6 แนวทางนำเสนอข้อมูลเด็ก ไม่ให้ ละเมิดสิทธิเด็ก - Amarin Baby & Kids

6 แนวทางนำเสนอข้อมูลเด็ก ไม่ให้ ละเมิดสิทธิเด็ก

Alternative Textaccount_circle
event

6 แนวทางนำเสนอข้อมูลเด็ก ไม่ให้ ละเมิดสิทธิเด็ก

ปัจจุบันเราได้รับเรื่องราวข่าวสารจำนวนมากผ่านทางสื่อออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งมีทั้งเรื่องทั่วไปที่ดูน่ารักน่าชัง รวมไปถึงเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เช่น เรื่องที่เด็กเป็นผู้ถูกกระทำ เด็กกระทำความผิด เด็กมีความพิการ เป็นต้น ซึ่งการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้มีความเสี่ยงว่าจะ ละเมิดสิทธิเด็ก หากไม่ระวังค่ะคุณพ่อคุณแม่

6 แนวทางนำเสนอข้อมูลเด็กไม่ให้ ละเมิดสิทธิเด็ก

สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดทำแนวปฏิบัติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเด็กที่มีผลต่อครอบครัวและสังคม โดยไม่ละเมิดสิทธิเด็ก  ดังนี้

1.แนวทางการนำเสนอข้อมูลเด็กในสถานการณ์ทั่วไป

การนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเด็กต้องอยู่บนหลักการพื้นฐานของสิทธิเด็ก ให้ความสำคัญกับเด็กทุกเพศสภาพ ทุกเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

Do’s ควรทำ

  • คิดถึงประโยชน์และความปลอดภัย ในการเปิดเผยอัตลักษณ์ของเด็ก และต้องขออนุญาตอย่างถูกต้อง
  • นำเสนอศักยภาพของเด็ก เช่น การเป็นคนดี มีจิตอาสา สร้างแรงบันดาลใจได้โดยไม่ต้องปิดบังอัตลักษณ์
  • ใช้ภาพวาด ภาพการ์ตูน เพื่อปกปิดตัวตน ใช้คำบรรยายหรือใช้อินโฟกราฟิกเป็นข้อมูลภาพรวม หากภาพของเด็กจะส่งผลเสียต่อตัวเด็ก
  • ให้ความสำคัญกับเด็กทุกเพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมแบบเท่าเทียม
  • งดเว้นการนำเสนออัตลักษณ์ทางเพศ ของเด็กหรือบุคคลในครอบครัวหากไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะนำเสนอ
  • เปิดพื้นที่ให้เด็กแสงดความคิดเห็น หรือมีบทบาทในเรื่องที่ส่งผลกระทบหรือเกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรง

Don’t ไม่ควรทำ

  • ไม่นำเสนออัตลักษณ์ของเด็ก หรือบุคคลในครอบครัวหากเสี่ยงจะเกิดความเสียหาย ยกเว้นกรณีเด็กหาย
  • ไม่นำเสนอข้อมูลที่ส่งผลเสีย หรือทำให้เกิดการตัดสินเด็กในเชิงลบ
  • ไม่นำเสนอภาพหรือคลิปลามก อุจาด อนาจาร หรือทำให้เด็กเป็นตัวตลก น่าสงสาร น่าสมเพช
  • ไม่เผยแพร่ภาพที่จะทำให้เด็กและญาติพี่น้องเสี่ยงอันตราย แม้จะทำภาพเบลอก็ตาม
  • ไม่ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว ของเด็กและครอบครัว ไม่ขุดคุ้ยประวัติเชิงลบ
  • ไม่ควรใช้คำแบ่งแยกเด็ก ที่ทำให้เกิดการล้อเลียน เช่น กะเทย ตุ๊ด เกย์
  • ไม่นำเสนอเรื่องราวโดยมีความจริงไม่ครบถ้วน
  • ไม่ปิดกั้นหรือเลือกปฏิบัติ หากเด็กต้องการแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมโดยไม่มีเหตุผลที่สมควร

2.แนวทางการนำเสนอข่าวเด็กที่เป็นผู้ถูกกระทำ

หมายถึงเด็กที่ต้องได้รับความคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ การแสวงประโยชน์กับเด็กในทุกรูปแบบ รวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศออนไลน์

Do’s ควรทำ

  • ระวังการใช้ภาษา ต้องคำนึงถึงสิทธิ จิตใจ ชื่อเสียงของเด็กและครอบครัว
  • ควรสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ แทนการสัมภาษณ์เด็ก หรือครอบครัว
  • ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือเด็กหรือครอบครัวก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ
  • ระวังการเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นออนไลน์ เพราะอาจเป็นการซ้ำเติมเด็ก
  • ควรให้ความรู้เตือนภัย สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง นำเสนอวิธีการรับมือ และช่องทางขอความช่วยเหลือที่ถูกต้อง

Don’t ไม่ควรทำ

  • ไม่นำเสนออัตลักษณ์ของเด็ก คนในรอบครัว คนร้าย บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ ยกเว้นกรณีเด็กหาย แต่ต้องไม่ส่งผลเสียต่อเด็ก
  • ไม่นำเสนอข้อมูลที่ซ้ำเติมความทุกข์ของเด็กและครอบครัว หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
  • ไม่นำเสนอข้อมูลเด็กที่ทำให้เข้าใจว่า การที่เด็กถูกกระทำเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นเพราะเคราะห์ร้าย
  • ไม่นำเสนอข้อมูลที่ตัดสินเด็กและครอบครัวในเชิงลบ หรือนำเสนอเกินกว่าความจริง
  • ไม่ใช้คำบรรยายที่รุนแรง ส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจ
  • ไม่สัมภาษณ์เด็กโดยตรง ป้องกันการกระทบกระเตือนจิตใจ

3.แนวทางการนำเสนอข่าวเด็กที่เป็นผู้กระทำความผิด

ผู้กระทำความผิด หรือเสี่ยงต่อการกระทำความผิด หมายถึงเด็กที่มีพฤติกรรมไม่สมควร มีอาชีพ หรือคบหากับคนที่ชักนำไปในทางผิดกฎหมาย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี หรืออยู่ในสภาพแวดล้อม ที่อาจชักนำไปในทางเสียหาย

Do’s ควรทำ

  • คำนึงถึงประโยชน์ของเด็ก
  • ปกปิดอัตลักษณ์ของเด็ก ไม่ว่าจะในฐานะพยาน ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา ผู้กระทำความผิด หรือแม้แต่เด็กที่อยู่ในสถานพินิจที่ปรากฏในกิจกรรมทางการกุศล
  • นำเสนอด้วยภาพการ์ตูน ภาพวาด หรือคำบรรยาย แทนการเสนอภาพเด็กหรือผู้ใกล้ชิดกับเด็ก
  • การใช้คำเรียกเด็กที่ทำความผิด เช่น ก่อนแจ้งความ=เด็กผู้ต้องสงสัย ระหว่างสอบสวน=เด็กผู้ถูกกล่าวหาว่าทำผิด และหลังศาลตัดสินว่าผิด = เด็กที่กระทำความผิด
  • นำเสนอในลักษณะภาพรวม ไม่เจาะจงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเด็ก มุ่งให้ความรู้ในเชิงป้องกัน หรือเยียวยา รวมทั้งสนับสนุนให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหา
  • ระวังการเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็น ในทางออนไลน์ที่อาจเป็นการซ้ำเติมเด็ก
  • กรณีเสพติดเกม ควรนำเสนอข้อมูลอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ การแพทย์และสาธารณสุข

Don’t ไม่ควรทำ

  • ไม่นำเสนอข้อมูลอัตลักษณ์ของเด็ก ข้อมูลทางการสอบสวน ประวัติการทำผิด
  • ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรง ประณาม ตัดสิน ซ้ำเติม ให้ความหมายเชิงลบ ที่มีผลต่อใจเด็ก ครอบครัว และผู้เกี่ยวข้องให้ถูกกีดกันออกจากสังคม
  • ไม่เสนอข้อมูลที่อาจชักนำให้เกิดการเลียนแบบ
ละเมิดสิทธิเด็ก
6 แนวทางนำเสนอข้อมูลเด็ก ไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก

4. แนวทางการนำเสนอข่าวเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก

เด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก หมายถึงเด็กกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ เด็กที่อยู่ในภาวะยากจน ไร้บ้าน กำพร้า ประสบภัยพิบัติ วินาศกรรม ความรุนแรง ภัยสงราม หรืออยู่ในพื้นที่ค่ายอพยพลี้ภัย หรือเด็กที่ต้องรับภาระหน้าที่ในรอบรัวเกินวัย เกินกำลัง และสติปัญญา หรือเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

Do’s ควรทำ

  • ระวังการเปิดเผยอัตลักษณ์เด็กอย่างชัดเจน
  • การระบุชื่อสถานสงเคราะห์ ศูนย์อพยพ ศูนย์ช่วยเหลือ ที่เชื่อมกับตัวเด็ก ต้องถามความสมัครใจ และต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง
  • ควรนำเสนอภาพเด็กในเชิงบวก ถ้าได้รับอนุญาต
  • ระวังการนำเสนอข้อมูลที่อาจกระทบใจเด็ก
  • นำเสนอเพื่อนำไปสู่ความช่วยเหลือ
  • ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบุคคลหรือองค์กรที่ระดมความช่วยเหลือเด็ก
  • ควรมีช่องทางติดต่อองค์กรที่ช่วยเหลือเด็กในเนื้อหาที่ลง

Don’t ไม่ควรทำ

  • ไม่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก โดยมีเจตนาให้เกิดความเสียหายไม่ว่าในทางใด หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
  • ไม่นำเสนอภาพเด็กในลักษณะที่น่าสงสาร หากจำเป็นต้องทำเพื่อให้เกิดวามช่วยเหลือควรเบลอภาพที่ไม่เปิดเผยตัวตนเด็ก
  • ไม่ใช้คำที่แสดงความคิดเห็นเชิงลบ ต่อเด็กหรือครอบครัว ควรนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา

5.แนวทางการนำเสนอข่าวเด็กพิการ

หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สมอง สติปัญญา หรือจิตใจ ไม่ว่าจะตั้งแต่กำเนิดหรือภายหลัง อาจเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ

Do’s ควรทำ

  • ระวังการเปิดเผยอัตลักษณ์ของเด็ก เว้นแต่เป็นประโยชน์กับเด็กและได้รับอนุญาต
  • ควรสัมภาษณ์ผู้ดูแล ผู้ปกครอง แทนตัวเด็ก
  • นำเสนอข้อมูลเชิงบวก เช่น ศักยภาพและความสามารถ ความร่าเริง โดยต้องขออนุญาตก่อน
  • ควรใช้คำว่าเด็กหญิงเด็กชายหากต้องระบุความพิการให้ใช้ว่า เด็กบกพร่องทางร่างกาย,เด็กพิเศษ,กลุ่มเปราะบาง,เด็กบกพร่องทางสติปัญญา
  • ควรมีข้อมูลหรือความเห็นจากนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กพิการเพื่ออธิบายพฤติกรรมหรือความจำเป็นพิเศษของเด็ก
  • นำเสนอข้อมูลเพื่อมุ่งความช่วยเหลือ หรือเด็กได้ประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อความสงสาร
  • ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบุคคลหรือองค์กรที่ระดมความช่วยเหลือ

Don’t ไม่ควรทำ

  • ไม่นำเสนอข้อมูลที่เจตนาให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง หรือเพื่อหาประโยชน์จากเด็ก
  • ไม่นำเสนออัตลักษณ์ของเด็ก เพื่อเรียกร้องความสงสาร หรือซ้ำเติมความทุกข์ของเด็ก
  • ไม่นำเสนอข้อมูลในลักษณะดูถูก เหยียดหยาม
  • ไม่สัมภาษณ์เด็กโดยตรง

6.แนวทางการนำเสนอข่าวเด็กที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคที่สังคมไม่ยอมรับ

เด็กที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคที่สังคมไม่ยอมรับ หมายถึง เด็กที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย หรือดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อทั้งโรคติดต่อ ไม่ติดต่อ หรือโรคระบาด ที่คนในสังคมมีท่าทีเชิงลบต่อผู้ติดเชื้อ

Do’s ควรทำ

  • ระวังการนำเสนอข้อมูล ที่อาจกระทบการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กและครอบครัว
  • ปกปิดอัตลักษณ์ของเด็ก คนในครอบครัว คนใกล้ชิด ยกเว้นได้รับอนุญาต โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของเด็ก
  • ควรใช้ภาพวาด การ์ตูน และคำบรรยายเพื่อปกป้องเด็กและครอบครัว
  • นำเสนอข้อมูลในเชิงส่งเสริม ป้องกัน ให้ความรู้ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม

Don’t ไม่ควรทำ

  • ไม่นำเสนอข้อมูลเด็กและครอบครัว โดยตั้งใจให้เกิดความเสียหาย หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
  • ไม่ทำให้เด็กและครอบครัวเสียใจ อับอาย จนนำไปสู่การกีดกันในสังคม
  • ไม่นำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อเด็กและครอบครัว

ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ล้วนมีความละเอียดอ่อนต่อการละเมิดสิทธิเด็ก ขอให้คุณพ่อคุณแม่ระมัดระวังการนำเสนอและการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับเด็กด้วยนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

SpringNews

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ชาวเน็ตแห่ปลื้ม! ปุ้มปุ้ย เคารพสิทธิเด็ก ไม่เผยหน้าลูกในโซเชียล

เปิดกฎหมาย 6 ประเทศ ห้ามตีเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู ถือว่าผิดกฎหมาย!

นี่คือ…สาเหตุ “ลูกถูกล่วงละเมิดเพศ” ที่พ่อแม่คาดไม่ถึง!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up