อยากเพิ่มความแซ่บให้กับชีวิตรักบนเตียง อย่าลืม “ขมิบก้น” ทุกวัน ๆ ละ 20 นาที!!
หนึ่งในปัญหาที่ทำเอาคนเป็นแม่อย่างเราหนักอกหนักใจก็คือ ปัญหาช่องคลอดหลวม ปัสสาวะเล็ด และจิ๋มเรอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะปฏิบัติภารกิจกับสามี เพราะงานนี้นอกจะอายจนเอาหน้ามุดผ้าห่มไม่ทันแล้ว ยังเล่นเอาหมดอารมณ์กันไปตาม ๆ กันอีกด้วย แล้วแบบนี้จะมีวิธีการบริหารหรือช่วยอะไรได้บ้างหรือไม่ อยากรู้ไปอ่านบทความนี้กัน
มาทำความรู้จักกับอุ้งเชิงกรานกันก่อน!
พื้นอุ้งเชิงกรานนั้นประกอบขึ้นด้วย เส้นใยกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มีรูปร่างเป็นแผ่นบาง ๆ ที่ขึงอยู่ใต้กระดูกเชิงกราน โดยด้านหน้ายึดติดกับกระดูกหัวหน่าว และด้านหลังยึดติดกับกระดูกสันหลังส่วนใต้กระเบนเหน็บหรือก้นกบ
หน้าที่ของกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน
- หดรัดตัวเมื่อคุณไอ จาม หรือออกแรงเบ่ง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัสสาวะเล็ดโดยไม่ได้ตั้งใจ
- ช่วยพยุงอวัยวะในช่องท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอยู่ในท่ายืน
- ช่วยปกป้องอวัยวะในอุ้งเชิงกรานจากความเสียหายภายนอก
- ช่วยยึดอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น กระเพาะปัสสาวะ ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
- ช่วยควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ ลม และการเคลื่อนไหวของลำไส้
- มีบทบาทหน้าที่ทางเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานจำเป็นต้องแข็งแรงและมีความตึง หรือกำลังที่ เพียงพอเหมือนเช่นกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆของร่างกาย จึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอ่อนแรงเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
- ใช้งานน้อยเกินไป กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานต้องการการบริหารเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและทำงานได้ดี ฉะนั้น หากปราศจากการบริหารก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวนั้นอ่อนล้าได้
- การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร อาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานได้รับความเสียหาย
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในสตรีวัยหมดระดู อาจมีส่วนทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลงได้ แต่บทบาทด้านนี้ของฮอร์โมนยังคงมีข้อโต้แย้งกันอยู่
- วัยที่สูงมากขึ้น ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
- กล้ามเนื้อเสียหายจากการออกแรงเบ่งมากเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก มีภาวะไอเรื้องรัง หรือโรคอ้วน เป็นต้น