หลักสำคัญใน การเป็นพ่อที่ดี
อย่างไรก็ดี แท้จริงแล้ว การสร้างครอบครัว และการเลี้ยงลูกให้ดีได้นั้น ทั้งพ่อและแม่ไม่สามารถโยนหน้าที่ความรับผิดชอบนี้ให้พ้นตัวไปได้ หรือการจะแบ่งหน้าที่แยกกันให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปเลยว่า สามีทำงานนอกบ้านแล้ว งานในบ้านและการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของภรรยา ก็เป็นความคิดที่ล้าหลังมากเกินไปสำหรับสมัยนี้ …ดังนั้น สำหรับคนที่ยังไม่ทราบจะปรับตัว-เตรียมตัวอย่างไร เราจึงมีคำแนะนำเบื้องต้นในการเป็น “พ่อที่ดี” มาฝากกันค่ะ เริ่มจาก
1. แสดงความรักต่อลูกและภรรยา
เมื่อคลอดลูก นอกจากเจ้าตัวเล็กที่ยังไม่ประสีประสาแล้ว ภรรยาของคุณก็ต้องการการดูแลอย่างมากด้วยเช่นกัน แม้ภรรยาบางคนจะบอกตัวเองว่าเป็นหญิงแกร่ง อึด ฉันทำได้ ฉันสู้ไหว แต่อย่าลืมว่า…งานเลี้ยงลูกเป็นงานที่เหนื่อย หากพวกเธอได้กำลังใจดีๆ จากสามีอย่างคุณผู้ชายทั้งหลายด้วยแล้ว เธอจะยิ่งมีแรงสำหรับการเลี้ยงลูกมากขึ้น
อย่างไรก็ดี คุณพ่อหลายคนมักเอางานมาอ้าง ว่าประชุมเหนื่อยมาก ต้องรับมือกับลูกค้าทั้งวัน กลับถึงบ้านอยากจะนอนอย่างเดียว ไม่อยากเล่นกับลูก ไม่อยากอุ้ม ฯลฯ แต่ก็อย่าลืมว่า ลูกค้าเหล่านั้น พอเขาได้สิ่งที่เขาต้องการ เขาก็ไป คุณพ่อก็หมดความหมายสำหรับลูกค้าแล้ว แต่กับภรรยาและลูกที่บ้านเขามีแต่คุณพ่อ รอแต่คุณพ่อคนเดียว หากคุณพ่อไม่กลับบ้าน หรือกลับดึก หรือในอนาคตแก่เฒ่าลง คนที่ห่วงและอยู่คอยดูแลคุณพ่อก็คือครอบครัวนั่นเอง ไม่ใช่ลูกค้าหรอกค่ะ
2. หาคำพูดดีๆ มาพูดกับภรรยา
ไม่มีใครชอบการโดนตำหนิ แม้แต่ตัวคุณพ่อเอง ดังนั้น เมื่อใจของเรายังไม่ชอบ ก็อย่าหยิบยกคำพูดประเภท “เป็นแม่ภาษาอะไร เรื่องแค่นี้ก็ไม่รู้, เธอนี่ใช้ไม่ได้เลย, ไม่ไหวจริงๆ, แย่, น่าเบื่อ, น่ารำคาญ” ฯลฯ มาต่อว่าภรรยาที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกกันเลยค่ะ เพราะมีแต่จะทำร้ายจิตใจของคนฟังกันเสียเปล่าๆ อีกทั้งการหาคำพูดดีๆ เรื่องขำๆ เรื่องของความสุขมาคุยกับภรรยาไม่ใช่เรื่องยากเลย
โดยเฉพาะหากคุณพ่ออยู่ที่ทำงานก็น่าจะได้พบเจอเรื่องราวมากมาย คงมีอะไรดีๆ เก็บมาเล่าเป็นแน่ หรือระหว่างวันหากมีใจโทรศัพท์มาไต่ถามทุกข์สุขบ้างน่าจะดีกว่าเป็นไหนๆ ยิ่งโทรศัพท์สมัยนี้ไฮเทค คุยแบบเห็นหน้ากันก็ได้ หรือหากนึกคำพูดไม่ออกจริงๆ ก็บอกไปเลยว่ารัก คิดถึง และเป็นห่วง สามคำนี้มีความหมายอย่างมากกับภรรยาที่อยู่บ้านเลี้ยงเจ้าตัวเล็กค่ะ ส่วนคำพูดที่ทีมงานหยิบขึ้นมาเอ่ยด้านบน อย่าเอ่ยได้เป็นดีค่ะ เพราะสามารถทำให้ภรรยาที่เลี้ยงลูกอยู่คิดมาก วิตกกังวล เครียด ครบสูตรอาการซึมเศร้าหลังคลอดเลยทีเดียว
3. ไม่ยึดติดในกิจวัตรเดิมของตน
การมีสมาชิกใหม่ในบ้าน ย่อมต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายหลายประการ ดังนั้น คุณพ่อไม่ควรยึดติดอยู่กับกิจวัตรประจำวันเดิมของตน เช่น เคยตื่นแปดโมงเช้า ก็ยังอยากตื่นแปดโมงเช้า ใครมาทำให้ตื่นก่อนจะโมโห กระฟัดกระเฟียด ฮึดฮัด (ส่วนมากเด็กๆ มักจะร้องตอนเช้าตรู่เพราะหิวนม ต้องลุกมาอุ้มกันให้อลหม่าน) หรือเคยมีภรรยาหาข้าวหาปลาให้รับประทาน ตอนนี้ภรรยาต้องไปดูลูกก่อนเป็นอันดับแรก คุณพ่อจะมาน้อยอกน้อยใจ ประชดภรรยาก็ไม่ควร เพราะเป็นเรื่องของความจำเป็น และต้องเห็นอกเห็นใจกันให้มากๆ ในช่วงแรกของการเลี้ยงลูก อย่าปล่อยให้ภรรยาเหนื่อยอยู่คนเดียว หรือรู้สึกว่าคุณพ่อกลายเป็นภาระที่เธอต้องแบกเอาไว้ด้วยอีกคนนอกจากลูกอ่อน
ทางที่ดี หากคุณพ่อมีโอกาสเตรียมตัวเตรียมใจตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ควรคิดถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดเหล่านี้เอาไว้ด้วย ว่าถ้าลูกคลอดแล้ว กิจวัตรใดบ้างที่ต้องเปลี่ยนไป คุณจะทำอะไรเพื่อแบ่งเบาภาระของภรรยาได้บ้าง และจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้ภรรยาของคุณไม่เหนื่อยในการเลี้ยงลูกจนเกินไป
4. คอยให้ความช่วยเหลือภรรยา
อย่าลืมว่าหลังคลอด ภรรยายังต้องกลับไปพบแพทย์อีกเป็นระยะ เพื่อตรวจบาดแผล และความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย ในกรณีนี้ หากคุณพ่อเป็นผู้พาภรรยาไปพบแพทย์ได้ควรเป็นฝ่ายพาไป อย่าละเลย หรือมองว่าภรรยาสามารถไปเองได้ ฉันนอนอยู่บ้านดีกว่า เพราะการไปพบแพทย์ มีหลายครั้งที่แพทย์จะแจ้งข้อมูลสำคัญ หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพ การที่คุณพ่อซึ่งเป็นสามี และเป็นคนที่แต่งงานกับคุณแม่โดยตั้งใจว่าจะดูแลกันและกันไปตราบนานเท่านาน (น่าจะเป็นเช่นนั้นทุกคู่ใช่ไหมคะ) ไปรับฟังความเป็นไปของภรรยาก็น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว
5. ช่วยดูแลความเป็นไปต่างๆ ในบ้าน
บางครอบครัว ภรรยาเป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่การจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเก็บขยะ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าหนังสือพิมพ์ เปลี่ยนหลอดไฟ สั่งแก๊ส จ่ายบัตรเครดิต ฯลฯ เรียกว่าหน้าที่จิปาถะในบ้านเธอรับผิดชอบหมด แต่ในช่วงหลังคลอด-เลี้ยงลูก คุณแม่ต้องการการพักผ่อน และอาจไม่ได้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่เหล่านั้นได้สะดวกเหมือนเคย คุณพ่อควรรับหน้าที่นี้แทน ซึ่งเราเชื่อว่า หากทำได้ดี ก็จะช่วยให้คุณแม่พักผ่อน-เลี้ยงลูกได้อย่างสบายใจอีกด้วย
และสุดท้าย การเป็นพ่อที่ดี หรือหัวหน้าครอบครัวที่ดี ต้องรับมือกับคำวิจารณ์จากคนรอบข้างให้ได้ ซึ่งเชื่อแน่ว่าต้องมีกับการวิพากษ์วิจารณ์ที่ทำให้ภรรยาไม่สบายใจ เป็นทุกข์ ซึ่งบางทีคนที่พูดก็เป็นคนใกล้ตัว ญาติพี่น้อง พ่อแม่ทั้งฝ่ายสามีหรือฝ่ายภรรยานี่เอง หากเป็นการวิจารณ์จากฝ่ายญาติสามี คุณพ่อควรเป็นคนออกหน้ารับแทน หรือแก้ตัวให้ภรรยาจะดีกว่าปล่อยให้ภรรยาต้องทนฟังสิ่งที่ทำให้เธอไม่สบายใจ โดยเฉพาะการพูดในลักษณะเปรียบเทียบ เช่น การเป็นแม่ในยุคนี้สบาย มีคนทำให้ทุกอย่าง การเป็นแม่ในยุคก่อนลำบาก ต้องทำทุกอย่างเอง และมักจะมาจบลงที่ความต้องการให้แม่ยุคนี้ทำให้ได้เหมือนที่แม่ในยุคก่อนเคยทำ
คำวิจารณ์บางส่วนอาจออกแนวต้องการเอาชนะคะคาน หรือต้องการให้ทำตามด้วยซ้ำ หากไม่ทำตามก็จะนำไปสู่ความไม่พอใจ และอื่นๆ อีกหลายอย่างตามมา ทั้งๆ ที่ผู้วิจารณ์นั้นก็เป็นญาติสนิทมิตรสหายกันทั้งสิ้น ดังนั้น การจะปลดชนวนความเครียดเหล่านี้ได้ คุณพ่อควรโดดเข้ามารับมือเสียแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรให้ภรรยาที่เหนื่อยจากการคลอดและการเลี้ยงลูกมารับฟังเรื่องราวที่ทำให้ไม่สบายใจเหล่านี้ค่ะ
อย่างไรก็ดีจากคำแนะนำเบื้องต้นของ การเป็นพ่อที่ดี …เชื่อว่าในแต่ละครอบครัวยังอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก หรือบางครอบครัว ทำได้แค่ครึ่งหนึ่งของที่กล่าวมา ก็ทำให้ภรรยาชื่นใจได้แล้วล่ะค่ะ
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ข้อคิดดีๆ ในการเลี้ยงลูกของพ่อกอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ กับ น้องชูใจ
- เมียผมไม่ได้ไม่มีรายได้ ข้อคิดจาก กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่
- 6 วิธีเข้าใจและสอนลูก เมื่อลูกพูดโกหก!
- นี่คือ หน้าที่สามีที่ดี 5 ประการ และ ลักษณะ สามี 7 ประเภท ที่พระพุทธองค์ทรงจำแนกไว้
ขอบคุณข้อมูลจาก : www2.manager.co.th