โควิดสายพันธุ์ใหม่ – ในช่วงเวลาที่ดูเหมือนว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไทยกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในประเทศมีจำนวนลดลดลง กลับมีการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่ทั้งทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยกำลังเฝ้าจับตา ซึ่งได้แก่ สายพันธุ์ เดลต้าพลัส เชื้อกลายพันธุ์ที่คาดว่าสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ในการแพร่ระบาดอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสแล้วหนึ่งราย
เดลต้าพลัส โควิดสายพันธุ์ใหม่ ติดง่ายกว่าเดิม!
โควิดสายพันธุ์ใหม่ Delta Plus
เดลต้าพลัส ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ AY.4.2 เป็นเชื้อกลายพันธุ์จากสายพันธุ์เดลต้าเดิม ที่ทางอังกฤษกำลังให้ความสนใจเนื่องจากมีการค้นพบในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการระบาดระลอกใหม่ในอังกฤษที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อหลายหมื่นคนต่อวัน ซึ่งพบว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ ติดสายพันธุ์เดลต้าพลัสถึง 6% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ล่าสุด พบว่าสายพันธุ์เดลตาพลัส มีการระบาดในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น โปแลนด์ เนปาล รัสเซีย จีน ตุรกี เดนมาร์ค และ อินเดีย สำหรับในประเทศไทย กรมควบคุมโรคได้แถลงเมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Delta Plus ในประเทศไทย ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ปัจจุบันรักษาหายแล้ว
เดลต้าพลัส อันตรายกว่าสายพันธุ์เดิมหรือไม่?
ยังไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเสียชีวิตมากกว่าตัวแปรเดลต้า หรือสามารถหลบหลีกการป้องกันของวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าสายพันธุ์เดลต้าพลัสนั้นอาจติดต่อได้ง่ายกว่า และทำให้ไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายกว่าก่อนสายพันธุ์ก่อนหน้า ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเผยว่า เดลตาพลัส ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม 10-15% ซึ่งความเสี่ยงยังคงสูงที่สุดสำหรับผู้ที่มีอายุมากหรือมีภาวะสุขภาพพื้นฐานที่สำคัญ
ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์สองราย Jeffrey Barrett ผู้อำนวยการโครงการ Covid-19 Genomics Initiative ที่ Wellcome Sanger Institute ในเคมบริดจ์ และ Francois Balloux ผู้อำนวยการ University College London Genetics Institute กล่าวว่า “ดูเหมือนว่าจะแพร่เชื้อได้มากกว่า 10 ถึง 15 % เมื่อเทียบกับเชื้อเดลต้าเดิม ซึ่งถ้าหากหลักฐานเบื้องต้น ได้รับการยืนยัน AY.4.2 อาจเป็นสายพันธุ์ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่สามารถติดต่อแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังติดตามสถานการณ์ของ “เดลตาพลัส” อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตำแหน่งที่กลายพันธุ์ มี 2 ตำแหน่ง (Double Mutation) เกิดขึ้นบนยีนควบคุมการสร้างหนามของไวรัส ซึ่งส่วนนี้เอง ทำให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าสายพันธุ์หลัก
อันตรายของโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส
- สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว และง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น
- ต่อต้านการรักษาด้วยแอนตี้บอดี้
- สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี
- แพร่เชื่อได้มากกว่าสายพันธุ์เดลต้าเดิม ถึง 15%
นักวิทยาศาสตร์และแพทย์กังวลแค่ไหน?
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” กล่าวว่า เดลต้าพลัสเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่สมควรจะต้องระมัดระวัง แต่ยังไม่ต้องตระหนก เพียงแต่ให้ตระหนักว่าไวรัสมีความสามารถในการปรับตัว
ด้วยสายพันธุ์ เดลต้าพลัส ชื่อทางวิทยาศาสตร์ AY.4.2 สืบเชื้อสายมาจากสายพันธุ์เดลต้า (B.1.617.2) ที่ถูกพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2020 เดลต้าเป็นสายพันธุ์โควิดที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก เกิดจากการที่ตัวแปรย่อยมีการกลายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้ไวรัสบุกเข้าไปในเซลล์ของร่างกายได้ง่าย
ขณะที่ในสหราชอาณาจักร ยกให้ เดลต้าพลัส เป็นกรณีของการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่น่ากังวลใจมากนัก โดยสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักรได้ย้ายตัวแปร ‘Delta Plus’ ไปอยู่ในหมวดปรับลำดับให้เป็นสายพันธุ์ที่กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวน (Variant Under Investigation) แต่ยังไม่ถือว่าเป็น “ตัวแปรที่น่าเป็นห่วง” หรือ ขึ้นบัญชีแดง ซึ่งเป็นหมวดที่มีความเสี่ยงสูงสุด นักวิทยาศาสตร์ยังคงตรวจสอบหลักฐานเพื่อดูว่า AY.4.2 มีพฤติกรรมอย่างไร และน่าวิตกหรือไม่ ไวรัสมีวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ซึ่ง AY.4.2 เป็นหนึ่งใน 45 “สายพันธุ์ย่อย” ที่สืบเชื้อสายมาจากตัวแปรเดลต้า
นักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ยังไม่พบสัญญาณอันตรายคล้ายกับครั้งที่ที่เกิดจากตัวแปรอัลฟ่าและเดลต้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการแพร่กระจายของโรคไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในการแพร่เชื้อจะไม่สามารถเปลี่ยนลักษณะของการแพร่ระบาดได้ และคาดว่าไม่น่าจะเกิดการระบาดใหญ่ของ เดลต้าพลัส (AY.4.2) ถึงขั้นมาแทนที่เดลตาสายพันธุ์หลัก (B.1.617.2) เนื่องจากจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของเดลตาทั่วโลกในขณะนี้พบ AY.4.2 เพียง 23,096 ตัวอย่าง หรือเพียง 1.1 % เท่านั้น
ฉีดวัคซีนแล้ว ป้องกันเชื้อเดลต้าพลัสได้หรือไม่
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี วิเคราะห์ “โควิดเดลตาพลัส” ว่า คาดว่าเดลตาพลัสไม่น่ากังวลใจ วัคซีนที่ฉีดในปัจจุบันน่าจะเอาอยู่ เนื่องจากตำแหน่งที่กลายพันธุ์นั้น ยังไม่กระทบกับโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของวัคซีนต่อภูมิคุ้มกันของมนุษย์
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ กล่าวว่า วัคซีนป้องกันที่มีอยู่ยังคงมีประสิทธิภาพในการปกป้องชีวิต ด้วยการลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยที่รุนแรง การวิเคราะห์โดยสาธารณสุขอังกฤษพบว่า วัคซีนไฟเซอร์หรือแอสตร้าเซเนก้าสองโดส มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% ต่อการรักษาในโรงพยาบาลสำหรับ Covid-19 ที่เกิดจากสายพันธุ์เดลต้า อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนจะได้รับปริมาณที่แนะนำเพื่อให้ได้รับการปกป้องสูงสุดจากตัวแปรที่มีอยู่และที่เกิดขึ้นใหม่
ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ออกมาตรการป้องกันเดลต้าพลัสโดยเฉพาะ แต่มาตรการที่แนะนำ เพื่อป้องกัน COVID-19 ที่ยังถือว่ามีประสิทธิภาพ ได้แก่ การล้างมือ สวมหน้ากาก รักษาระยะห่างจากผู้อื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสปาก จมูก หรือตา เมื่ออยู่นอกบ้านหรือแม้แต่ในบ้าน หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดในอาคารที่มีการระบายอากาศไม่ดีโดยเฉพาะบริเวณที่ผู้คนกำลังมีการติดต่อพูดคุย ทางที่ดีควรเข้ารับการทดสอบหาการติดเชื้อหากมีอาการผิดปกติ และควรแยกตัวหากมีอาการป่วย นอกจากนี้สำหรับผู้ปกครองแล้ว การปลูกฝังให้เด็กๆ รู้เท่าทันอันตรายของเชื้อและการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรค เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้เด็กๆ เกิดความฉลาดที่รอบด้านด้วย Power BQ ในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี(HQ) เพื่อให้เด็กๆ รู้จักดูแลและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ และเติบโตได้อย่างสมวัยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : irishtimes.com , matichon.co.th , bbc.com , Center for Medical Genomics
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อ่านเลย! ก่อน พาลูกไปฉีดวัคซีนโควิด พ่อแม่ควรรู้อะไรบ้าง?
คนท้องเป็นไข้ตัวร้อน ใช่อาการโควิดไหม อันตรายหรือไม่?
ทำความรู้จัก!! วัคซีน Pfizer ป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็ก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่