ชวนคุณพ่อคุณแม่พาลูก ไหว้พระ 9 วัด รับปีใหม่ ให้ดวงเฮง สุดปัง แคล้วคลาด ปลอดภัย ไหว้พระอย่างไรให้ได้โชค ทีมแม่ ABK มีไอเดียทริป ไหว้พระให้ครบ สะดวก ไม่พลาดทุกขั้นตอน
แจกทริป!! ไหว้พระ 9 วัด ไหว้ให้ปัง เสริมดวงเฮง หยุดไม่อยู่
ปีใหม่แล้วใครยังไม่ได้ไหว้พระขอพร เสริมดวง เชิญทางนี้ หากอยากให้ดวงเฮงๆ ยิ่งขึ้น ทำอะไรก็ไม่ติดขัด ราบรื่นสมใจ ลองมา ไหว้พระ 9 วัด ขอพรให้ชีวิตสมปรารถนา มุ่งหวังสิ่งใดก็ประสบผลกันค่ะ
การทำบุญไหว้พระ ขอพร ถือศึล มีสมาธิ ย่อมนำมาซึ่งความสงบ ความตื่นรู้ในปัญญาของผู้ที่ปฎิบัติอย่างแน่นอน ดังนั้น หากเราต้องการไหว้พระขอพร เสริมดวงเฮง ย่อมทำให้เราพบเจอ ประสบแต่ความสุข ความเจริญอย่างไม่ใช่เรื่องยาก ดังคำที่ว่า อยากได้แบบไหน เราต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนั้น วันนี้เราจึงขอแจกทริป ไหว้พระ 9 วัด มาฝากกันเผื่อใครสามารถหาเวลาว่างมาร่วมทริปทำบุญ ไหว้พระขอพร ไปด้วยกัน
1.วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดโบราณ มีชื่อว่า “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า ‘วัดเบญจมบพิตร’ อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 และเพื่อแสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์ และได้มีสร้อยนามต่อท้ายด้วย “ราชวรวิหาร” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในชื่อ “Marble Temple”
จุดไหว้สักการะเสริมมงคล
- พระพุทธชินราช (จำลอง)
- พระหริภุญชัยบรมโพธิสัตว์
- พระฝาง
2.วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร อยู่ถนนสามเสน นั่งรถเลยมาอีกนิดจากวัดแแรก วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีชื่อเดิมว่า วัดสมอราย เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์พระราชทานนามใหม่ให้แก่วัดแห่งนี้ว่า ‘วัดราชาธิวาส’ ซึ่งมีความหมายว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา เนื่องจากวัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เมื่อครั้งทรงผนวช
จุดไหว้สักการะเสริมมงคล
- พระประธานอุโบสถ พระสัมพุทธพรรณี (จำลอง)
3.วัดอินทรวิหาร
ทำบุญวัดที่ 3 ลัดเลาะมาแถวถนนวิสุทธิกษัตริย์ใกล้สี่แยกบางขุนพรหม ฝั่งตรงข้ามธนาคารแห่งประเทศไทย วัดอินทรวิหารมีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ เดิมชื่อ วัดบางขุนพรหมนอก
จุดไหว้สักการะเสริมมงคล
- หลวงพ่ออินทร์
- หลวงพ่อโต
- บ่อน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมรํสี) สามารถดื่มหรือพรมศีรษะให้ประสบความสำเร็จสมปรารถนา หมดเคราะห์ หมดทุกข์ หมดโศก หมดโรค หมดภัย มีความสุขความเจริญรุ่งเรือง
4.วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศวิหาร (เดิมชื่อ วัดใหม่) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3 พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์แห่งแรกในประเทศ และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 และ 9
จุดไหว้สักการะเสริมมงคล
- พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถ
- พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต)
- พระไพรีพินาศ ประดิษฐานอยู่ในกำแพงชั้นที่ 2 ของพระเจดีย์สีทองหลังพระอุโบสถ
- พระศรีศาสดา ประดิษฐาน ณ มุขหน้าวิหารพระศาสดาคู่กับพระพุทธไสยา
5.วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
เขยิบเข้ามาใกล้เสาชิงช้า มาทำบุญกันต่อที่วัดที่ 5 วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เดิมรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” แต่ทรงสร้างค้างไว้แต่เพียงรากฐานพระวิหาร มาสร้างแล้วเสร็จในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดฯ ให้ทำการบูรณะสร้างพระวิหารจนสำเร็จแล้วทรงโปรดฯ ให้สร้างพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ กับโปรดฯให้สร้างสัตตมหาสถานและสร้างกุฏิสำนักสงฆ์ประดิษฐานสังฆาราม พระราชทานนามว่า วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8
จุดไหว้สักการะเสริมมงคล
- พระศรีศากยมุนี (พระโต)
- พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
6.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
บริเวณถนนเฟื่องนคร ย่านบำรุงเมือง จะเป็นจุดหมายของเราวัดที่ 6 ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอก ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก
จุดไหว้สักการะเสริมมงคล
- พระพุทธอังคีรส ประดิษฐานในพระอุโบสถ เป็นพระที่ให้คุณในด้านของความสงบสุข ความรุ่งเรือง และเป็นพระที่นิยมกราบไหว้ขอพรก่อนเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ
- รูปหล่อรัชกาลที่ 5 อยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ
- อัฐิอดีตสมเด็จพระสังฆราช
7.วัดพิชยญาติการาม
ที่วัดพิชยญาติการาม เราต้องข้ามมาทางฝั่งธน ซึ่งนับเป็นพระอารามหลวงชั้นโท แต่เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ได้น้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่า “วัดพระยาญาติการาม” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น “วัดพิชยญาติการาม” หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “วัดพิชัยญาติ”
จุดไหว้สักการะเสริมมงคล
- พระปรางค์วัดพิชยญาติการามวรวิหาร
- องค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปปั้น ปางมารวิชัยประดิษฐานในพระอุโบสถ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปจะเรียกท่านว่า “หลวงพ่อสมปรารถนา”
8.วัดอรุณราชวราราม
หรือที่นิยมเรียกกันว่า “วัดแจ้ง” สร้างในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดมะกอก” นับเป็นวัดคู่บ้านเมืองตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก แล้วเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “ วัดอรุณราชวราราม ” มีชื่อเต็มว่า “ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ”
จุดไหว้สักการะเสริมมงคล
- พระปรางค์วัดอรุณ
- พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ
- พระพุทธนฤมิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของรัชกาลที่ 2 ประดิษฐานอยู่ด้านบนบุษบกยอกปรางค์หน้าพระอุโบสถ
- พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสึตยานุบพิตร ประดิษฐานด้านในพระวิหารวัดอรุณ
- พระอรุณหรือพระแจ้ง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์พระและผ้าทรงครองทำด้วยทองสีต่างกัน รัชกาลที่ 4 โปรดให้อัญเชิญมาไว้ที่พระวิหารวัดอรุณ ด้วยพระราชดำริว่า นามพระพ้องกับชื่อวัด
9.วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
วัดสุดท้ายที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดระฆังโฆษิตาราม เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา มาในสมัยธนบุรี ได้ถูกยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ ๕ ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม”
จุดไหว้สักการะเสริมมงคล
- พระประธานยิ้มรับฟ้า ประดิษฐานในพระอุโบสถ
- รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.scb.co.th/https://www.cosmenet.in.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
สีกระเป๋าสตางค์ ตามวันเกิด 2566 สีไหนเด็ดสีไหนปังรับปีกระต่าย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่