พยาธิตัวตืด – แม้ว่าพืชผักผลไม้จะเป็นแหล่งของสารอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ แต่หากก่อนรับประทานเราล้างไม่สะอาดทำความสะอาดไม่ดี ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อปรสิตหรือมีพยาธิได้ โดยเฉพาะพยาธิตืดหมู ที่มนุษย์สามารถรับไข่พยาธิตัวตืดได้โดยตรงจากผักสด หรือน้ำสกปรก ที่มีไข่พยาธิตัวตืดปนเปื้อนอยู่ ซึ่งไข่พยาธินี้จะพัฒนากลายเป็นตัวอ่อนซีสต์หรือที่เรียกว่าตัวอ่อนเม็ดสาคู ไปอยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ ในร่างกายที่ค่อนข้างอันตราย ได้แก่ ตา ปอด หัวใจ กล้ามเนื้อ และที่อันตรายที่สุด คือ สมองค่ะ
ระวัง! พยาธิตัวตืด ขึ้นสมองเพราะกิน ผักดิบ ผักสด ปนเปื้อนไข่พยาธิ
โรคจากไข่ของ พยาธิตัวตืด ( Cysticercosis, Neurocysticercosis)
เป็นโรคติดเชื้อปรสิตหรือพยาธิชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อปรสิตในระบบประสาทส่วนกลางที่พบมากที่สุดทั่วโลก ผู้ป่วยเป็นโรคนี้ได้จากการกินไข่ของพยาธิตืดหมู Taenia solium หรือ ไข่ของพยาธิตืดวัว Taenia saginata ที่อาจปนเปื้อนกับน้ำหรืออาหารเข้าไป โดยทั่วไปสามารถแบ่งการติดเชื้อได้เป็นสองแบบ ได้แก่
- ติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง (Neurocysticercosis)
- การติดเชื้อนอกระบบประสาท (Extraneural Cysticercosis)
การติดเชื้อปรสิตหรือพยาธิ สามารถบุกรุกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายได้ ปรสิตที่ติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงสมอง อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้ไม่เพียงแต่อาจถึงแก่ชีวิตในบางครั้งเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ทุพพลภาพตลอดชีวิตอีกด้วย การรู้เท่าทันอาการผิดปกติ และการรักษาอย่างทันท่วงทีมีความสำคัญในการลดทั้งอัตราการเสียชีวิตและผลที่ตามมาของการติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลางอาจเกิดขึ้นกับทุกคนแม้ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยการติดเชื้ออาจใช้เวลาระหว่าง 8 ถึง 14 สัปดาห์ในการพัฒนาโรค
สาเหตุของการติดเชื้อ
ปรสิตสามารถพบได้ในอาหาร ทั้งผักดิบ ผักสด และเนื้อสัตว์ และ น้ำที่ปนเปื้อน หากเรากินอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนพยาธิ พวกมันจะเข้าสู่ร่างกายและสามารถมีชีวิตบางครั้งก็เติบโตและสืบพันธุ์ภายในร่างกายมนุษย์ได้เป็นเวลานาน การศึกษาทางระบาดวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่าในพื้นที่ของโลกที่โรคหนอนพยาธิมีเฉพาะถิ่น และมีการใช้น้ำเสียดิบที่ไม่ผ่านการบำบัดเพื่อรดน้ำผักโดยทั่วไป ซึ่งการบริโภคผักที่มีการชลประทานของเสียดังกล่าวอาจนำไปสู่การเกิดโรคจากปรสิตหรือพยาธิ การปฏิบัติที่ไม่ถูกสุขลักษณะระหว่างการขนส่ง การแปรรูปและการเตรียมโดยผู้ดูแลรวมทั้งผู้บริโภคก็มีส่วนทำให้เกิดการปนเปื้อนในผักได้ อีกสาเหตุหนึ่งของการติดเชื้อคือการล้างมืออย่างไม่เหมาะสมหลังจากสัมผัสกับพยาธิตัวตืดหรือไข่พยาธิตัวตืด
นอกจากนี้ การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกหรือสุกๆ ดิบๆ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดที่ทำให้ผู้คนติดเชื้อพยาธิตัวตืด หากสัตว์นั้นมีพยาธิตัวตืด ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ก็อาจติดเชื้อได้เช่นกัน วงจรชีวิตของพยาธิตัวตืดเริ่มต้นด้วยไข่ ไข่พยาธิตัวตืดสามารถอาศัยอยู่ภายนอกในสิ่งแวดล้อม (เช่น ในน้ำหรือบนพืช) เป็นเวลาหลายวันหรือหลายเดือน สัตว์อาจติดเชื้อหลังจากกินพืช หรือให้อาหารหรือดื่มน้ำที่มีไข่พยาธิตัวตืด เมื่อเข้าไปในตัวสัตว์ ไข่จะฟักตัวและโตเป็นพยาธิตัวตืด เคลื่อนที่ได้และสามารถอพยพออกจากลำไส้และเข้าสู่เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อของสัตว์ได้
อาการของโรคติดเชื้อพยาธิตัวตืด
ผู้ป่วยมักมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งโดยทั่วไปอาจไม่แสดงอาการ เมื่อไข่เข้าสู่ร่างกาย และพัฒนากลายเป็นตัวอ่อนเม็ดสาคู จะสามารถตรวจพบได้จากการค้นพบทางรังสีโดยบังเอิญเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากตัวอ่อนเม็ดสาคูไปอยู่ในสมองและไขสันหลัง อาจสัมพันธ์กับผลกระทบบางอย่าง เช่น ความผิดปกติของประสาทสัมผัสหรือความบกพร่องทางสติปัญญา อาการชัก ภาวะน้ำคั่งในไขสันหลังโพรงสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบเรื้อรัง นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดความทุพพลภาพร้ายแรง หรือเสียชีวิตได้แม้พบได้ไม่มาก
ในกรณีส่วนใหญ่ การติดเชื้อพยาธิตัวตืดทำให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ผู้ป่วยจำนวนมากอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีพยาธิตัวตืดอยู่ในร่างกาย
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการและอาการแสดง จะสังเกตุได้จากความผิดปกติต่อไปนี้
- มีอาการปวดท้อง
- ท้องเสีย
- ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
การติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่การขาดวิตามินบี 12 ซึ่งในทางกลับกันอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายของคุณขาดเซลล์เม็ดเลือดแดงที่แข็งแรงเพียงพอที่จะนำออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อในร่างกายได้เพียงพอ
สัญญาณและอาการของโรคโลหิตจางอาจรวมถึง
- ภาวะซึมเศร้า
- เวียนหัวบ่อย
- อ่อนเพลีย
- ปวดหัวบ่อย
- รู้สึกไม่ค่อยมีแรง
- หัวใจเต้นเร็ว
- มีเสียงในหู
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการระคายเคืองบริเวณรอบทวารหนัก (Perianal Area) เนื่องจากหนอนหรือไข่ที่ถูกขับออกจากอุจจาระทำให้เกิดอาการระคายเคือง ซึ่งจะรู้ได้ว่าเรามีมีพยาธิตัวตืดเมื่อเห็นส่วนของตัวพยาธิหรือไข่ในอุจจาระ
โรคพยาธิตัวตืด มีแนวโน้มที่จะพัฒนาในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อได้ อาทิผู้ที่กำลังป่วยหรือรักษาตัวต่อไปนี้
- ติดเชื้อเอชไอวี
- โรคเอดส์
- ผู้ที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะ
- โรคเบาหวาน
- ผู้ที่ต้องให้เคมีบำบัด
อ่านต่อ…ระวัง! พยาธิตัวตืด ขึ้นสมองเพราะกิน ผักดิบ ผักสด ปนเปื้อนไข่พยาธิ คลิกที่หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่