เรียกว่าเป็นเทรนด์ที่ไม่มีตกอยู่เรื่อยๆ สำหรับคนรุ่นใหม่กับเป้าหมายในชีวิตที่อยากเป็น “เจ้าของธุรกิจ” ที่ประสบความสำเร็จ แต่รู้หรือไม่ เบื้องหน้าของความสำเร็จเหล่านั้น จะมีเบื้องหลังและที่มาของการเริ่มต้นอย่างไร รวมถึงเรื่องราวระหว่างทางของผู้ประกอบการที่ต้องพบเจอ มาฟัง 5 เรื่องราว จาก 5 ธุรกิจ ของ 5 ผู้ประกอบการ ใน 5 มุมมองที่จะให้คุณได้ไอเดียในการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองไปพร้อมๆ กัน
“ข้าวใหม่ปลามัน” หัวใจธุรกิจที่เกิดจากชุมชน และทุกความสำเร็จคือรอยยิ้มของชาวบ้าน
เป็นอีกหนึ่งโมเดลการทำธุรกิจที่น่าสนใจ สำหรับร้านอาหารข้าวใหม่ปลามัน ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเกิดจากการต่อยอดสิ่งที่ครอบครัวมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงปลาสลิด เลี้ยงปู เลี้ยงกุ้ง รวมถึงการมองเห็นจุดแข็งของชุมชนที่เต็มไปด้วยแหล่งวัตถุดิบชั้นเยี่ยมที่มีครบทั้งข้าวและอาหารคาวหวาน ทำให้เกิดเป็นร้านอาหารที่มาพร้อมแนวคิด “สนับสนุนชุมชน” ทั้งในเรื่องของการสั่งซื้อวัตถุดิบ และการจ้างงานทั้งงานบริการ งานก่อสร้างตกแต่งร้าน เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้ต่อเนื่อง ในส่วนของร้านอาหารเองก็มีความมั่นใจว่าได้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ มีแรงงานที่ไว้ใจได้ เข้าถึงคนในพื้นที่ จนกลายเป็นจุดแข็งของร้านที่แตกต่างจากที่อื่นๆ และเมื่อธุรกิจเติบโตได้ดี ชาวบ้านก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามไปด้วย
“คนเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง มีอีกหลายอย่างที่ต้องพยายามทำความเข้าใจ
ทำให้เราต้องเรียนรู้ที่เปิดใจกว้าง รับสิ่งใหม่ๆ เสมอ
โดยเฉพาะการก้าวออกจาก Safe Zone ของตัวเอง
เพื่อตามโลกให้ทันจนไปเจอความสำเร็จใหม่ๆ ที่เราคิดไม่ถึง”
…………………………..
“มูร่าห์เฮ้าส์” จากฟาร์มถึงมือ ธุรกิจที่เข้าถึงปัญหา มองเห็น Pain Point จนโดนใจผู้บริโภค
หากจะพูดว่า มูร่าห์เฮ้าส์ คือผู้บุกเบิกการสร้างสินค้า “นมควาย” เจ้าแรกๆ ของประเทศไทยก็คงไม่ผิดนัก ด้วยจุดเริ่มต้นที่มาจากการทำฟาร์มเลี้ยงควายนมพันธุ์มูร่าห์แห่งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ของคุณรัญจวน เฮงตระกูลสิน ที่เกิดจากมุมมองที่อยากหาผลิตภัณฑ์นมเพื่อตอบโจทย์คนที่มีปัญหาแพ้นมวัว รวมถึงเด็กๆ ที่ต้องการสารอาหาร เนื่องจากนมควายมีสารอาหารมากกว่านมวัวถึง 2 เท่า แต่ด้วยความที่เป็นตลาดแบบ Niche Market หรือตลาดเฉพาะกลุ่มมากๆ นอกจากการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพแล้ว การตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้แบรนด์สามารถสื่อสารไปให้ถึงผู้บริโภคในวงกว้างได้อย่างที่ตั้งใจ ซึ่งตรงนี้เองที่ SME D Bank ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น คอยให้ความช่วยเหลือ ทั้งเรื่องเงินทุน และโครงการต่างๆ มีการอบรมที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ หรือถ้ามีตลาดที่ไหนก็ชักชวนให้เอาสินค้าไปขาย ทำให้คนเริ่มรู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ มูร่าห์เฮ้าส์ ได้เป็นมากกว่าผู้ผลิตนมควาย โดยเปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางด้านการเกษตร มีกิจกรรมต่างๆ ให้ทุกคนสามารถลงมือทำจริงได้เลย
“พวกเราเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีประสบการณ์ ต้องเรียนรู้อะไรเยอะมาก
ลองผิดลองถูกไปเรื่อย แต่ด้วยความพยายาม ไม่ท้อ และหาข้อมูลเรื่อยๆ
ทำให้เราได้มุมมองในการทำธุรกิจในหลายๆ เรื่อง
มีปัญหาตรงไหนก็ค่อยๆ แก้ไขไปทีละจุด ไม่เคยท้อเลย”
…………………………..
ตั้งใจ พัฒนา ต่อยอด แนวคิดหลักของแบรนด์ “ชาโมกข์” ที่ไม่เคยหยุดนิ่งกับความเปลี่ยนแปลง
จริงอย่างคำกล่าวที่ว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” เพราะเจ้าของแบรนด์ชาโมกข์อย่างคุณปราณี ศิริบูรณ์พิพัฒนา ได้ไอเดียเริ่มธุรกิจในช่วงอายุเข้าเลข 6 จากประสบการณ์ที่สะสมมาอย่างยาวนานในเรื่องของการเกษตร ประกอบกับความสนใจศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม จนได้ค้นพบคุณสมบัติของสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ช่วยเรื่องการลดอาการผมร่วงได้ จากนั้นก็ได้ต่อยอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ จนเกิดกระแสบอกต่อแบบปากต่อปากไปเรื่อยๆ ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก่อนจะมองหาช่องทางในการขยายตลาดด้วยการเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และการนำสินค้าออกสู่ต่างประเทศ โดยมีผู้ช่วยเบื้องหลังอย่าง SME D Bank ในเรื่องของเงินทุน และการ Re-Brand เปลี่ยน Package เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ และตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งตลอดการทำงานที่ผ่านมา เรียนรู้ว่าการเปิดใจเป็นสิ่งสำคัญ พอๆ กับการอดทนที่ไม่ย่อท้อต่อปัญหาที่เข้ามา โดยต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาตนเอง และสินค้าให้ทันโลกอยู่เสมอด้วยเช่นกัน
“จงเปิดใจยอมรับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ มีความคิดทันสมัย มีแนวคิดที่ดี
ซึ่งเราสามารถมาปรับใช้ได้ การเปิดใจตรงนี้จะทำให้เราได้ขยายกลุ่มเป้าหมาย
ได้ขยายฐานลูกค้า และได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้มากมาย”
…………………………..
“A-Tong” ผลิตภัณฑ์สารบำรุงพืชใบ แบรนด์น้องใหม่มาแรง โดดเด่นด้วยสินค้าคุณภาพดี จากความรู้ที่สั่งสมมานานของเจ้าของแบรนด์
แม้จะเป็นน้องใหม่ในวงการ SME ได้ไม่นาน แต่ A-Tong ก็เดินหน้าอย่างมั่นคงด้วยจุดแข็งในเรื่องของคุณภาพสินค้า ที่ได้รับการพิสูจน์ทั้งจากห้องแล็บและผู้ใช้งานว่ามีคุณภาพ เหมาะสมกับราคาที่จับต้องได้ โดยจุดเริ่มต้นของการสร้างธุรกิจก็มาจากการนำความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการเกษตรมาต่อยอดเป็นสินค้าที่ไม่ได้เจาะกลุ่มคนทำเกษตรเท่านั้น แต่วางกลุ่มเป้าหมายในระดับประเทศ ทั้งใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงครัวเรือน โดยปัจจุบันเน้นทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่ต้องการผลักดันสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความช่วยเหลือจากทางฝ่ายพัฒนาของ SME D Bank ที่เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำการตลาดออนไลน์ จนทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระยะเวลาไม่นาน
“การทำธุรกิจต้องไม่ย่อท้อ ถ้าเรามั่นใจในสินค้าก็ต้องพยายามทำให้คนรู้จัก
แม้ว่าความพยายามจะยาก ก็ต้องอดทน และถ้าโอกาสมาถึง ก็ต้องไม่ปล่อยไป
หากสินค้าเราดีจริง ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้”
…………………………..
“ไอศกรีมมะพร้าวอ่อน กะลาทิพย์” ธุรกิจระดับ SME ที่ยกระดับความอร่อยแบบบ้านๆ สู่ความสำเร็จในระดับชุมชน
จากจุดเริ่มต้นที่เพียงผู้จำหน่ายไอศกรีมในระยะเวลา 6 เดือน สู่การเรียนรู้ที่จะสร้างแบรนด์ของตัวเอง ของคุณธันยพัฒน์ หิรัญวงศ์ จึงเริ่มที่จะศึกษาหาความรู้เรื่องขั้นตอนการทำไอศกรีม ซึ่งระหว่างทำก็ได้พยายามพัฒนาให้เกิดจุดแข็งเพื่อสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นให้กับตัวเองในท้องตลาด ทำให้ค้นพบวัตถุดิบหลักชั้นเยี่ยมของ อ.อัมพวา อย่าง “น้ำหวานดอกมะพร้าว” ที่มีคุณสมบัติให้แคลอรี่ต่ำกว่าน้ำตาลทั่วไป รวมถึงมีโพแทสเซียมและแร่ธาตุอื่นๆ จึงนำมาเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตไอศกรีมมะพร้าวอ่อน กะลาทิพย์ ที่นอกจากความอร่อยแล้ว วิธีการนำเสนอโดยเสิร์ฟไอศกรีมในกะลามะพร้าวก็เป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นที่ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำ จนกลายเป็นของดีของเด็ดที่ใครมาเที่ยวอัมพวาก็ต้องลิ้มลองสักครั้งในชีวิต
“ด้วยที่เราอยากให้ลูกค้าได้ทานของดี จึงมุ่งมั่นพัฒนา
ไอศครีมมะพร้าวอ่อนกะลาทิพย์
โดยใช้กะทิคั้นสด ผสมน้ำมะพร้าวน้ำหอมแท้จากอัมพวา
หอม หวาน อร่อย”