การเลือกวิธีผ่าตัด
การเลือกวิธีการผ่าตัดแบบใดนั้น ขึ้นกับชนิดและความซับซ้อนของความผิดปกติของหัวใจที่ตรวจพบ รวมทั้งความสามารถ และความถนัดของศัลยแพทย์ของแต่ละสถาบัน ซึ่งได้แก่
- การผ่าตัดแบบประคับประคอง(ไม่สามารถแก้ไขความผิดปกติทั้งหมดได้) และบางรายอาจต้องผ่าตัดแบบประคับประคองอีกหลายครั้ง ซึ่งสุดท้ายก็ยังคงได้แค่ประคับประคองอยู่ดี
- การผ่าตัดแบบประคับประคองไปก่อนสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยทำการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติทั้งหมดให้เหมือนปกติในภายหลัง
- การผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติทั้งหมดให้เหมือนปกติในคราวเดียวเลย
วิธีการผ่าตัดต่างๆ นี้ ถ้าแบ่งตามเทคนิคในการใช้เครื่องมือแล้ว สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- กลุ่มที่ผ่าตัดโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องปอดหัวใจเทียม
- กลุ่มที่ผ่าตัดโดยอาศัยเครื่องปอดหัวใจเทียมโดยระหว่างที่ทำการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติ
– บางชนิดสามารถทำได้ในขณะที่หัวใจยังเต้นอยู่
– บางชนิดต้องทำให้หัวใจหยุดเต้นก่อนจึงจะทำการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติได้
– หรือบางชนิดต้องลดอุณหภูมิลงไปเย็นมาก ที่อุณหภูมิประมาณ 15 – 18 องศาเซลเซียส แล้วหยุดระบบไหลเวียนทั้งหมดของร่างกาย โดยหยุดหัวใจและเครื่องปอดหัวใจเทียมด้วย ต่อจากนั้นจึงจะทำการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติได้
เนื่องจากการผ่าตัดแก้ไขโรคหัวใจในเด็กนั้น ความผิดปกติบางอย่างสามารถรอได้นาน บางอย่างก็ต้องทำการผ่าตัดแก้ไขทันที แต่ด้วยความเข้าใจผิดหรือความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งแพทย์ที่ดูแลเบื้องต้นเกี่ยวกับการดำเนินของโรค ทำให้มีเด็กโรคหัวใจจำนวนมากที่เสียโอกาสในการผ่าตัดแก้ไข บางรายไม่สามารถทำการผ่าตัดแก้ไขได้ ( เนื่องจากเกิดความเสียหายอย่างถาวรต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และปอดแล้ว ) หรือผลของการผ่าตัดไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากมารับการผ่าตัดแก้ไขช้าเกินไป
ดังนั้นเด็กที่เป็นโรคหัวใจควรจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ และได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องครบถ้วนจากกุมารแพทย์โรคหัวใจตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ทั้งนี้เพื่อที่กุมารแพทย์โรคหัวใจจะได้ส่งเด็กไปให้ศัลยแพทย์โรคหัวใจเด็กทำการผ่าตัดแก้ไขในช่วงเวลาที่เหมาะสม
ภาพจาก Instagram opalpanisara