ผลตรวจเพิ่มเติม สารเคมีตกค้างในผัก
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN กล่าวว่า ภาพรวมการสุ่มตรวจในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หากดูสินค้าที่ติดตราคือพบตกค้างน้อยลง หากเทียบเป็นแหล่งจำหน่ายยังทรงตัว ซึ่งการเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ครั้งนี้สุ่มจากทั่วประเทศจำนวน 150 ตัวอย่างเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ได้แก่
- ผักยอดนิยม 5 ชนิด ได้แก่ ถั่วฝักยาว คะน้า พริกแดง กะเพรา และกะหล่ำปลี
- ผักพื้นบ้านยอดฮิต 5 ชนิด ได้แก่ ใบบัวบก ชะอม ตำลึง และสายบัว
- ผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ องุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว สับปะรด
โดยสำรวจครอบคลุมตลาดจำนวน 9 ตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี ราชบุรี และสงขลา รวมทั้งจากห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ 3 ห้าง และซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง โดยส่งไปวิเคราะห์ที่แล็บในประเทศอังกฤษ ส่วนสารกำจัดวัชพืชตรวจสอบที่ห้องทดลองของมหาวิทยาลัยเนรศวร พบว่าโดยภาพรวมมีสารพิษปนเปื้อนในผักและผลไม้เกินมาตรฐานถึง 46% แต่ก็ถือว่าดีกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย
โดยผักยอดนิยมทั่วไปมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 64% ผักพื้นบ้านยอดนิยม 43% และผลไม้ 33% ตามลำดับ ผักผลไม้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ถั่วฝักยาว คะน้า ใบบัวบก กะเพรา พริกแดง องุ่น แก้วมังกร เพราะพบการตกค้างเกินมาตรฐานตั้งแต่ 7-9 ตัวอย่างจาก 10 ตัวอย่าง
“ในการตรวจสอบค่าตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่พบว่ากะเพราพบสารตกค้างทั้งหมด 13 ชนิด มากกว่ากะหล่ำปลี จากผลรายงานที่เป็นแบบนี้มา 3 ปีแล้ว ที่กะหล่ำปลีค่อนข้างปลอดภัย คือพบสารพิษน้อยกว่า ถั่วฝักยาวตกมาตรฐานไป 9 ใน 10 ตัวอย่าง และเป็นที่น่าตกใจที่เราพบสารกำจัดวัชพืชตกค้างเกินมาตรฐานมากกว่าสารกำจัดศัตรูพืชเสียอีก โดยพบสารกำจัดวัชพืชตกค้างเกินมาตรฐานในกะหล่ำปลีด้วย และในผักพื้นบ้านยอดฮิตอย่างใบบัวบกก็พบสารประเภทดังกล่าวเกินมาตรฐานในทุกตัวอย่างที่ส่งตรวจ” นางสาวปรกชลกล่าว
อ่านต่อวิธีการล้างผักให้สะอาดปลอดสารพิษได้ที่หน้าถัดไปค่ะ >>
เครดิต: ไทยพับลิก้า