โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งยกเลิกการ ลงโทษเด็กนักเรียนด้วยการเฆี่ยนตีมาถึง 10 ปี แล้ว ด้วยการออกระเบียบของกระทรวง ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน พ.ศ. 2548 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงวางระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียน หรือนักศึกษา พ.ศ. 2543
ข้อ 4 ในระเบียบนี้ “ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา” หมายความว่า ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ อธิการบดี หรือหัวหน้าของโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือตำแหน่งที่เรียก ชื่ออย่างอื่นของโรงเรียนหรือสถานศึกษานั้น
“กระทำความผิด” หมายความว่า การที่นักเรียนหรือนักศึกษาประพฤติฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับของสถานศึกษา หรือของกระทรวงศึกษาธิการ หรือกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา
“การลงโทษ” หมายความว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน
ข้อ 5 โทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด มี 4 สถานดังนี้
5.1 ว่ากล่าวตักเตือน
5.2 ทำทัณฑ์บน
5.3 ตัดคะแนนความประพฤติ
5.4 กิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ข้อ 6 ห้ามลงโทษนักเรียน และนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียน หรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย
การลงโทษนักเรียน หรือนักศึกษาให้เป็นไป เพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียน หรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับประพฤติตนใน ทางที่ดีต่อไป
ให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือผู้ที่ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษามอบหมายเป็นผู้มีอำนาจในการลงโทษนักเรียน นักศึกษา
ข้อ 7 การว่ากล่าวตักเตือนใช้ในกรณีนักเรียน หรือนักศึกษากระทำความผิด ไม่ร้ายแรง
ข้อ 8 การทำทัณฑ์บนใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม กับสภาพนักเรียนหรือนักศึกษา ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียน และนักศึกษา หรือได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือนแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ
การทำทัณฑ์บนให้ทำเป็นหนังสือ และเชิญบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บนไว้ด้วย
ข้อ 9 การตัดคะแนนความประพฤติ ให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการ ตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาของแต่ละสถานศึกษากำหนด และให้ทำบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ 10 ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ในกรณีที่นักเรียน และนักศึกษากระทำความผิดที่สมควร ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
ข้อ 11 ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และ ให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้
ดังนั้น การลงโทษของครู ต้องเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน จะลงโทษนอกเหนือจากระเบียบที่กำหนดไว้ไม่ได้ ถือว่าไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะทำได้
สุดท้าย สุภาษิตที่ว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี จึงใช้ไม่ได้สำหรับ ครู อาจารย์ กับนักเรียนในปัจจุบัน เด็กๆ มีสิทธิ์ที่จะเรียนหนังสือโดยปราศจากความหวาดกลัว แต่โจทย์ใหญ่ที่ครูจะต้องรับมือคือ การตักเตือนหรือหักคะแนน อาจไม่ได้ผลกับเด็กบางกลุ่ม จึงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และวิธีการไม่ใช้ความรุนแรง ลงโทษให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเหมาะสม
อ่านต่อ “บทความอื่นน่าสนใจ” คลิก!
- รู้ไหมว่า การดุด่า ห้าม หรือลงโทษเด็กเพื่ออบรมสั่งสอนก็ส่งผลเสียให้เด็กได้
- ลงโทษ Time out!! วิธีการนี้ดีหรือไม่? ลูกจะรู้สึกอย่างไร
- 4 วิธีปราบลูกดื้อ วางอำนาจ เอาแต่ใจ จากนักจิตวิทยาต่างประเทศชื่อดัง (มีคลิปเหตุการณ์จริง)
ขอบคุณข้อมุลจาก : www.school.stjohn.ac.th