“อมรินทร์ อาสา” ร่วมกับพันธมิตร ช่วยเหลือเด็กทารกที่ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดขั้นวิกฤต ในโครงการ “หนึ่งหัวใจ สู่ชีวิตใหม่” โดยมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
หากคุณอยากรู้ว่าหัวใจของคุณมีขนาดเท่าใด ให้ลองกำมือ นั่นแหละ! หัวใจเรามีขนาดเท่ากับกำปั้นของตัวเอง หัวใจของเด็กจึงมีขนาดเล็กเท่ากับกำปั้นน้อยๆ ของเขาเท่านั้น โดยเฉพาะทารกแรกเกิดที่มีปัญหาภาวะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หัวใจของเขายิ่งเล็กและอ่อนแอ การได้รับการรักษาและดูแลอย่างรวดเร็วที่สุด จึงเป็นสิ่งที่คุณหมอและครอบครัวของเด็กอยากให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดด้วยเช่นกัน
บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ทำโครงการเพื่อสังคม “อมรินทร์ อาสา” จับมือพันธมิตร บริษัท ซีเจเวิร์ค จำกัด (CJ WORX) และค่ายเพลง WHAT THE DUCK ทำความดี ช่วยเหลือสังคม กับ โครงการ “หนึ่งหัวใจ สู่ชีวิตใหม่” ใน มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกันระดมทุน เพื่อช่วยเหลือเด็กทารกที่ป่วยด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดขั้นวิกฤต ให้หัวใจดวงน้อยๆ ได้ไปต่อ
ลูก คือแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ และคงไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น การเกิดโรคหัวใจในเด็กนั้นไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจจะมาจากคุณแม่กินยาที่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ หรือถ้าแม่เป็นโรคเบาหวาน เด็กในครรภ์ก็จะเป็นด้วย และทำให้กล้ามเนื้อของเด็กหนาขึ้น รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจส่งผลให้เด็กมีภาวะเป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด หรือเด็กที่มีสารพันธุกรรมผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ดาวน์ซินโดรม ก็จะมีภาวะโรคหัวใจแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน ยิ่งคุณแม่มีประวัติการเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดลูกก็มีสิทธิเป็น โดยเฉพาะถ้าเป็นทั้งคุณพ่อคุณแม่ ก็ให้ตั้งข้อสังเกตไว้เลยว่าลูกก็อาจจะเป็นโรคหัวใจ ที่ทำได้คือควรปรึกษาคุณหมอ และตรวจครรภ์ตามกำหนด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโรคนี้ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร
“อัตราเฉลี่ยของเด็กที่เกิดมาบนโลกนี้ ทุก 1,000 คน จะมีภาวะโรคหัวใจ 8 คนโดยประมาณ ทั้งในไทยและในต่างประเทศเฉลี่ยกันทั่วโลก ดังนั้นถ้าในไทยมีเด็กเกิด 500,000 คน ก็จะมีเด็กที่เป็นโรคนี้ประมาณ 5,000 คนโดยเฉลี่ย คือ 10 เปอร์เซ็นต์ และประมาณ 500คน ก็จะเป็นคนไข้ที่เป็นโรคชนิดรุนแรง แต่ถามว่าอัตราการเกิดโรคนี้ลดน้อยลงไหม ตอบว่าน้อยลง ไม่ใช่เพราะโรคเกิดน้อยลงนะครับ แต่เป็นเพราะอัตราการเกิดที่ลดลง” นพ.วรการ พรหมพันธุ์ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีกล่าวถึงสถานการณ์ของเด็กๆ ที่เป็น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ในปัจจุบัน
“เปรียบเหมือนการข้ามถนนนะครับ ทุกคนเดินข้ามถนน ไม่มีใครตั้งใจจะถูกรถชนหรอกใช่ไหมครับ ทุกคนก็อยากจะเดินข้ามไปถึงอีกฝั่งอย่างปลอดภัย แต่ถ้าบังเอิญมันเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว เราก็ต้องรักษาให้ดีที่สุด และที่สำคัญคือรวดเร็วที่สุด เพื่อให้ชีวิตของเด็กได้ไปต่อ” นพ.วรการ พรหมพันธุ์ กล่าวต่อ
ซึ่งค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดหัวใจแต่ละครั้ง มีมูลค่าสูงมาก แค่ชิ้นส่วนเล็กๆ สำหรับอุดรูรั่วหัวใจก็มีมูลค่าประมาณ 50,000 บาทแล้ว ยังไม่รวมค่าห้องผ่าตัดและการใช้อปกรณ์ต่างๆ จึงอาจจะทำให้บางครอบครัวที่ไม่พร้อมเรื่องค่าใช้จ่าย หมดกำลังใจในการช่วยชีวิตน้อยๆ ของครอบครัว
ช่วยเด็ก 1 คน ไม่ได้ช่วยแค่เด็กนะครับ ช่วยครอบครัวเค้าด้วย พ่อแม่ได้กลับไปทำงานได้ไว เลี้ยงดูครอบครัว ลดภาระ การเดินทางดูแลลูก ได้มีเวลาดูแลครอบครัว สร้างครอบครัว เป็นรากฐานของสังคม ช่วยเด็กโรคหัวใจ ไม่ได้ช่วยแต่เด็ก แต่ช่วยครอบครัวเค้าด้วย โดยภาพรวมก็ช่วยประเทศด้วยนั่นเอง ถ้าสนใจทำบุญตรงนี้ไม่เสียหาย และเป็นประโยชน์มากๆครับ” นพ.วรการ พรหมพันธุ์ กล่าวถึงประโยชน์ในการร่วมบริจาคในครั้งนี้
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมบริจาคเข้าร่วมโครงการ 1 หัวใจ หนึ่งชีวิตใหม่ สามารถร่วมบริจาคได้ที่มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 051-3-00051-5 หรือธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 661-0-55841-8
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม >> มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก
เรื่อง : มัณฑนา ชอุ่มผล
ภาพ: กรานต์ชนก บุญบำรุง
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก ⇓