อันตรายจากการใช้สายตาที่มากเกินไป - Amarin Baby & Kids

อันตรายจากการใช้สายตาที่มากเกินไป

event

โรคต้อกระจก โรคต้อหิน โรคต้อเนื้อ  โรคต้อลม โรคจอประสาทตา โรคความผิดปกติทางสายตาเหล่านี้ คือโรคอันดับต้นๆ ที่มักพบได้บ่อยในคนไทย เป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็น และสายตาเลือนลาง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมการใช้สายตาที่ไม่ถูกต้อง มีเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่อยู่กับจอและมีการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานๆ ทั้งยังต้องรับความเสี่ยงจากแสงแดดตามธรรมชาติและจากแหล่งกำเนิดอื่นๆ  หรือสาเหตุอาจเกิดจากภาวะเสี่ยงของโรคตาบางชนิดที่ไม่แสดงอาการ บางรายมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น อย่าเสียโอกาส หากสามารถดูแลดวงตาของคุณได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มีวิธีการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของดวงตาเบื้องต้นด้วยตัวเอง มาแนะนำ หากมีความเสี่ยงหรือพบความผิดปกติ จะได้สามารถหาทางดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีนั่นเอง

เช็กด่วน…พฤติกรรมของคุณ ทำร้ายดวงตาหรือไม่ ?

  • จ้องจอเป็นเวลานานๆ
    ความสว่างของหน้าจอที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นจากการจ้องจอโทรศัพท์ หรือจอมอนิเตอร์เป็นระยะเวลานาน จะทำให้ผู้ใช้ต้องมีการเพ่งสายตามากขึ้น ส่งผลต่อความผิดปกติของค่าสายตาได้ และยังทำให้เกิดการปวดตา เมื่อยล้า ตามัวได้
  • ออกกลางแจ้ง ไม่สวมแว่นกันแดด
    รังสียูวีจากแสงแดด ส่งผลต่อจอประสาทตาได้โดยตรง และยังทำให้เกิดทั้งต้อลมและต้อเนื้อได้
  • ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แสง
    อาจเสี่ยงต่ออาการต่างๆ เช่น จอประสาทตาเสียหายหรือเกิดการไหม้ กระจกตาถลอกจากแสงจ้ามากๆ อาการปวดตาเรื้อรัง น้ำตาไหลตลอดเวลา ปวดกระบอกตา

อาการฟ้อง…ดวงตากำลังถูกทำร้าย !
• ตาล้า ปวดเบ้าตา
• ตามัวเฉียบพลัน
• เคืองตา รู้สึกตาแห้ง หรือมีน้ำตาไหลมากขึ้น
• ค่าสายตาคลาดเคลื่อนมาก หรือมีระดับสายตาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
• มีความดันตาสูงผิดปกติ ซึ่งเป็นความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหิน
• อาการเห็นจุดดำตรงกลาง หรือมีเงามืดในลานสายตา
• เห็นแสงวาบเหมือนฟ้าแลบ หรือเห็นจุดดำลอยไปมาเวลากลอกตา

หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญของการตรวจตาอยู่เสมอ ดูแลถนอมตาให้เป็นปกติได้นานมากที่สุด และแนะนำให้พบจักษุแพทย์ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจค้นหาโรคทางตา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางตาสูงกว่าคนทั่วไป 5 – 7 เท่า

การตรวจคัดกรองดวงตาไม่เพียงช่วยให้ค้นพบความผิดปกติของดวงตาในระยะเริ่มแรก แต่ยังช่วยให้ค้นพบโรคเกี่ยวกับดวงตาในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ ทั้งนี้การตรวจคัดกรองดวงตาจะช่วยให้ทำการรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่อาการจะรุนแรง หากพบและรักษาทันท่วงทีจะสามารถช่วยลดการสูญเสียการมองเห็นได้

สนับสนุนข้อมูลทางการแพทย์โดย : นพ.พิชชาทร จิตต์นิลวงศ์ จักษุแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up