ปัญหาของการใช้ลิปทาปากที่มี ปิโตรเลียมเจลลี่
มีหลังไมค์มาปรึกษาผมว่า ไปซื้อลิปมันทาปากมายี่ห้อหนึ่ง พอใช้แล้วรู้สึกริมฝีปากมีสีคล้ำขึ้น เค้าดูส่วนผสมแล้วพบว่ามี “สารปิโตรเลียมเจลลี่” ซึ่งเจอในหลายเว็บบอกว่าน่าจะเป็นสาเหตุ แถมมีบอกว่าเป็นอันตรายด้วย … เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน … คำตอบคือ สารที่ว่านี้ ถ้าคุณภาพดีมาก สกัดบริสุทธิ์มาก ก็พอจะปลอดภัยใช้เป็นเครื่องสำอางได้ แต่ถ้าไม่มั่นใจ โดยเฉพาะกับการมาใช้เป็นลิปมันทาปากเนี่ย หลีกเลี่ยงไปใช้พวกขี้ผึ้งธรรมดาจะดีกว่าครับ
เรื่องเครื่องสำอางมีสารดังกล่าว และส่งผลให้เกิดอาการแพ้หรือเป็นอันตรายได้นั้น เป็นที่ทราบและกังวลกันมานานแล้วในต่างประเทศ แม้ว่าเราจะเห็นเครื่องสำอางหลายยี่ห้อในบ้านเรายังมีส่วนผสมนี้อยู่ก็ตาม
ปิโตรเลียมเจลลี่ (petroleum jelly) คือสารเคมีที่เป็นอนุพันธ์ผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ มีราคาถูก และนิยมเอามาใช้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะผิวสาว ๆ ที่แตกแห้ง หรือผิวเด็กทารกที่เป็นผื่นจากผ้าอ้อม โดยที่มันเป็นสารที่ไม่ละลายน้ำและไม่หลุดออกง่าย จึงเคลือบผิวที่แห้งนั้นเอาไว้ได้ดี เหมือนมีพลาสติกมาเคลือบผิวไว้
ปัญหาคือ ถ้าเอาไปใช้กับผิวที่บอบบาง มันจะไปอุดตันรูขุมขน ทำให้เกิดสิวเสี้ยนได้ และทำให้ผิวไม่ได้แลกเปลี่ยนความชื้นกับอากาศและกลับจะทำให้ผิวแห้งขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว (ทั้งที่ผิวดูมัน ๆ ชื้น ๆ ) แถมยังล้างออกยาก กลายเป็นสะสมความสกปรกเอาไว้
ยิ่งบางคนอาจจะเกิดอาการแพ้ขึ้นได้ ถ้ามันไม่ได้กลั่นมาอย่างบริสุทธิ์เพียงพอ ก็จะทำให้ยังมีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเป็นได้ทั้งสารที่ทำให้แพ้ หรือแม้แต่สารก่อมะเร็ง สารพวกนี้ปนเปื้อนหลงเหลือมาจากกระบวนการกลั่นแยกสารดังกล่าวจากน้ำมันดิบ และสามารถซึมเข้าไปในชั้นผิวหนังเราได้
ผู้บริโภคอย่างเรานั้นไม่อาจจะตรวจสอบได้เลยว่า เครื่องสำอางยี่ห้อที่ใช้อยู่ ได้สกัดสารพวกนี้ออกไปหมดหรือเปล่า ขณะที่จริง ๆ แล้ว สารดังกล่าวควรจะใช้กับร่างกายภายนอกเท่านั้น ดังนั้น การเอามาทาปาก ก็จะทำให้สารอันตรายพวกนี้เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น ถ้าเราไม่มั่นใจว่าปิโตรเลียมเจลลี่ยี่ห้อที่ใช้นั้น ปลอดภัยแค่ไหน และอยากได้พวกมอยส์เจอไรเซอร์มาใช้ทาแก้ปากแห้ง ก็ควรจะเปลี่ยนกลับไปใช้พวกที่เป็นสารธรรมชาติ 100% ไม่มีสารเคมี เช่น พวกขี้ผึ้ง ฯลฯ อย่างผมไปดูงานที่อเมริกาปีก่อน ก็โดนที่บ้านฝากให้ซื้อพวกลิปมันยี่ห้อ Burt’s Bees มาฝาก ในไทยก็มีขายตามพวกร้านบู๊ทส์ ร้านวัตสัน ลองใช้ดูละกันนะครับ
(ปล. มีคนพูดถึง “วาสลีน” อันนี้เป็นชื่อยี่ห้อนะ เหมารวมไม่ได้ครับ)
ทั้งนี้ เจ้าสารที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีแต่โทษนะคะ ประโยชน์ของเขาก็นานับประการจริง ๆ ค่ะ