงลูกให้ห่างไกล ภัยจากโซเชียลมีเดีย
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.independent.co.uk, biomed.missouri.edu, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ความรู้สุขภาพจิตและปัญหาสุขภาพจิต
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่