เป็นเรื่องล่าสุดที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ใช้สิทธิ์เบิกค่าทำฟันกับประกันสังคมควรทราบ เนื่องจากในอดีตที่การเบิกค่าทำฟัน 600 บาทต่อปี แต่เป็นการเบิกได้แค่ครั้งละ 300 บาท 2 ครั้ง ล่าสุด พ.ต.ต.หญิงรมยง สุรกิจบรรหาร รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เห็นชอบตามที่คณะกรรมการการแพทย์ของ สปส. ที่เสนอว่าให้เบิกได้ 600 บาทในครั้งเดียวต่อปีก็ได้ หรือจะแยกเบิกเป็น 2 ครั้ง แต่ต้องไม่เกิน 300 บาทต่อปี
การปรับเปลี่ยนครั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกันตนเบิกจ่ายได้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะากแต่ก่อนมีผู้ร้องเรียนว่าไม่คุ้มกับเวลาและค่าเดินทาง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคมนี้
มาดูสิทธิ์การเบิกค่าประกันสังคมจากเว็บไซต์ www.sso.go.th
กรณีทันตกรรม (ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ผ่าตัดฟันคุด และใส่ฟันเทียม)
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
- การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 600 บาทต่อปี
- กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอด ได้บางส่วนให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียม เท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) 1-5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
(ข) มากกว่า 5 ซึ่ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท
- กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอด ได้ทั้งปาก ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่าย จริง ตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท
(ข) ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท
หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์กรณีทันตกรรม
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16)
2. ใบรับรองแพทย์
3. ใบเสร็จรับเงิน
4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
5. เวชระเบียนของแพทย์ผู้รักษา(กรณีบิกฟันปลอมฐานอคริลิก)
6. กรณีขอรับเงินทางธนาคาร ให้แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี 11 ธนาคาร ดังนี้
1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
3) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
4) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
5) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
6) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
7) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
8) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
9) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
10) ธนาคารออมสิน (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)
11) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)
สถานที่ยื่นเรื่อง
ยื่นได้ที่สำนักงานประกัน สังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
ข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2558
ที่มา : www.sso.go.th