บล็อกแสงแดดเอาไว้ ไม่ให้ทำร้ายผิว - Amarin Baby & Kids

บล็อกแสงแดดเอาไว้ ไม่ให้ทำร้ายผิว

Alternative Textaccount_circle
event

ซัมเมอร์นี้ แสงแดดแรงดีไม่มีตกเหมือนเคย มายกการ์ดปกป้องใบหน้าและลำตัว ไม่ให้แสงแดดน็อคเอาได้ ด้วยครีมกันแดดดีๆสักขวด
แสงแดด ประกอบด้วย
รังสีอินฟราเรด (infrared) 40% แสงที่มองเห็นได้ (visible light) 50% และรังสี อัลตราไวโอเลด (ultraviolet, UV) 10% โดยรังสีอัลตราไวโอเลตแบ่งเป็น UVA UVB และ UVC แต่โอโซนในบรรยากาศได้กรอง UVC ออกไป จึงพบเฉพาะ UVA90% และ UVB10% ซึ่ง UVB ถือเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้ผิวหนังเกิดการไหม้แดงและ ส่งผลให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ในขณะที่แสง UVA แม้ส่องลงมายังพื้นโลกสูงกว่า UVB ถึง 20 เท่า แต่เนื่องจาก UVA มีพลังงานต่ำ ถ้าทำให้ผิวเกิดการเปลี่ยนแปลง UVA ต้องใช้พลังงานมากกว่า UVB ถึง 1,000 เท่า แบ่งเป็น UVAI หรือ long UVA มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดผิวคล้ำ และ UVAII หรือ short UVA ออกฤทธิ์คล้าย UVB ซึ่งทำให้เกิดผิวไหม้แดงได้ ผลิตภัณฑ์กันแดดจึงถือเป็นนางเอกของซัมเมอร์นี้ เพราะนอกจากช่วยป้องกันอาการไหม้จากแสงแดด ยังลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง และช่วยชะลอความชราของผิวได้อีกด้วย

สำหรับสารกันแดด หรือ สารกรองแสงในกันแดดทั่วๆไป มี 2 ประเภท
Chemical Sunscreen (organic sunscreen) มีคุณสมบัติดูดซับรังสีและทำปฏิกิริยาทางเคมี โดยเปลี่ยนให้เป็นช่วงคลื่นอื่น ก่อนคายตัวออกมาจากสารกันแดด ทั้งนี้ยังไม่มีสารไหนป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB ผลิตภัณฑ์กันแดดจึงควรใช้สารเคมีหลายประเภทผสมกัน ซึ่งข้อเสียของสารกลุ่มนี้คือ ก่อให้เกิดการระคายเคือง แพ้ ไม่ทนทานต่อเหงื่อหรือน้ำ และไม่มีความเสถียรเมื่อทำปฏิกิริยากับแสง
Physical Sunscreen (inorganic sunscreen) มีคุณสมบัติทึบแสง ออกฤทธิ์โดยการสะท้อนแสง ทั้ง UVA, UVB, visible light และ infrared light ด้วยความที่เป็นสารทึบแสงจึงดูดซึมได้น้อยมาก จึงไม่แปลกว่าทำไมหลังจากทาแล้ว สีผิวดูขาวมากกว่าปกติ
ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ดี ต้องมี….
อันดับแรกดูที่ SPF (SUN PROTECTION FACTOR) ตัวบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพของครีมกันแดดในการป้องกันการเกิดอาการแดงของผิวหนัง เช่น ตากแดดนาน 15 นาทีจะทำให้ผิวหนังมีอาการแดง หากเราทาครีมกันแดด SPF 30 ผิวหนังจะมีอาการแดงหลังตากแดด 15×30 นาที = 450 นาที หรือ 7.5 ชั่วโมง ทั้งนี้ทาง US-FDA, EU-FDA และ THAI-FDA ระบุให้ตัวเลข SPF ที่ติดฉลากไม่ควรเกิน 50 หากมีค่า SPF มากกว่า 50 ให้ระบุเป็น SPF 50+ แทน
อันดับสองดูที่ค่า PPD หรือ PERSISTENT PIGMENT DARKENING เป็นค่าที่บ่งบอกการปกป้องผิวจากรังสี UVA ตัวการที่ทำให้ผิวดูแก่ และหมองคล้ำ หากมีค่า PPD 10 ทำให้เราทนแดดได้มากกว่าผิวที่ไม่ทาถึง 10 เท่า แต่อย่างไรก็ดีในบางประเทศ อย่าง ญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ใช้ค่า PPD แต่ใช้ค่า PA แทน ซึ่งค่าสูงสูดในมาตรฐาน PA คือ PA+++ ซึ่งเมื่อเทียบกับ มาตรฐาน PPD ค่า PA+++ คือ> 8 ขึ้นไป ล่าสุดองค์การอาหารและยาของ สหรัฐอเมริกาให้ใช้ critical wavelength (CW) เพื่อบอกประสิทธิภาพในการ ป้องกัน UVA แทนแล้ว โดย CW ต้องมากกว่า 370 nm จึงขึ้นชื่อได้ว่าเป็น broad spectrum ซึ่งสามารถระบุว่าลดอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งผิวหนัง และผิวหนัง เหี่ยวย่นก่อนวัยได้
เคล็ดลับในการเลือกครีมกันแดด
– ควรมีคุณสมบัติ Broad-spectrum protection หรือ SPFมากกว่า 30 และ Water resistance ทุกวัน โดยทาให้ทั่วบริเวณที่อยู่นอกร่มผ้าประมาณ 15 นาทีก่อนออกแดด
– บริเวณริมฝีปากอาจเกิดมะเร็งได้เช่นกัน ควรทาลิปมันที่มีสารกันแดด โดยทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง และทาซ้ำหลังจากว่ายน้ำหรือ มีเหงื่อออก
– สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยแนะนำว่าควรใช้ครีมกันแดดประมาณ 1 ข้อนิ้วชี้สำหรับทาหน้าและคอ ทาอย่างน้อย 2 รอบ ถึงจะป้องกันแสงแดดได้
– ส่วนใครที่เป็นสิวง่าย ควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ประกอบด้วย inorganic sunscreen และควรเลือกรูปแบบ เจลหรือโลชั่น เพราะทำให้ซึมเข้าผิวง่าย ไม่เหนียวเหนอะหนะ เพราะถ้าเกิดการตกค้างของสิ่งสกปรกในรูขุมขนมากขึ้น จะทำให้เกิดสิวตามมา
– เลือกใช้เสื้อผ้าที่ปกป้องผิว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หมวกปีกกว้าง และแว่นตากันแดด
-แสงแดดจะแรงที่สุดช่วงเวลา 10.00-14.00 น. เวลานี้จึงควรหลบอยู่ในร่ม และไม่ควรอยู่ใกล้กระจก เพราะรังสี UVA สาเหตุของการเกิดความแก่ หมองคล้ำ และริ้วรอย สามารถทะลุผ่านกระจกได้
ครีมกันแดดชนิดไหน เหมาะกับบริเวณใด
แบบครีม เหมาะสำหรับบริเวณ ผิวที่แห้งและใบหน้า
แบบเจล เหมาะสำหรับบริเวณที่มีขน เช่น ศีรษะและหน้าอก คุณผู้ชายเลือกใช้แบบนี้จะเหมาะกว่า
แบบแท่ง เหมาะสำหรับทาบริเวณรอบ ๆ ดวงตา
แบบสเปรย์ เหมาะสำหรับพกพา และสะดวกในการใช้ ไม่ควรสเปรย์ใกล้ใบหน้าและปากมากเกินไป จนเผลอสูดดมสารกันแดด ไม่ควรสเปรย์ใกล้ในที่มีความร้อน หรือ เปลวไฟ วิธีใช้ ควรสเปรย์ลงบนมือก่อน แล้วค่อยทาบนผิวหนัง เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจาย

 

เรื่อง : ปราณธารา
ข้อมูลโดย : พญ.นัทยา วรวุทธินนท์ แพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดและเลเซอร์ผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง

ภาพ : shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up