ปัจจุบันพ่อแม่ คนใกล้ตัว ผู้ปกครอง ญาติ ถ่ายภาพและคลิปของลูกหลาน แล้วนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก หลายคนอาจโพสต์หรือแชร์คลิปลูกหลานเพราะความน่ารัก ขำขัน ตลก แต่การกระทำเหล่านี้กลับเป็นการละเมิด ไม่ เคารพสิทธิเด็ก เป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และจะกลายเป็นดาบสองคม ส่งผลร้ายต่อเด็ก ในภายหลังได้
ชาวเน็ตแห่ปลื้ม! ปุ้มปุ้ย เคารพสิทธิเด็ก ไม่เผยหน้าลูกในโซเชียล
ปัจจุบันนี้การ เคารพสิทธิเด็ก เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้น สังคมให้ความสนใจ คุณพ่อคุณแม่หลายรายต่างเริ่มตระหนักถึงสิทธิและความเป็นส่วนตัวของลูกน้อย ซึ่งทางฟากฝั่งคนดังในวงการบันเทิงไทยก็มีหลายคนที่เคารพสิทธิลูก หนึ่งในนั้นมี “ปุ้มปุ้ย พรรณทิพา” ที่เพิ่งกำเนิดลูกชายคนแรก “น้องไซอัลบลู สกาย ดูวาล”
แม้จะมีเสียงเรียกร้องว่าอยากชมโฉมหน้าของเด็กน้อยจากบรรดาแฟนคลับ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าคุณแม่มือใหม่จะปล่อยภาพให้แฟนคลับได้ชมโฉมน้อง โดยปุ้มปุ้ยได้เคยพูดไว้เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ปี 2564 ก่อนที่จะคลอดลูกชาย เพื่อตอบแฟนคลับรายหนึ่งที่ส่งข้อความมาถามว่า “คิดยังไงกับเรื่องความเป็นส่วนตัวของเบบี๋ คนที่ติดตามจะได้เห็นน้องไหม?”
“ปุ้มปุ้ย” ได้พูดคุยถึงแนวคิดส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องการเคารพสิทธิลูกชายไว้อย่างชัดเจน ว่า
“เป็นเรื่องที่คิดหนัก และทำการบ้านหนักมากเรื่องนี้ค่ะ ปุ้ยให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กจะได้รับจากผู้เลี้ยงดู 70 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าจะไม่มีใครได้เห็นค่ะ จนกว่าลูกจะเริ่มมีพัฒนาการด้านตัวตน สามารถบอกความรู้สึกได้ จำเป็นต้องขออนุญาตจากลูกก่อนค่ะ…..”
ความคิดของปุ้มปุ้ย สะท้อนให้เห็นว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่ควรได้รับมาตั้งแต่เกิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ทุกคน ควรตระหนักและให้ความสำคัญ ซึ่งสิทธิเด็กที่ติดตัวมาแต่เกิดมี 4 ประเภท
สิทธิเด็ก 4 ประเภท
จากการที่ปุ้มปุ้ยกล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กจะได้รับนั้น สิทธินี้เป็นสิทธิของเด็กที่อายุ 0-18 ปีทุกคนควรได้รับเมื่อเกิดมาแล้ว ประกอบด้วย
- สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) คือสิทธิในการอยู่รอดปลอดภัยตั้งแต่เมื่อคลอด ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดมาปกติ หรือเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม
- สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development) คือสิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาตามมาตรฐาน ความเป็นอยู่และโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงการส่งเสริมเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
- สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection) คือสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการล่วงละเมิด และการทารุณกรรมทุกรูปแบบ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการใช้แรงงานเด็กเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
- สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation) คือสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำ รวมถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเอง
ดาบสองคมโซเชียลมีเดีย
จากประเด็นการเคารพสิทธิของเด็ก ด้วยการไม่โพสต์ภาพและคลิปของเด็ก เนื่องจากอาจจะส่งผลร้ายต่อเด็กนั้น เรื่องนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้สื่อ รวมทั้งคนดังในโลกออนไลน์ได้ออกมาสะท้อนให้สังคมได้คิดกันเป็นจำนวนมาก เช่น จ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเพจดัง Drama-addict ระบุว่า
“การโพสต์ภาพและคลิปของเด็กลงสื่อสังคมออนไลน์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เรียกให้อาชญากรเข้ามาหาตัวเด็กได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์เรื่องราวในชีวิตประจำวัน รวมถึงการ “เช็กอิน” ตามสถานที่ต่าง ๆ ขณะที่ปัจจุบันมีคลิปเด็กจำนวนมากที่ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผู้เผยแพร่กลับเป็นคนที่ทำงานอยู่กับเด็กและเป็นผู้ใกล้ชิดเด็กโดยตรง…”
นอกจากนี้ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังกล่าวเสริมว่าการละเมิดสิทธิเด็กจะส่งผลให้เด็กนับถือตัวเองลดลง
“การนำภาพหรือคลิปการกระทำในทางไม่ดีไปเปิดเผยจะส่งผลทำให้เกิดความเครียด อับอาย รู้สึกไม่ดีกับตัวเองความนับถือในตัวเองลดลง ส่งผลต่อสภาพจิตใจเกิดความรู้สึกแย่ ถูกล้อเลียนจากกลุ่มเพื่อน ถูกมองเป็นเรื่องตลกขำขัน ต้องกลายเป็นคนที่รู้จักของสังคม ไม่มีความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ คลิปที่โพสต์ประจานการกระทำของลูกหลานจะส่งผลลบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งสถานการณ์ทุกกลุ่มอายุถือว่าน่าเป็นห่วง ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องมีความคิดที่รอบคอบ หากรักลูกก็อย่าละเมิดสิทธิ มองถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นให้มาก”
ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวไว้เช่นกันว่าการนำภาพของเด็กไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับการยินยอมนั้น หลายกรณีส่งผลให้เด็กถึงกับเป็นโรคซึมเศร้า
“การที่ภาพ/คลิปของเด็กถูกนำไปตัดต่อ ดัดแปลง เป็นที่สนุกสนานบนอินเทอร์เน็ต บางครั้งถูกนำไปแชร์ต่อและปรับเปลี่ยนเจตนาที่ดีให้กลายเป็นเรื่องไม่ดีเพื่อเรียกยอดไลค์ของแฟนเพจ ซึ่งมีเด็กหลายกรณีที่เด็กกลายเป็นโรคซึมเศร้าจากการโดนล้อเลียนบนอินเทอร์เน็ต กลายเป็นแผลในใจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น ต้องย้ายโรงเรียน เพราะโดนล้อ อึดอัดเพราะกลายเป็นคนดังและมีแต่คนมาพูดคุยหรือล้อเลียน หวาดระแวง เกิดภาวะความเครียด หรือแม้แต่คิดฆ่าตัวตายก็มี”
เผยแพร่ภาพและคลิปเด็ก จัดการทางกฎหมายได้
ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านอาจคิดว่า ก็เด็กคนนี้เป็นลูกเป็นหลานเราเราจะทำอะไรก็ได้ แค่โพสต์รูปหรือคลิปไม่น่าจะรุนแรงนั้น กรณีนี้ ณัฐวุฒิ บัวประทุม หัวหน้างานกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่ามีข้อกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่ามีโทษทางอาญา
“สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายตาม พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับเด็กมากกว่า 200 ฉบับ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ใช้มามากกว่า 10 ปี และนำหลักตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น มาตรา 27 ที่มีโทษทางอาญา หากเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กจนส่งผลกระทบต่อเด็ก นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อีกด้วย ดังนั้น กฎหมายถือว่าบัญญัติไว้ครอบคลุม สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้ แต่ยังขาดการบังคับใช้ที่เป็นรูปธรรมหรือกระบวนการต่าง ๆ ยังมีความล่าช้า”
โพสต์อย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการโพสต์ภาพและคลิป ก็มีแนวทางในการแชร์ภาพหรือคลิปของลูกหลานลงในโซเชียลมีเดีย ไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก ดังนี้
- เอาใจเขามาใส่ใจเราก่อนที่จะโพสต์ภาพหรือคลิป เพราะเด็กอาจไม่รู้สึกตลกหรืออับอาย ไม่ควรนำไปเผยแพร่ ส่งต่อ หรือโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย
- อย่าโพสต์คลิปและภาพเด็กลงโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา เพราะมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงตัวได้
- พ่อแม่ควรทำหน้าที่พ่อแม่ ไม่ใช่เป็นสื่อถ่ายคลิป
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล เช่น กสทช. หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลวิชาชีพอันเกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก เช่น ครู หรือเจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์ ควรมีมาตรการในการดูแลที่จริงจัง
- สื่อและประชาชน ควรร่วมกันให้ความรู้ในเรื่องการเผยแพร่ภาพหรือคลิปที่ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก เพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของคนในสังคม ให้คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมามากขึ้น โดยเฉพาะสื่อก็ไม่ควรเป็นตัวอย่างในการสร้างความคุ้นชินในการเผยแพร่ภาพหรือคลิปเด็กในรูปแบบที่เป็นการละเมิดเด็กด้วยเช่นเดียวกัน
เมื่อได้ทราบแล้วว่าเรื่องที่ดูเล็กน้อยอย่างการโพสต์ภาพหรือคลิปให้เห็นหน้าเด็กโดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากเด็กนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิ ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรระมัดระวังและเตือนตนเองอยู่เสมอว่า การโพสต์นั้นจะส่งผลต่อเด็กอย่างไรบ้างในอนาคต เพราะสิ่งที่โพสต์ลงไปแล้วนั้น เป็น digital footprint ซึ่งจะอยู่บนอินเทอร์เน็ตไปอีกนาน
ขอบคุณข้อมูลจาก
Posttoday ,springnews , มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย , IG pantipa.a
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่