หลังจากทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้มีโอกาสไปอ่านบทความขอจ่า ก็รู้ทันทีเลยว่า เรื่องนี้ไม่สามารถเก็บไว้อ่านคนเดียวได้จริง ๆ จึงได้รีบทำการศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้นำมาเผยแพร่ให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองทุก ๆ ท่านเฝ้าระวังลูกหลานของเราทันที จนพบว่า เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากกรมควบคุมโรคว่า ภายในเดือนเดียวของปี 2561 พบว่า มีสุนัขบ้าแล้วกว่า 135 ตัว
โดย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ยังเป็นที่น่ากังวลอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมาผลการตรวจหัวสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ยังคงมีรายงานอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์รายงานว่าปี 2560 สุนัข แมวทั่วประเทศป่วยเป็นโรคดังกล่าวกว่า 800 ตัว และเริ่มปี 2561 เดือนเดียวพบสุนัขบ้าแล้วกว่า 135 ตัว ทำให้เรายังคงพบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีพบสัตว์ป่วยโรคนี้”
พร้อมกล่าวต่ออีกว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากการไปรับการรักษาเมื่ออาการของโรคเริ่มแสดงแล้ว ทำให้สายเกินกว่าจะยับยั้งเชื้อได้ทัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการชะล่าใจในการป้องกัน และรักษาโรคเบื้องต้น จากการสำรวจความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าของคนไทยพบว่า คนไทยยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องโรคดังกล่าว ร้อยละ 60 คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้า “รักษาหาย” และร้อยละ 59 คิดว่า “ไม่เป็นไร” เมื่อถูกสุนัข หรือแมวข่วนเป็นแผลเล็กน้อย จึงไม่ทำความสะอาดแผลเบื้องต้น หรือไม่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ
พร้อมกันนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าว่า โรคดังกล่าวสามารถป้องกันได้ถ้าประชาชนรู้จักการป้องกันตัวเอง ดังนี้
- อย่า 5 ย. คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าหยิบ อย่ายุ่งกับสุนัขคนอื่น หรือสุนัขที่มีความผิดปกติ
- เมื่อถูกสุนัขหรือแมวข่วนหรือกัด ควรรีบล้างแผนด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลาย ๆ ครั้ง และใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
- รีบพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการวินิจฉัยรับวัคซีนป้องกันโรค หากได้รับวัคซีนแล้วก็ควรที่จะไปตรงตามนัดทุกครั้ง
- เมื่อถูกกัด ควรกักสุนัขหรือแมวตัวที่ข่วนไว้ เพื่อเฝ้าสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 10 วัน หากพบว่าสัตว์ที่กัดเราตาย ให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่โดยทันที
- เจ้าของสุนัขและแมว ควรนำสัตว์เลี้ยงของท่านเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปี
“โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พบมากในสุนัขและแมว โดยติดเชื้อจากการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น ถูกกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล คนสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้จากการถูกกัด ข่วนจากสุนัขหรือแมว เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ระยะการแสดงอาการของโรคนั้นไม่แน่นอน บางรายอาจนานเป็นปี เมื่อผู้ป่วยมีอาการแล้ว จะรักษาไม่หายและเสียชีวิตทุกราย”นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว
ทำความรู้จักกับโรคดังกล่าวเพิ่มเติม คลิก!
ขอบคุณที่มา: New18