จากผลการวิจัยพบว่า ในอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนร่วมกับรับประทานนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ จะมีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ต่อเชื้อ H1N1 และ H3N2 สูงกว่ากลุ่มที่รับนมที่ไม่มีโพรไบโอติกส์
โดยสรุปแล้วก็คือในผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หรือไม่เคยรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แล้วหันมารับประทานนมเปรี้ยวที่ไม่มีโพรไบโอติกส์ ควบคู่ไปกับการรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด H1N1 นั้นพบว่า มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ถึงร้อยละ 60 แต่กลุ่มที่รับประทานนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์นั้นมีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันสูงกว่าร้อยละ 80
ส่วนกลุ่มที่รับวัคซีนที่ต่อต้านเชื้อ H3N2 ที่รับนมเปรี้ยวแบบไม่มีโพรไบโอติกส์มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่หากรับนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์จะมีอัตราการตอบสนองหรือการสร้างภูมิคุ้มกันสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่น่าสนใจว่า สำหรับกลุ่มที่ก่อนฉีดวัคซีนไม่มีภูมิคุ้มกัน และเมื่อรับนมเปรี้ยวและฉีดวัคซีน จะมีภูมิเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จะได้ผลดีกับคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน
ผศ.ดร.ทพญ.ดุลยพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการวิจัยพบว่าอาสาจะได้รับรับประทานนมเปรี้ยวเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนรับวัคซีน และรับประทานต่ออีก 4 สัปดาห์หลังรับวัคซีน ระหว่างนี้อาสาสมัครทุกคนต้องงดรับประทานอาหารอื่นที่มีโพรไบโอติกส์ ทั้งนี้มีการเจาะเลือดเพื่อวัดภูมิคุ้มกันตั้งแต่ก่อนรับนมเปรี้ยว หลังรับนมเปรี้ยว 2 สัปดาห์ (ก่อนรับวัคซีน) หลังรับวัคซีน 4 สัปดาห์ และหลังหยุดรับนมเปรี้ยว 2 สัปดาห์ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้ยังพบว่ามีรายงานการวิจัยในต่างประเทศซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติพบว่า โพรไบโอติกส์จุลินทรีย์ชนิดอื่น ก็สามารถช่วยลดไข้ บรรเทาอาการคัดจมูก และลดจำนวนวันที่ป่วยด้วยไข้หวัดในเด็กและผู้ใหญ่สุขภาพดีได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรระวัง คือ โพรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์มีชีวิตจึงอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยหนักเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือคนที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน เช่น เบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ได้ หรือป่วยเป็นโรคเอดส์ระยะที่แสดงอาการ และแน่นอนว่าไม่ควรใช้เลี้ยงทารกโดยเด็ดขาดนะคะ