⇒ อาการที่แสดงว่าลูกกำลังเกิดปัญหาติดเกมที่ผู้ปกครองต้องพาไปพบจิตแพทย์โดยด่วน
- เด็กใช้เวลาหมกมุ่นอย่างมากกับการเล่นเกม อินเทอร์เน็ต จนเกิดการกระหายโอกาสในการเข้าถึง
- เด็กใช้เวลาเล่นนานกว่า 2 ชั่วโมง และมีอาการถอน คือ อาการหงุดหงิด กระวนกระวาย อาละวาดเมื่อบอกให้หยุดเล่นเกม
- เด็กอาจมีอาการแตกต่างกัน เช่น บางคนแค่หงุดหงิด บางคนรุนแรงทำลายข้าวของ ทำร้ายพ่อแม่ ทำร้ายตัวเอง ขาดสมาธิการเรียน โดดเรียน ไม่ยอมไปโรงเรียน บางคนอดนอน ขโมยเงิน ท้อแท้สิ้นหวังในโลกความเป็นจริง
♥ การบำบัดรักษาลูกติดเกม
สำหรับการบำบัดรักษาเด็กที่ติดเกม ในปัจจุบันจะใช้ยาทางจิตเวชรักษาร่วมกับการทำจิตบำบัดรายบุคคล กลุ่มบำบัดและครอบครัวบำบัด เพื่อปรับพฤติกรรมอารมณ์และความคิด แต่ละรายใช้เวลารักษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ขณะนี้สถาบันฯ ได้พัฒนาระบบบริการรักษาที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น
โดยพัฒนาโปรแกรมบำบัดชนิดใหม่ในรูปแบบกิจกรรมค่ายบำบัดครอบครัวที่มีเด็กติดเกม (Family Smart Player Camp) ภายใต้แนวคิด ฉลาดเล่น รู้วินัย ฉลาดรัก รู้จักเลือก เป็นกิจกรรมการเรียนรู้และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ใช้ทีมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักจิตวิทยา พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ดำเนินการ ใช้เวลา 3 วัน เพื่อให้วัยรุ่นตระหนักเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาติดเกม พัฒนาความคิด การตัดสินใจ ความกล้าหาญ ความภาคภูมิใจ
ซึ่งทางสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้จัดไปแล้ว 1 รุ่น พบว่า ได้ผลดี โดยสถาบันฯจะทำการศึกษาติดตามประเมินผล เพื่อพัฒนาให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้เปิดแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า ค้นพบความสุขกับลูกวัยรุ่น เพิ่มช่องทางให้ความรู้แก่พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยรุ่นได้เข้าใจธรรมชาติวัยรุ่นมากขึ้น รู้วิธีพูดกับวัยรุ่นได้อย่างเข้าใจ ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอปฯนี้ฟรีในเพลย์สโตร์ ทั้งระบบ IOS และแอนดรอยด์ ขณะนี้มีผู้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 1,000 ครั้ง ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ว่าเป็นแอปพลิเคชันที่เหมาะสำหรับการสื่อสารกับลูกในยุคดิจิตอล อย่างไรก็ดี หากพ่อแม่ต้องการขอรับคำปรึกษาการเลี้ยงลูกวัยรุ่น สามารถโทรที่สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงได้เช่นกัน
√ 5 วิธีช่วยลูกหลานให้รอดพ้นจาก ภัยเกม!
1…สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกๆ โดยรู้จักเปิดใจรับฟังลูกๆ ด้วยความเข้าใจ ไม่เอาแต่จ้องจะตำหนิติบ่น หรือก่นด่า ทำให้ลูกรู้สึกได้ว่า”อบอุ่นและปลอดภัย” เมื่ออยู่ใกล้พ่อแม่ ให้พวกเขามั่นใจในความรักของเรา ให้พวกเขาเห็นว่าเราเป็นเสมือน”เพื่อนรุ่นพี่”ที่ทั้งน่าศรัทธาและเป็นกันเอง ไม่ใช่เป็นปีศาจร้ายที่อยากหนีไปไกลๆ
2… ไม่ถึงกับห้ามเล่นเกมอย่างเด็ดขาด เพราะหากหักดิบเช่นนั้น ในขณะที่ลูกกำลังติดเกม ก็เสี่ยงต่อการเกิดบาดหมางใจตามมา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเห็นใจ ให้กำลังใจ เป็นที่ปรึกษาที่ดีของลูก ช่วยลูกเลือกเกม เช่น เกมที่เพิ่มทักษะทางด้านภาษา และ งดเกมประเภทไล่ล่าฆ่าฟัน หยาบคาย หรือความรุนแรงอื่นๆ
อย่างไรเสีย ข้อตกลงเพื่อจำกัดเวลาในการเล่น เป็นเรื่องจำเป็น เช่น ให้เล่นได้เฉพาะในวันหยุดไม่เกิน 2 ชั่วโมง และมีเวลาพักระหว่างเล่นทุก 20 นาที เป็นต้น
3…ชักชวนลูกๆ ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อมาแทนที่การติดเกม กิจกรรมที่อยากแนะนำคือ การท่องเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกันทั้งครอบครัว หรือที่ผู้ใหญ่ในยุคนี้มักจะหลงลืม แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า เด็กๆ กลับตื่นเต้นและให้ความสนอกสนใจมากยิ่งกว่าที่เราคาดคิดไว้เสียอีก เช่น ไปหอสมุดแห่งชาติ, ท้องฟ้า, จำลอง, พิพิธภัณฑ์, หอศิลป์, สวนสัตว์เขาดิน, วัดพระแก้ว ฯลฯ
4…ค้นหาสิ่งที่ลูกของเราสนใจเป็นพิเศษ แล้วส่งเสริมสนับสนุนให้เหมาะสม แล้วคุณจะแปลกใจ ปลื้มใจ และสนุกสนานไปกับกิจกรรมที่ลูกๆ ชอบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทำอาหารเป็นพ่อครัวหัวป่าก์, เป็นนักกีฬาตัวน้อย, ดีเจวิทยุ, พิธีกรคนเก่ง, นักถ่ายรูปมือโปร ฯลฯ
5…จากการวิจัยที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ระบุไว้ชัดเจนว่า วิธีฝึกสมองที่ดีที่สุดคือ “การอ่านหนังสือ” ดังนั้น ชวนลูกเข้าร้านหนังสือซิด่วน! ให้เขาเลือกเล่มที่เขาชอบแล้วซื้อให้ ลงทุนเรื่องหนังสือนั้นคุ้มค่ากว่าอะไรอื่น โดยเฉพาะดีกว่าสะสมแผ่นเกมอย่างเทียบกันไม่ได้เลย
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- Digital Dementia โรคความจำเสื่อมเพราะเด็กเล่นเทคโนโลยี
- ใส่ใจลูกทุกครั้ง เมื่อลูกเล่นเกม
- แชร์ประสบการณ์! ลูกติด ipad เพราะแม่ใช้เลี้ยงตั้งแต่เล็ก เสี่ยงเป็นออทิสติก
- แก้อาการลูกติดอินเตอร์เน็ต
- อุทาหรณ์! ลูกติดจอรุนแรงระงับอารมณ์ไม่ได้
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.manager.co.th
บทความโดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี