(ขอบคุณภาพจาก : gggubgib36)
ทั้งนี้เรื่องการอุ้มลูกเข้าเอว ซึ่งรวมไปถึงความเชื่อต่างๆเกี่ยวการที่ลูกขาโก่ง แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้
เรื่องของขาโก่ง ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ที่พบลักษณะขาโก่ง (bowleg) ส่วนใหญ่เป็นภาวะปกติ ไม่ต้องการการรักษา มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ผิดปกติเนื่องจากเป็นโรคกระดูก เช่น ขาดวิตามินซี วิตามินดี หรือเป็นโรคพันธุกรรมที่พบได้ยาก ซึ่งหากเป็นความผิดปกติจริง เด็กต้องมีอาการผิดปกติของแขนหรือกระดูกส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย
หรือเป็นการโก่งที่มีการบิดของปลายเท้าชี้เข้าด้านใน (In Toeing) หรือพบขาโก่งร่วมกับตัวเตี้ยผิดปกติ ความผิดปกติเหล่านี้ต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัดแก้ไขรูปทรง หรือการตัดรองเท้าพิเศษโดยศัลยแพทย์โรคกระดูกเฉพาะทางสำหรับเด็ก
ทำไมทารกจึง “ขาโก่ง”?
ภาวะโก่งแบบปกติที่พบในเด็กแรกเกิดทุกคนเกิดจากการที่เขาอยู่ในท้องแม่ซึ่งเป็นที่แคบๆ จึงต้องงอแขนงอขาให้มากที่สุด ทำให้กล้ามเนื้อบางมัด เส้นเอ็นบางเส้น ตึงมากกว่าอีกด้านหนึ่ง ลักษณะของกระดูกจึงไม่ตรง แต่เมื่อคลอดออกมาแล้ว แขนขาจะเหยียดออกมากขึ้น กระดูกจะดูตรงมากขึ้นเองเมื่ออายุ 2 ขวบ หากบางคนยังอาจดูโค้งเหมือนโก่งนิดๆ จนโต อาจพบได้ในครอบครัวเดียวกัน เป็นลักษณะกรรมพันธุ์ ไม่ต้องรักษา เนื่องจากไม่ส่งผลทำให้การเดิน การวิ่งผิดปกติ
วิธีตรวจดูว่าขาโก่งมากผิดปกติหรือไม่
ทำโดยจับขาให้เหยียดตรง โดยให้ตาตุ่มด้านในอยู่ชิดกันมากที่สุด แล้วสังเกตว่าด้านในของข้อเข่าอยู่ห่างกันกี่เซนติเมตร ปกติจะไม่เกิน 5 เซนติเมตร หากไม่แน่ใจควรปรึกษากุมารแพทย์หรือศัลยแพทย์โรคกระดูกเฉพาะทางสำหรับเด็ก
และหากลูกเข้าวัย 2-3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจสังเกตเห็นว่าขาของลูกมีลักษณะผิดปกติ เมื่อลูกยืนกางขา แยกเท้าห่าง หัวเข่ากลับโค้งเข้าหากัน ถ้าเป็นแบบนี้อย่าเพิ่งตกใจ อาการนี้เรียกว่า Knock Knee เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ในเด็กวัย 2 – 4 ขวบ และจะหายไปเองเมื่อเข้าวัย 5 – 6 ขวบ
ถึงแม้ว่าสาเหตุจะยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่การศึกษาพบว่า เด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ในช่วงแรกเกิดมีแนวโน้มที่จะมีอาการขาโก่งเข้า ทั้งนี้เนื่องจากกระดูกและข้อต่อของเขาไม่สามารถรับน้ำหนักของร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่อาการขาโก่งเข้าไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ยกเว้นแต่อาจทำให้ลูกวิ่งไม่สะดวกเท่าปกติ
ในกรณีที่มีการติดเชื้อโรคกระดูกอ่อน หรือบาดเจ็บบริเวณกระดูกหน้าแข้ง อาจทำให้เกิดอาการขาโก่งเข้าแบบถาวรได้ ดังนั้น หากลูกอายุ 6 ขวบแล้ว อาการขาโก่งยังไม่หายไป ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป
อ่านต่อ >> ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาวะ “ขาโก่ง” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่